ตลาดขนมทานเล่นในระดับโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแคนาดาซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตอย่างมั่นคง ข้อมูลจากรายงาน Mintel (บริษัทวิจัยตลาดและการวิเคราะห์เทรนด์ของผู้บริโภค) ประจำปี 2567 ระบุว่าร้อยละ 64 ของผู้บริโภคในแคนาดายังคงรับประทานขนมในปริมาณที่เท่ากับปีที่ผ่านมา และร้อยละ 16 ระบุว่ามีการบริโภคขนมทานเล่นมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการบริโภคขนมและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดขนมทานเล่นในแคนาดา ที่มีมูลค่าตลาดถึง 13.3 พันล้านเหรียญแคนาดา (ประมาณ 339.15 พันล้านบาท) และอัตราการเติบโตร้อยละ 5.7 ต่อปี
ข้อมูลจากรายงาน Mondelez International ปี 2567 ชี้ให้เห็นว่ากลุ่ม Gen Z และ Millennials ในแคนาดามีแนวโน้มรับประทานขนมมากขึ้น โดยร้อยละ 71 ของกลุ่มนี้บริโภคขนมเป็นมื้อย่อยๆ ตลอดทั้งวัน และร้อยละ 65 บริโภคขนมมากขึ้นในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การเติบโตนี้ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคที่มองหาขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ขนมที่มีโปรตีนสูง ไฟเบอร์ และสารอาหารอื่นๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่ม Millennials และ Gen Z
การส่งออกขนมทานเล่นมาแคนาดาจึงเป็นโอกาสที่ดี สำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด
ในแคนาดา โดยเฉพาะในกลุ่มขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเน้นการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ
ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการไทย
- การปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มขนมเพื่อสุขภาพ ขนมทานเล่นที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น การใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ การลดปริมาณน้ำตาล และการเพิ่มโปรตีนและไฟเบอร์ จะตอบโจทย์ตลาดแคนาดาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่ม Millennials และ Gen Z ที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสุขภาพและเลือกรับประทานขนม ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น โดยขนมทานเล่นจากไทยที่มีศักยภาพ เช่น ข้าวแต๋น (Rice Crackers) ลูกเดือยอบกรอบ ข้าวโพดอบกรอบ ขนมจากผลไม้แห้ง ขนมจากงาดำ ขนมทำจากมะพร้าว และธัญพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงกระดูก รวมถึงมีไฟเบอร์สูงที่ช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร
- ช่องทางการจัดจำหน่ายและการตลาด
ข้อมูลจาก Conagra Brands (ผู้ผลิตอาหารแบรนด์ดังในแคนาดา) ระบุว่าการวางจำหน่ายขนมเพื่อสุขภาพในพื้นที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน เช่น บริเวณแคชเชียร์ หรือใกล้กับจุดชำระเงินในร้านค้าปลีก สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการไทยอาจต้องพิจารณาในการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การร่วมมือกับแพลตฟอร์มการค้าปลีกออนไลน์ในแคนาดา เช่น Amazon Canada เพื่อเข้าถึงช่องทางที่สะดวกในการซื้อสินค้าสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ การสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายร้านค้าปลีกในแคนาดาและการร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญในการเพิ่มโอกาสทางการตลาด
- สร้างแบรนด์ที่มีความแตกต่างและน่าเชื่อถือ
การสร้างแบรนด์ที่มีความคิดสร้างสรรค์และแตกต่างจากคู่แข่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในตลาด ข้อมูลจาก BrandSpark International (บริษัทผู้เชี่ยวชาญในด้านการวิจัยตลาดและการสร้างความเชื่อมั่นของแบรนด์ในตลาดอเมริกาเหนือ) ระบุว่าร้อยละ 63 ของผู้บริโภคในแคนาดามักเลือกซื้อสินค้าใหม่ๆ จากแบรนด์ที่ตนไว้วางใจ ดังนั้น การสร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเติบโตในตลาดนี้
- การมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
แนวโน้มการสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นในแคนาดากำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจาก Dare Foods (บริษัทที่ผลิตและจำหน่ายขนมทานเล่นรายใหญ่ในแคนาดา) ชี้ให้เห็นว่าในปี 2568 การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคที่ต้องการสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 300 จากผลของสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
ความคิดเห็น สคต.
ตลาดขนมทานเล่นในแคนาดายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง โดยมีขนาดตลาดใหญ่และมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจและเพิ่มการส่งออก ขนมทานเล่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งอาจพัฒนาสินค้าที่สามารถใช้วัตถุดิบจากแคนาดาในส่วนผสม เพื่อเพิ่มความดึงดูดใจให้ชาวแคนาดาในช่วงที่กระแสรักชาติกำลังมาแรง
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)
*****************************************