สาร PFAS กับอนาคตของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้า: โอกาสและความท้าทาย

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 กระทรวงสิ่งแวดล้อม และความเสมอภาคทางเพศของเดนมาร์ก (Ministry of Environment and Gender Equality) ได้ประกาศว่า เดนมาร์กเตรียมออกกฎหมายห้ามใช้สาร PFAS ในเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์กันน้ำสำหรับผู้บริโภค โดยข้อบังคับนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2025 โดยการห้ามใช้สาร PFAS นี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปกป้องสุขภาพและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารกลุ่มนี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และมีความเชื่อมโยงกับผลกระทบทางสุขภาพ เช่น มะเร็ง ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และปัญหาการเจริญเติบโตของเด็ก
กฎหมายดังกล่าวให้ระยะเวลาปรับตัวแก่ภาคธุรกิจภายในระยะเวลาหนึ่งปี โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2026 จะไม่สามารถนำเข้า และจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์กันน้ำที่มีสาร PFAS ในเดนมาร์กได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังสามารถขายสินค้าคงคลังที่ผลิตก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2025 ได้จนถึงสิ้นปี 2026 ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวครอบคลุมการนำเข้าสินค้าทั้งจากภายในและภายนอกยุโรป ซึ่งหมายความว่า การสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีสาร PFAS เช่น TEMU จะถือว่าผิดกฎหมาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม และความเสมอภาคทางเพศของเดนมาร์กเน้นย้ำว่า การลดการใช้สาร PFAS เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและลดมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลจะประชุมร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อหารือแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายใหม่นี้ พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่าสำหรับอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ เดนมาร์กยังร่วมมือกับนอร์เวย์ สวีเดน เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ เพื่อผลักดันให้สหภาพยุโรปออกมาตรการห้ามใช้สาร PFAS ทั่วทั้งภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายตั้งแต่ต้นทาง อีกทั้งรัฐบาลเดนมาร์กยังได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทางเลือกแทนสาร PFAS รวมถึงการรวบรวมข้อมูลและความรู้ที่จำเป็นในการจัดการปัญหาการปนเปื้อนของสารเหล่านี้อย่างเป็นระบบ
ที่มา: the Danish Ministry of Environment and Gender Equality

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต.:
อุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ สาร PFAS หรือ Per- and Polyfluoroalkyl Substances เป็นกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์มีอยู่ในผลิตภัณฑ์มากมาย รวมถึงเสื้อผ้าและรองเท้า ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อน้ำ น้ำมัน และความร้อน ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสามารถในการกันน้ำ กันเปื้อน และทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี
อย่างไรก็ตาม ข้อดีเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สาร PFAS เป็นสารที่ย่อยสลายยาก สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน และสามารถปนเปื้อนในน้ำดื่ม ดิน และอาหาร นอกจากนี้ การศึกษาหลายชิ้นยังพบว่าสาร PFAS อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ
ในช่วงปี 2567 การนำเข้ากลุ่มสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งาย และรองเท้าของเดนมาร์กมีมูลค่า 6,354 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.1% โดยกลุ่มสินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1. หมวด 62 – เครื่องนุ่งห่มที่มิได้ถักหรือถักโครเชต์ (Articles of Apparel and Clothing Accessories, Not Knitted or Crocheted) เช่น เสื้อเชิ้ต กางเกง ชุดสูทที่ทำจากผ้าทอ มูลค่า 2,763 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3% มีแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน สัดส่วน 20% บังคลาเทศ สัดส่วน 12% และสวีเดน สัดส่วน 7% ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 17 มูลค่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 0.9% ขยายตัว 32%
2. หมวด 61 – เครื่องนุ่งห่มที่ถักหรือถักโครเชต์ (Articles of Apparel and Clothing Accessories, Knitted or Crocheted) เช่น เสื้อยืด เสื้อกันหนาว กางเกงที่ผลิตจากผ้าถัก มูลค่า 2,467 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.5% มีแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ บังคลาเทศ สัดส่วน 24% จีน สัดส่วน 20% และเยอรมนี สัดส่วน 8% ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 26 มูลค่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 0.1% ขยายตัว 14%
3. หมวด 64 – รองเท้า และส่วนประกอบของรองเท้า (Footwear, Gaiters, and the Like; Parts of Such Articles) เช่น รองเท้าหนัง รองเท้าผ้าใบ รองเท้าบูท มูลค่า 1,123 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2% มีแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เยอรมนี สัดส่วน 19% จีน สัดส่วน 13% และสวีเดน สัดส่วน 10% ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 13 มูลค่า 18 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 1% ขยายตัว 4%
การห้ามใช้สาร PFAS ในเสื้อผ้าและรองเท้าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น อย่างไรก็ดี การห้ามใช้สาร PFAS ไม่ได้เป็นเพียงข้อจำกัด แต่ยังเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตและแบรนด์ต่างๆ ปรับตัวและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นโอกาสดีในการ:
• พัฒนานวัตกรรมวัสดุและเทคโนโลยี: การค้นหาและพัฒนาวัสดุทางเลือกที่สามารถทดแทนสาร PFAS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วัสดุชีวภาพ (Bio-based materials) วัสดุรีไซเคิล หรือการพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบผิวที่ปราศจากสาร PFAS
• สร้างความแตกต่างในตลาด: การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ และดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น
• สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์: การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความภักดีจากผู้บริโภค

thThai