รายงานล่าสุดจาก ICAEW Economic Insight ซึ่งจัดทำโดย Oxford Economics คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสภาความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) มีความพร้อมในการเผชิญกับนโยบายคุ้มครองทางการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ภายใต้ความไม่แน่นอนด้านการค้าและเศรษฐกิจโลก รายงานระบุว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจ GCC จะเติบโต 4% เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่คาดการณ์ไว้ 1.8%
นโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐฯ จะสร้างความไม่แน่นอนต่ออุปสงค์ภายนอก เช่น การส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยว แต่ GCC ยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรโดยตรงมากนัก คาดว่าในปีนี้ ภาคส่วนที่ไม่ใช่พลังงานของ GCC จะเติบโต 4.4% เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ในปี 2567 ที่ 3.9% และจากข้อมูล PMI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตของภูมิภาคนี้ จัดอยู่ในระดับที่การขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
การเติบโตของ GCC สามารถต้านทานแรงกดดันจากอัตราภาษีได้
หลังจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายล่าสุดของกลุ่ม OPEC+ การผลิตน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่เดือนเมษายน ส่งผลให้ภาคน้ำมันเติบโตขึ้น 3.2% หลังจากหดตัวติดตลอดสองปีที่ผ่านมา การผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียคาดว่าจะสูงถึง 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของภาคน้ำมันที่ 1.9% ในขณะที่โควต้าผลิตน้ำมันของยูเออีสูงขึ้นที่ 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจะสนับสนุนการเติบโตที่ 4.8%
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้ลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาษีนำเข้าและอุปทานที่เพิ่มขึ้นจาก OPEC+ โดยคาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 70.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจาก 80.5 เหรียญสหรัฐในปี 2567
ในปี 2567 การท่องเที่ยวเป็นภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค GCC และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับแรงหนุนจากโครงการ GCC Grand Tours Visa หรือ GCC Unified Visa ที่สมาชิกกลุ่มประเทศ GCC ร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเยี่ยมชม 6 ประเทศในอ่าวอาหรับโดยใช้เพียงวีซ่าเดียวและเดินทางข้ามประเทศได้อย่างอิสระ
ในปีนี้ GDP ของกาตาร์คาดว่าจะขยายตัว 2.1% และคาดว่าอัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในปี 2569 เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิต LNG ใหม่ ภาคเศรษฐกิจที่ไม่ใช่พลังงานคาดว่าจะเติบโตที่ 2.9% ซึ่งยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโต เศรษฐกิจของบาห์เรนมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า คาดว่าปีนี้จะขยายตัว 2.8% โดยภาคที่ไม่ใช่น้ำมันเติบโต 3.1% ขณะที่ในปี 2567 ภาคน้ำมันซึ่งหดตัวลงประมาณ 2.4% คาดว่าจะฟื้นตัวเล็กน้อยที่ 0.9%
ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ
นาง Hanadi Khalife หัวหน้าภาคตะวันออกกลางของ ICAEW กล่าวว่า ภูมิทัศน์ธุรกิจใน GCC ยังคงแสดงถึงความยืดหยุ่นและการปรับตัวต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก เรากำลังเห็นการลงทุนที่แข็งแกร่งใน ภาคส่วนสำคัญ เช่น การท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นาย Scott Livermore ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ ICAEW และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Oxford Economics Middle East กล่าวว่า การเติบโตของ GCC ปี 2568 ที่คาดการณ์ไว้ 4% และแสดงถึงความสามารถของภูมิภาคในการทนต่อแรงกดดันจากภายนอก ขณะที่กำลังพัฒนาความหลากหลายทางเศรษฐกิจ แม้ราคาน้ำมันจะอ่อนตัว การผ่อนคลายการลดการผลิตของ OPEC+ จะสนับสนุนการเติบโตของภาคพลังงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจาก หดตัวมาสองปี
ตามรายงานของ ICAEW การคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของ GCC ในปี 2568 ยังคงอยู่ที่ 2.3% และอัตราเงินเฟ้อระยะกลางคาดว่าจะทรงตัวที่ประมาณ 2% ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อในบาห์เรน โอมาน และกาตาร์ ต่ำกว่า 1% ในขณะที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 1.7% ในปี 2567 ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดจากค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น
งบประมาณของภูมิภาคในปีนี้ยังคงมีความสมดุลระหว่างวินัยทางการคลังและการเติบโตที่ยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาสังคม เช่น การศึกษาและสาธารณสุข ICAEW ระบุว่า GCC คาดว่าภาพรวมงบประมาณของ GCC จะยังคงสมดุล โดยได้รับแรงหนุนจากส่วนเกินงบประมาณของกาตาร์และยูเออี ขณะที่ซาอุดีอาระเบียคาดว่าจะขาดดุล 3% ของ GDP จากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในโครงการสำคัญต่างๆ
ความเห็นของ สคต. ดูไบ
จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทางสังคม อาจเพิ่มความต้องการสินค้านำเข้าของกลุ่มประเทศ GCC แต่ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันที่ลดลงอาจส่งผลให้ประเทศ GCC มีกำลังซื้อลดลง
ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของ GCC อาจเพิ่มความต้องการสินค้าไทย โดยเฉพาะการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจเพิ่มโอกาสสำหรับสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอาจเพิ่มความต้องการวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์จากไทย แต่อาจจะมีผลเสียกับการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน เพราะความ ไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวม ส่วนราคาน้ำมันที่ลดลงอาจส่งผลให้กำลังซื้อของประเทศ GCC ลดลง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ GCC มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยในปี 2567 มีมูลค่า 7,937.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.8 ซึ่งแสดงถึงโอกาสทางการค้าที่ยังคงมีอยู่ แม้ในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน