อินเดียกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการปิดโรงงานในวงกว้างและพนักงานประสบปัญหาภาวะการว่างงาน เนื่องจากการนำเข้ากลุ่มชิ้นส่วนเหล็กจำพวกอุปกรณ์ยึดเหล็ก เช่น น็อต สลักเกลียว และสกรู อาจถูกระงับจากการบังคับใช้คำสั่งควบคุมคุณภาพ (Quality Control Orders: QCOs) ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2568 เป็นต้นไป โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าภายใน (DPIIT) เคยออกคำสั่ง QCOs เมื่อเดือนกันยายน 2567 และอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน ส่งผลให้มีผลบังคับใช้ต่อการนำเข้าและบริษัทขนาดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ขณะที่ บริษัทขนาดเล็กและขนาดย่อม จะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน และ 20 กันยายน 2568 ตามลำดับ
อุตสาหกรรมเหล็กกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน เนื่องจากข้อกำหนดควบคุมคุณภาพใหม่ (QCOs) ได้กำหนดการรับรองและการทดสอบที่เข้มงวดขึ้นสำหรับชิ้นส่วนเหล็ก แม้ว่าจุดประสงค์หลักของการออกคำสั่งก็เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เทียบเท่ามาตรฐานในเวทีสากล แต่การบังคับใช้กฎระเบียบเหล่านี้อย่างกะทันหันได้สร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โรงงานหลายแห่งที่ขาดทรัพยากร อาจต้องเผชิญกับการปิดชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักอย่างมากในห่วงโซ่อุปทาน
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ: ข้อกำหนดควบคุมคุณภาพใหม่ (QCOs) จะไม่เพียงส่งผลต่อผู้ผลิตเหล็กเท่านั้น แต่ยังกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาชิ้นส่วนเหล็กเป็นอย่างมาก เช่น ยานยนต์ การก่อสร้าง เครื่องจักร และการพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ความล่าช้าในการผลิตและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานอาจทำให้ต้นทุนของธุรกิจและผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น
2. ความท้าทายด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ : หลายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายสูงในการรับรองมาตรฐาน การทดสอบ และการปรับปรุงอุปกรณ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนด นอกจากนี้ ขั้นตอนของทางราชการเพื่อขออนุมัติยังเป็นอีกหนึ่งปัญหา ด้วยความล่าช้าของระบบอาจทำให้ภาคเอกชนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวในระหว่างรอผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ
3. ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น: การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่ของรัฐบาลอาจนำไปสู่การปิดโรงงาน การสูญเสียการจ้างงาน และปริมาณการผลิตเหล็กที่ลดลง ซึ่งอาจทำให้ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้น หากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานยังคงมีอยู่ อุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อสังหาริมทรัพย์และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน อาจเผชิญกับภาวะชะลอตัวด้วย
4. การตอบสนองและแนวทางแก้ไขจากภาคอุตสาหกรรม: สมาคมและองค์กรการค้าในอุตสาหกรรมเหล็กกำลังเจรจากับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อขยายเวลาปฏิบัติหรือขอความช่วยเหลือทางการเงินให้กับ SMEs บางบริษัทกำลังพิจารณาร่วมมือกับห้องปฏิบัติการทดสอบและหน่วยงานรับรองมาตรฐานเพื่อเร่งกระบวนการอนุมัติและลดผลกระทบจากการหยุดชะงัก
5. มุมมองระดับมหาภาค: หลายประเทศ เช่น จีนและสหภาพยุโรป ได้บังคับใช้มาตรการควบคุมคุณภาพในลักษณะเดียวกันมาเป็นเวลาหลายปี จากบทเรียนของประเทศเหล่านี้ อินเดียอาจจำเป็นต้องนำเสนอโครงการสนับสนุนหรือมาตรการจูงใจเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบได้ โดยยังคงรักษาความมั่นคงทางการผลิตไว้
ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจ
1. ข้อกำหนดควบคุมคุณภาพใหม่ (QCOs): จะช่วยรับรองผลิตภัณฑ์เหล็กคุณภาพสูง ทำให้มีความปลอดภัยและสินค้ามีความน่าเชื่อถือมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ
2. การปฏิบัติตามมาตรฐานสากลจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน: ผู้ผลิตเหล็กของอินเดียจะสามารถเข้าถึงตลาดโลกได้ดีขึ้น ส่งผลให้ภาคการส่งออกและเศรษฐกิจเกิดการขยายตัว
3. ความล่าช้าในห่วงโซ่อุปทานอาจเกิดขึ้น: เนื่องจากโรงงานบางแห่งอาจไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เข้มงวดได้ทันเวลา ส่งผลให้การผลิตชิ้นส่วนเหล็กหยุดชะงักและกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาเหล็ก
4. ความเสี่ยงของการไม่ได้รับงาน: หากโรงงานไม่สามารถปรับตัวตามข้อกำหนดใหม่ได้ อาจต้องปิดตัวลงหรือลดกำลังคนเพื่อลดต้นทุน
ข้อคิดเห็น
1. อินเดียเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก (รองจากจีน) โดยในปี 2567 คาดว่าปริมาณการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 140 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจาก 125 ล้านตันในปี 2566) ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 5-6% (ปี 2564-2567) ในขณะที่ การใช้เหล็กของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2567 อยู่ที่ 136 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจาก 120 ล้านตันในปี 2566) โดยมีแรงผลักดันหลักจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (รถไฟความเร็วสูง ถนน) และอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปี 2567 อินเดียนำเข้าสินค้าเหล็กและเหล็กกล้า (HS 72) จากโลกมูลค่า 17,694,659,630 เหรียญสหรัฐ หดตัวลง 6.43 % เทียบจากปีที่ผ่านมา โดยตลาดนำเข้าสำคัญได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซึ่งไทยครองอันดับที่ 20 และสินค้าที่อินเดียนำเข้าจากไทยมากที่สุด คือ เศษเหล็กและเศษเหล็กกล้า (พิกัด 7204) ด้วยมูลค่าการนำเข้าที่ 84,946,730 เหรียญสหรัฐ ลดลง 0.10 เทียบจากปีที่ผ่านมา อนึ่ง การที่รัฐบาลอินเดียบังคับใช้คำสั่งควบคุมคุณภาพ (QCOs) ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่การบังคับใช้กฎระเบียบในทันทีอาจสร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิตและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศโดยตรง
2. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของไทยคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากปัจจัยการเติบโตของตลาดโลกและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ยังคงเผชิญความท้าทายจากราคาวัสดุโลก เช่น เหล็กถลุงและถ่านหิน ที่ผันผวน และมาตรการกีดกันการค้าจากบางประเทศ รวมถึงอินเดีย โดยอุตสาหกรรมของไทยมีความเกี่ยวพันกับสินค้าสำคัญ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน (Hot-rolled steel) เหล็กแผ่นรีดเย็น (Cold-rolled steel) ท่อเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กแปรรูป แม้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศของหลายภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว จากอุปสงค์ของตลาดภายในประเทศชะลอตัว โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาค่าครองชีพ และ สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลงส่งผลให้ภาคการผลิตชะลอตัวตาม และประกอบกับมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาทดแทนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาสร้างแต้มต่อจากความตกลง ASEAN-India ในกลุ่มสินค้าเหล็กและเหล็กกล้าซึ่งมีสินค้าหลายพิกัดที่ได้รับสิทธิ์ภาษีศูนย์หรือลดลง (พิกัด 7204 มีภาษีพื้นฐานที่ 2.5% และภายใต้กรอบที่ 0%) อันจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับผู้ส่งออกรายอื่นได้ในตลาดอินเดีย ซึ่งปัจจุบันอินเดียมีความต้องการเหล็กสูงจากภาคก่อสร้าง ยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิต ไทยอาจเน้นประเด็นการส่งออกสินค้าเหล็กแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น เหล็กเคลือบผิว (Galvanized steel) และเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless steel) เป็นต้น