การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-2019 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 เป็นต้นมา ได้ทำให้ตลาดอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเปลี่ยนไปอย่างถาวร จนส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ผ่านมา ร้านอาหาร และโรงแรมได้ปิดกิจการ กิจกรรม/เทศกาลต่าง ๆ ถูกยกเลิก และตลาดส่งออกก็เสียหายเป็นอย่างมาก จึงทำให้ความต้องการในตลาดลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์ในธุรกิจจัดเลี้ยงและอีเว้นท์ที่เสียรายได้ และยอดขาย รวมไปถึงพวกโรงผลิตเบียร์หรืออุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ได้ประกาศล้มละลายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์กันว่า ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-2019 ไม่เพียงแต่ส่งผลชั่วคราวเท่านั้น แต่ได้ส่งผลระยะยาวจนปรับเปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรมและโครงสร้างการจัดจำหน่ายในภาคเครื่องดื่มไปอย่างถาวร ซึ่งภายหลังจากการระบาดฯ ได้เพียง 2 ปี ก็ดันเกิดสงครามในยูเครนขึ้นอีก จึงทำให้เกิดความยากลำบาก/ความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมากขึ้น (นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022) จนมีผลให้ต้องปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก ประกอบกับปัญหา Supply Chain ในการจัดหาวัตถุดิบ วัสดุ และพลังงานเหล่านี้ได้สร้างความตึงเครียดให้กับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม แม้ว่ายอดขายในปี 2022 จะดีขึ้นก็ตาม แต่สถานการณ์เศรษฐกิจของผู้ผลิตเครื่องดื่มหลายรายยังคงตึงเครียดอยู่ การแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มก็ยังคงรุนแรง และรูปแบบการบริโภคของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ทิศทางการบริโภคเบียร์ในเยอรมนีได้ลดลงติดต่อกันมาหลายปีแล้ว และตามข้อมูลในปัจจุบันการบริโภคเครื่องดื่มอัดลม และน้ำแร่ ก็คงที่ หรือลดลงเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ภาคอุตสาหกรรมฯ ได้ปรับลดจำนวนพนักงานลงเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน จำนวนพนักงานมีความคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2019 ก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 2019 จะเริ่มขึ้น ซึ่งตอนนั้น มีพนักงานเกือบ 31,200 คน ที่จ่ายเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมในอุตสาหกรรมการกลั่นเบียร์ และมีพนักงานอีกประมาณ 23,100 คน ที่จ่ายเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มอัดลม และน้ำแร่ (สถิติของสำนักงานจัดหางานของรัฐบาลกลางสำหรับปี 2019) และถึงแม้ว่าการจ้างงานในส่วนนี้จะเติบโตเล็กน้อยก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 2019 แต่โดยรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มยังคงมีแนวโน้มที่จะใช้แรงงานอย่างมีนัยสำคัญ และใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยตลาดภายในประเทศอยู่ในภาวะอิ่มตัว การปรับโครงสร้าง การปิดโรงงาน และสถานที่ผลิตสินค้า และการปรับกำลังการผลิตเป็นเรื่องหรือประเด็นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
- การขยายตัวของตลาด
ตลาดเครื่องดื่มที่ผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบรรจุในเยอรมนีอยู่ในภาวะอิ่มตัวมานานแล้ว อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดเบียร์จะมีทิศทางหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 แต่ยอดขายเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์กลับคงที่ โดยเฉพาะน้ำพร้อมดื่ม แนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่มียอดขายสูงสุดจนถึงปัจจุบัน
- พฤติกรรมผู้บริโภคและยอดขาย รูปแบบการบริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการแข่งขันที่รุนแรงในภาคค้าปลีก ได้ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมาอย่างยาวนาน การระบาดของเชื้ออไวรัสโควิด – 2019 ได้ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างถาวร โดยส่งผลต่อหลาย ๆ อย่าง เช่น ความต้องการสินค้าประเภทเฉพาะช่องทางการขาย และยอดขาย
