รัฐบาลโครเอเชียเร่งหาทางแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง ด้วยการควบคุมราคาสินค้า สนองตอบต่อ การเคลื่อนไหวของประชาชน

📰 ข่าวเด่นประจำเดือนมีนาคม 2568 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

 

ค่าครองชีพที่ทะลุเพดานจากอัตราเงินเฟ้อสูง ประกอบกับเศรษฐกิจซบเซาในทวีปยุโรป หลายประเทศได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จากที่ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ ได้เคยนำเสนอการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟซบุ๊ก “Halo, Inspektore” ในโครเอเชีย ที่ร่วมกันคว่ำบาตรร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมัน เป็นเวลา 1 วัน ในวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2568 ด้วยการคว่ำบาตรไม่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีก หรือห้างสรรพสินค้า

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามหาทางแก้ไข แต่การประท้วงก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกสัปดาห์ จนถึงเมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 นับเป็นการคว่ำบาตรครั้งสุดท้าย ตัวแทนกลุ่ม “Halo, Inspektore” ได้ประกาศยุติการประท้วง อ้างว่าการประท้วงในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้ชาวโครเอเชียเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางบริโภค เช่น ซื้อสินค้าปริมาณน้อยลงและไม่บ่อยเหมือนเดิม เป็นต้น ทำให้ร้านค้าปลีกต่างๆ ต้องหาทางรอดจากสถานการณ์นี้ อาทิ การยอมปรับลดราคาสินค้าจำเป็นลง เป็นต้น

 

จากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลของโครเอเชีย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ นาย Ante Šušnjar แถลงว่า รัฐบาลโครเอเชียจะควบคุมราคาจำหน่ายสินค้าอาหารในร้านค้าปลีก จำนวนทั้งสิ้น 70 รายการ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง โดยรัฐบาลได้คัดเลือกสินค้าตามลักษณะการบริโภคของผู้บริโภคส่วนใหญ่ และได้ผ่านการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจค้าปลีกแล้ว เพื่อช่วยเหลือลดค่าครองชีพของประชาชน

 

ตัวอย่างสินค้าที่รัฐบาลโครเอเชียกำหนดให้ควบคุมราคา

 

สินค้า ปริมาณที่จำหน่าย ราคา (สกุล: ยูโร)
กะหล่ำปลี ต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 0.79
กาแฟคั่วบด 400–500 กรัม ไม่เกิน 6.79
ขนมปังกรอบเปล่า ไม่มีไส้ 400 กรัม ไม่เกิน 1.75
ขนมปังกะโหลก ทำจากแป้งสาลี ไม่บรรจุห่อ ต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 1.50
ขนมปังนุ่มก้อนกลม (Kaiser Roll) ต่อชิ้น ไม่เกิน 0.13
ข้าวโอ๊ต 500 กรัม ไม่เกิน 0.99
ไขมันหมู ต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 2.20
ครีมเปรี้ยว (Sour Cream) ปริมาณไขมัน 12% บรรจุในถ้วย 180–200 กรัม ไม่เกิน 0.94
คอร์นเฟลกส์ (อาหารเช้าซีเรียลแผ่นข้าวโพดอบ) 500 กรัม ไม่เกิน 2.19
ชนิดก้อน 80–100 กรัม ไม่เกิน 0.80
ชีสสด (Cottage Cheese) ปริมาณไขมันปานกลาง 500 กรัม ไม่เกิน 2.49
ถั่วแขกแช่แข็ง 400 กรัม ไม่เกิน 1.60
ถั่วลันเตาแช่แข็ง 400–600 กรัม ไม่เกิน 1.50
น้ำยาล้างจาน 400–500 มล. ไม่เกิน 1.15
น้ำส้มไม่อัดแก๊ส 1 ลิตร ไม่เกิน 1.29
น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล (Apple Cider Vinegar) 1 ลิตร ไม่เกิน 1.19
เนย 250 กรัม ไม่เกิน 2.99
เนื้อปลาเฮกแช่แข็ง ไม่มีหัว 400 กรัม ไม่เกิน 3.90
เนื้อปลาเฮดกแช่แข็ง 400–500 กรัม ไม่เกิน 4.80
เบคอนรมควัน (Pancetta) ต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 11.90
แบบสำเร็จรูป 400–500 กรัม ไม่เกิน 0.95
ปลากระป๋องในน้ำมันพืช 90–125 กรัม ไม่เกิน 2.94
ปาเต้ (เนื้อบดผสมไขมัน)บรรจุแพ็คขนาดเล็ก สำหรับทาขนมปังและแครกเกอร์ 95–100 กรัม ไม่เกิน 0.95
แป้งข้าวสาลีประเภท Semolina 1 กิโลกรัม ไม่เกิน 1.10
ผงซักฟอกสำหรับใช้กับเครื่องซักผ้า 3–4 กิโลกรัม ไม่เกิน 14.99
ผักเคล ต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 1.67
แยมผลไม้ 660–690 กรัม ไม่เกิน 2.90
ลูกพรุนแห้งไม่มีเมล็ด 500 กรัม ไม่เกิน 3.19
ลูกวอลนัท 500 กรัม ไม่เกิน 6.50
ส้ม ต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 1.49
เส้นพาสต้าประเภทเพนเน่และฟูซิลี 400–500 กรัม ไม่เกิน 1.19
ไส้กรอกสด (Kranjska) ต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 6.40
ไส้กรอกแห้ง (Tirolska) ต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 6.05
หอมหัวใหญ่ ต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 0.84
หัวบีทรูทหั่น บรรจุขวดแก้ว 650–700 กรัม ไม่เกิน 1.55
แฮมบรรจุในปลอกพลาสติก ต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 8.79

