เนื้อข่าว
ในภาวะที่ภาคธุรกิจของเวียดนามกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ความจำเป็นในการเพิ่มมาตรการควบคุมเกี่ยวกับการปลอมแปลงถิ่นกำเนิดสินค้าและการลงทุนจากต่างชาติยิ่งทวีความสำคัญ ไม่เพียงเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่ยังช่วยป้องกันการอาศัยเวียดนามเป็นช่องทางเลี่ยงภาษีโดยมิชอบ
ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้กำหนดอัตราภาษีที่สูงขึ้นสำหรับสินค้าหลายประเภทจากนานาประเทศ สร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจของเวียดนามต่อผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะเมื่อสินค้าต่างชาติหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศเพื่อปลอมแปลงถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของสินค้า (Launder the origin of products) ก่อนส่งออก ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการส่งออกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ อุตสาหกรรมเหล็กของเวียดนาม แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่การทะลักเข้ามาของเหล็กราคาถูกจากจีนได้กดดันตลาดภายในประเทศอย่างหนัก ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ไม่เพียงต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาอย่างดุเดือด แต่ยังต้องรับมือกับความท้าทายในการควบคุมถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าส่งออกจากเวียดนามถูกเพ่งเล็งและถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นจากสหรัฐฯ
ในปี 2567 เวียดนามนำเข้าเหล็กจากจีนเป็นมูลค่ากว่า 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32.2 จากปีก่อนหน้า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินต่อไป เนื่องจากจีนยังคงมีอุปทานส่วนเกินของเหล็กจำนวนมาก สถานการณ์นี้ไม่เพียงสร้างแรงกดดันต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงให้สินค้าส่งออกของเวียดนามถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดและอาจเผชิญกับมาตรการภาษีที่สูงขึ้นจากสหรัฐฯ ปัญหาการปลอมแปลงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Fraudulent certification of goods origin) เพื่อเลี่ยงภาษีเคยเกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ โดยมีบางบริษัทนำเข้าสินค้าจากจีนแล้วดำเนินกระบวนการประกอบเพียงเล็กน้อยในเวียดนามก่อนส่งออกไปยังประเทศที่สาม กรณีเช่นนี้ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อธุรกิจท้องถิ่น แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมเวียดนามในสายตาของตลาดโลก
ปัจจุบัน แนวโน้มดังกล่าวยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้า ซึ่งโรงงานเวียดนามจำนวนมากรับจ้างผลิตสินค้าให้แก่คู่ค้าจากจีน เพื่อนำส่งออกไปยังสหรัฐฯ ภายใต้ถิ่นกำเนิดจากเวียดนาม ขณะที่ระบบตรวจสอบคุณภาพและถิ่นกำเนิดสินค้าของเวียดนามยังไม่มีความเข้มงวดเพียงพอทำให้บางบริษัทสามารถใช้วัตถุดิบจากจีนในการผลิตสินค้าแล้วติดตรา “สินค้าจากเวียดนาม” หากสถานการณ์นี้ ยังดำเนินต่อไป เวียดนามอาจถูกจับตามองว่าเป็นเพียงฐานการผลิตที่เอื้อให้มีการเปลี่ยนถิ่นกำเนิดสินค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกของประเทศต้องเผชิญกับมาตรการภาษีที่เข้มงวดขึ้นจากสหรัฐฯ และอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
นาย Pham Quang Anh กรรมการผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Dony Garment เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา บริษัทของเขาได้ต้อนรับลูกค้าจากจีนมากกว่า 20 กลุ่มที่ต้องการให้โรงงานในเวียดนามรับจ้างผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยระบุว่าจำนวนบริษัทจีนที่เข้ามาเยี่ยมชมโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดและอาจกลายเป็นลูกค้าในอนาคต สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่บริษัท Dony เท่านั้น แต่ยังพบได้ในบริษัทสิ่งทออื่น ๆ เช่นกัน ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าหากโรงงานเวียดนามกลายเป็นเพียงจุดสุดท้ายของกระบวนการผลิต ขณะที่วัตถุดิบและชิ้นส่วนส่วนใหญ่มาจากจีน อาจทำให้เวียดนามถูกมองว่าเป็นเพียงแหล่งยืมถิ่นกำเนิดของสินค้า และเสี่ยงต่อการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงจากสหรัฐฯ
เพื่อป้องกันปัญหาการปลอมแปลงถิ่นกำเนิดสินค้าและการหลีกเลี่ยงภาษี ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่ารัฐบาลเวียดนามควรเพิ่มมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นต่อโครงการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน รายงานจากสำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Agency) ระบุว่า ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2568 จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนโครงการลงทุนในเวียดนามมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 31 ของโครงการลงทุนทั้งหมด
นาย Dao Tien Phong กรรมการบริหารของบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน Investpush Law Company Limited ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนจากต่างประเทศ กล่าวว่า เงินทุนจากจีนกำลังไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การแปรรูปและการประกอบขั้นสุดท้าย ซึ่งให้มูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจในเวียดนามน้อยมาก นอกจากนี้ ด้วยข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และโลจิสติกส์ นักลงทุนจีนจึงนิยมตั้งฐานการผลิตในเวียดนามตอนเหนือ เนื่องจากสามารถขนส่งวัตถุดิบจากจีนได้สะดวก ส่งผลให้เวียดนามเสี่ยงที่จะกลายเป็นเพียงจุดผ่านของสินค้าจากจีนที่ใช้เลี่ยงภาษีจากประเทศปลายทาง เช่น สหรัฐฯ
ปัจจุบัน สินค้าส่งออกจากเวียดนามหลายประเภท เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้และเหล็ก กำลังเผชิญกับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping duties) จากสหรัฐฯ เนื่องจากปัญหาการยืมถิ่นกำเนิดของสินค้า ทั้งนี้ ในช่วงที่อดีตรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำหนดอัตราภาษีส่งออกที่สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างชาติพยายามเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ผ่านประเทศอื่น รวมถึงเวียดนาม
นาย Pham Xuan Hong ประธานสมาคมสิ่งทอ เสื้อผ้า ปัก และถักแห่งนครโฮจิมินห์ (The Ho Chi Minh City Textile, Garment, Embroidery and Knitting Association) แนะนำให้มีการควบคุมกระแสเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการดึงดูดโครงการที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ เนื่องจากเวียดนามมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก จึงควรใช้ข้อได้เปรียบนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่นาย Dinh Hong Ky รองประธานสมาคมนักธุรกิจนครโฮจิมินห์ (the Ho Chi Minh City Business Association) เสนอให้มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุน FDI อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการใช้เวียดนามเป็นทางผ่านในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยเขาเตือนว่า นโยบายภาษีใหม่ของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกที่มีมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ไม้ ดังนั้น เวียดนามจำเป็นต้องเพิ่มความรับผิดชอบในการพิจารณาโครงการลงทุน ควบคุมการดำเนินงานอย่างเข้มงวด และป้องกันโครงการที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัยหรือก่อให้เกิดมลพิษ
เวียดนามควรมุ่งเน้นการดึงดูดโครงการลงทุนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจ และหลีกเลี่ยงโครงการที่เป็นเพียงกระบวนการแปรรูปเบื้องต้นโดยไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีหรือเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรม นโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภายในประเทศจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืน สถานการณ์ตลาดในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า เวียดนามต้องดำเนินกลยุทธ์อย่างรอบคอบเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาในรูปแบบแอบแฝง รัฐบาลจึงควรมีมาตรการควบคุมโครงการ FDI อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงภาษีของธุรกิจต่างชาติ ทุกนโยบายและการดำเนินงานต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้องภาพลักษณ์และการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว
(แหล่งที่มา https://thesaigontimes.vn/ ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2568)
วิเคราะห์ผลกระทบ
ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงสุดสามประเทศ ได้แก่ แคนาดา จีน และเม็กซิโก โดยกำหนดให้สินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 25 ขณะที่สินค้าจากจีนจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมหนัก เช่น อลูมิเนียมและเหล็ก ที่ส่งออกจากทั้งสามประเทศไปยังสหรัฐฯ จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 25 เช่นเดียวกัน
นโยบายดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบในหลายมิติ โดยเฉพาะต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกและมีความเชื่อมโยงกับจีน เช่น เวียดนาม ซึ่งอาจเผชิญกับการไหลเข้าของบริษัทต่างชาติที่ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ การโยกย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามของบริษัทจากจีน แคนาดา และเม็กซิโก อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เวียดนามกลายเป็นฐานผลิตขั้นสุดท้ายของห่วงโซ่อุปทาน และถูกใช้เป็นถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ หากกระบวนการดังกล่าวถูกตรวจพบ เวียดนามอาจต้องเผชิญกับการถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม หรือมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นในอนาคต
อีกหนึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเวียดนามคือการแข่งขันภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากสินค้าราคาถูกที่ไหลทะลักเข้ามาในตลาด โดยเฉพาะจากจีน เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีอุปสรรคมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตจากจีนมองหาตลาดใหม่เพื่อระบายสินค้า ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศของเวียดนามเอง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวียดนามยังไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ต้องเผชิญกับการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ โดยตรง และกลุ่มสินค้าส่งออกหลักของเวียดนามยังไม่ได้รับผลกระทบในทันที สถานการณ์นี้จึงอาจเป็นโอกาสให้เวียดนามดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมโดยตรง แต่ก็อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหากมีการลักลอบส่งออกสินค้าจากจีนผ่านเวียดนามหรือไทยไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งอาจสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมให้กับสินค้าส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐฯ และตลาดโลก นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ ตรวจพบว่าไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในการปลอมแปลงถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของสินค้า หรือเป็นช่องทางให้สินค้าจากจีนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยหลีกเลี่ยงภาษี ไทยอาจถูกกำหนดมาตรการภาษีตอบโต้หรือมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีการค้าระหว่างประเทศ
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
แม้ว่านโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเวียดนามและไทย โดยเฉพาะจากความเสี่ยงที่สินค้าจีนอาจถูกลักลอบส่งออกผ่านทั้งสองประเทศเพื่อลดภาระภาษี แต่ในขณะเดียวกัน สถานการณ์นี้ก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้โดยตรง โดยพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูงเพื่อทดแทนสินค้าจากประเทศที่ถูกขึ้นภาษี นอกจากนี้ ไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่ รวมถึงเพิ่มมาตรฐานและการรับรองคุณภาพสินค้าให้ตรงตามข้อกำหนดของสหรัฐฯ อีกทั้งมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อาจกระตุ้นให้บริษัทจากจีน แคนาดา และเม็กซิโก ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศที่ยังไม่ถูกขึ้นภาษี ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยดึงดูดการลงทุนโดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษี และคัดเลือกอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงจากการลักลอบปลอมแปลงถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของสินค้าจากจีน โดยเข้มงวดกับการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า ปรับปรุงระบบศุลกากร และให้ความรู้แก่ภาคเอกชนเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้า ขณะเดียวกัน ไทยควรมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น AI, Big Data และเทคโนโลยีชีวภาพ ผ่านการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และฝึกอบรมแรงงานให้มีทักษะในอุตสาหกรรมอนาคต นอกจากนี้ ไทยควรเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี กระจายตลาดส่งออก และสร้างความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมไทยกับคู่ค้าต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