 

ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดให้ร้านค้าปลีกรับประกันว่าต้องมีสินค้าอย่างน้อยหนึ่งรายการ จากแต่ละหมวดหมู่ จำหน่ายในร้านค้า และต้องติดป้ายกำกับราคาให้ชัดเจนด้วย

 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 รัฐสภาโครเอเชียได้ผ่านกฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมราคาสินค้า (Law on Exceptional Price Control Measures) เพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

    • ผู้ค้าปลีกต้องแสดงราคาสินค้าอย่างชัดเจน ทั้งที่จำหน่ายในร้านค้า และบนเว็บไซต์ของร้านฯ
    • ผู้ค้าปลีกต้องแสดงราคาสินค้าในปัจจุบันและราคาย้อนหลัง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถติดตาม
      การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าได้
    • ร้านค้าขนาดใหญ่ (มากกว่า 400 ตารางเมตร) ต้องจัดพื้นที่ขายพิเศษ สำหรับสินค้าอาหารที่รัฐบาลควบคุมราคา เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสะดวก
    • ผู้ค้าปลีกที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ จะถูกปรับตั้งแต่ 3,000 – 30,000 ยูโร และอาจถูกยึดทรัพย์ด้วย

 

💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭

จากสถานการณ์เงินเฟ้ออันนำไปสู่การประท้วงคว่ำบาตรซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในโครเอเชียในช่วงเดือนที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวโครเอเชียจำนวนมากได้เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า โดยเลือกซื้อสินค้าราคาถูกเท่าที่จำเป็นจากร้านค้าขนาดเล็กแทนการซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ส่งผลให้รัฐบาลโครเอเชียออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าอย่างเข้มงวด ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ค้าปลีกและธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็นที่อยู่ภายใต้นโยบายการควบคุมราคา

 

ผู้ส่งออกสินค้าอาหารจากไทยไปยังโครเอเชีย ควรติดตามนโยบายและแนวโน้มสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยอาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือประสานงานกับภาครัฐของโครเอเชียในการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ที่รัฐบาลสามารถดูแลได้

 

ที่มาของข้อมูล

 

รัฐบาลโครเอเชียเร่งหาทางแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง ด้วยการควบคุมราคาสินค้า สนองตอบต่อ การเคลื่อนไหวของประชาชน

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
มีนาคม 2568

thThai