- การบริโภคเครื่องดื่มต่อหัว ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มของชาวเยอรมันต่อปีอยู่ที่ประมาณ 630 ลิตรต่อคน โดยในปี 2564 (รูปที่ 1) บริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (อาทิ น้ำเปล่า น้ำอัดลม และน้ำผลไม้) จำนวน 270 ลิตร ชาและกาแฟ จำนวน 239 ลิตร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (อาทิ เบียร์ ไวน์ สปาร์ก- ลิงไวน์ และสุรา) จำนวน 121 ลิตร สำหรับ เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเยอรมนียังคงเป็น “กาแฟ” โดยมีการบริโภคต่อคนต่อปีที่ 169 ลิตร รองลงมา คือ น้ำเปล่า 123 ลิตร น้ำอัดลม 118 ลิตร และเบียร์ (รวมเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มมอลต์) 92 ลิตร สำหรับ พฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงโควิด – 2019, ปี 2020 และ 2021 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน มาตรการล็อกดาวน์ (ผลกระทบพิเศษ) อาทิ การสั่งปิดร้านอาหาร การทำงานจากที่บ้าน การยกเลิกงานเฉลิมฉลอง/คอนเสิร์ต/งานอีเว้นท์ (ขนาดใหญ่) เป็นต้น ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนมากก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกดด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ เนื่องจากใช้วิธี “ช๊อปปิ้งครบวงจร (One – Stop-Shoppings)” พวกเขาจึงซื้อสินค้าน้อยลง แต่บ่อยครั้งขึ้น และการบริโภคเกิดขึ้นที่บ้านเป็นหลัก ต่อมา ภายหลังจากที่ร้านอาหารได้ทยอยกลับมาเปิดตัวอีกครั้ง ในช่วงต้นปี 2022 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาเน้นการบริโภคนอกบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการบริโภคและการซื้อในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากภาวะเงินเฟ้อที่สูง และความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับสงครามในยูเครน ผู้บริโภคจำกัดการบริโภค ซื้อของน้อยลง และให้ความสนใจอย่างมากต่อสินค้าราคาถูก เมื่อต้องซื้อสินค้าบริโภค
- เบียร์ : การเติบโตของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ – เบียร์แบบ Helles เข้ามาแทนที่เบียร์ที่ทำจากข้าวสาลี (Weißbier) กลายเป็นเทรนด์เบียร์ใหม่ แม้ว่าการบริโภคเบียร์ในตลาดเยอรมนีโดยรวมจะลดลง แต่ก็มีเบียร์บางชนิดที่มีทิศทางการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มผสมเบียร์ (ไม่มีแอลกอฮอล์) ยังคงเติบโตต่อไปได้ดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตเบียร์แห่งเยอรมนี พบว่า เบียร์เกือบ 1 ใน 10 ที่บริโภคเป็นเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในจำนวนแบรนด์เบียร์เกือบ 7,000 แบรนด์ของเยอรมนี มากกว่า 700 แบรนด์ เป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มผสมเบียร์ (DBB 2022c) ทั้งนี้ เยอรมนียังครองตำแหน่งผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในยุโรป ด้วยผลผลิตเบียร์ (รวมเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์) อยู่ที่ 85.4 ล้านเฮกโตลิตร ในปี 2021 นอกจากเยอรมนีจะเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในยุโรปแล้ว ยังเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกอีกด้วย โดยรองจากจีน สหรัฐอเมริกา บราซิล และเม็กซิโก
- เครื่องดื่มอัดลมกับกระแสนิยมแบบบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแคลอรี่และน้ำตาล ตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมมีลักษณะเด่น คือ มีผลิตภัณฑ์หลากหลายและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง แต่บ่อยครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือกระแสเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น รวมถึงเป็นตลาดที่มีนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ และรสชาติ ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามสถิติของสมาคมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์แห่งเยอรมนี (wafg – Die Wirtschaftsvereinigung Alkoholfreie Getränke) พบว่า ในปี 2022 เครื่องดื่มอัดลมแบบทั่วไปมีแนวโน้มลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การบริโภคลดลงจากเกือบ 37 ลิตรต่อคน ในปี 2012 เหลือ 28.5 ลิตร ในปี 2019 ต่อมาในช่วง 2 ปีหลังจากที่มีการระบาดของเชื้อโควิด – 2019 การบริโภคได้ลดลงอีก 11% เหลือ 25.4 ลิตรต่อคน นอกจากนี้ การผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมยังคงที่ไม่มีแนวโน้มขยายตัว ตามสถิติของ wafg ปริมาณการผลิตเครื่องดื่มอัดลมโดยรวม (รวมถึงเครื่องดื่มน้ำผลไม้) อยู่ในช่วง 10,000 – 11,000 ล้านลิตร นับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งหมายความว่า การขยายตัวได้ดำเนินไปในระดับคงที่มาหลายปีแล้ว เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อโควิดฯ ปริมาณการผลิตในปี 2020 ลดลงเหลือ 10.1 พันล้านลิตร (-5%) แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอีกครั้งเป็น 10.3 พันล้านลิตร (+2%) ในปีที่ 2 ของการระบาดฯ การระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด – 2019 ได้ส่งผลให้การผลิตเครื่องดื่มโคล่า และน้ำอัดลมอื่น ๆ ลดลง ใน 2 ปีที่เกิดการระบาดฯ ผลจากธุรกิจซื้อสินค้าไปกินที่บ้านที่อ่อนแอลง ทำให้การผลิตน้ำอัดลมอื่น ๆ และเครื่องดื่มโคล่าลดลงค่อนข้างรวดเร็วโดยรวม (-8%) แต่การผลิตเครื่องดื่มโคล่ารสอื่น (ผสม) ยังคงเติบโตต่อไป โดยเฉพาะในปีที่ 2 ที่เกิดการระบาดฯ หลังจากที่หยุดชะงักในปีแรกของการระบาดใหญ่ การผลิตเครื่องดื่มอัดลมอื่น ๆ กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีถัดมา (+7% ในสองปี) การเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องดื่มที่บริโภคภายในบ้าน (เช่น เครื่องดื่มกาแฟ และชาพร้อมดื่ม หรือเครื่องดื่มวิตามิน เกลือแร่ และเครื่องดื่มชูกำลัง) อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องดื่มผสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงประมาณหนึ่งในห้าในปี 2020 และ 2021
- น้ำ รวมถึงน้ำแร่ที่มีคาร์บอเนตต่ำเป็นที่ต้องการมากที่สุด ตามข้อมูลจากสมาคมผู้จัดหาน้ำแร่แห่งเยอรมนี น้ำแร่ที่ผสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปานกลางยังคงเป็นน้ำแร่ที่ขายดีที่สุดในเยอรมนี โดยมีส่วนแบ่งตลาดที่ค่อนข้างคงที่ที่ 42% (2021) น้ำแร่อัดลมแบบปกติ (ส่วนแบ่งตลาด 34%) มีความต้องการลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่น้ำแร่ “ที่ยังไม่มีการอัดลม” มีอยู่ประมาณ 21% ในปัจจุบัน น้ำสมุนไพร น้ำแร่ และน้ำประปา (ที่นำมากรอกเพื่อจำหน่ายในร้านอาหาร) มีสัดส่วนการบริโภคเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเทรนด์นี้สอดคล้องกับปริมาณการบริโภคที่ลดลง นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณการกลับตัวของแนวโน้มในการผลิตภาคอุตสาหกรรมน้ำแร่ และการบรรจุน้ำแร่ลงขวด หลังจากที่เพิ่มขึ้นมาหลายปี โดยมีจุดสูงสุดในปี 2018 (14,500 ล้านลิตร) แนวโน้มนี้เห็นได้ชัดในปี 2019 เมื่อปริมาณการผลิตน้ำลดลงอย่างรวดเร็วเหลือ 13.8 พันล้านลิตร (-5%) ในปีที่เกิดโรคระบาดในปี 2020 (-3%) และปี 2021 (-6%) ปริมาณการผลิตยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
- นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ และศักยภาพในการเติบโต ผู้ผลิตเครื่องดื่มต้องเผชิญกับความท้าทายในการตอบสนองต่อความยืดหยุ่นของตลาดในระยะเวลาอันสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง (1) รูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค (2) ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ค้าปลีกและผู้กำหนดนโยบาย (3) กลยุทธ์ที่แตกต่างกันของคู่แข่ง และ (4) การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้ผลิตน้ำประปาและน้ำอัดลม ความหลากหลายหรือการเปลี่ยนแปลงรสชาติใหม่ ๆ รวมถึงการปรับปรุงภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทต่าง ๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มียอดขายสูง (เช่น Bionade, Fritz Cola หรือ Red Bull) ถือเป็นเรื่องที่หายาก ตลาดเครื่องดื่มมีลักษณะเด่นคือ มีผลิตภัณฑ์ที่เลียนแบบ (ผลิตภัณฑ์ Me-too) จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตนำผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่เข้าสู่ตลาด แล้วคู่แข่งรายอื่นก็เลียนแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันทันที
- มาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบการนำเข้าที่ต้องปฏิบัติตาม
การนำเข้าเครื่องดื่มมายังตลาดเยอรมนีต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้า รวมถึงข้อกำหนดด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวคือ
- มาตรการด้านโครงสร้างทางภาษี : ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้าเครื่องดื่ม (ทั้งที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์) ของเยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ 19 และ (2) อัตราภาษีศุลกากรขาเข้าสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบมีความหลากหลายอยู่ระหว่างร้อยละ 0 – 17.5 ซึ่งกรณีน้ำผลไม้อัตราภาษีศุลกากรจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับความเข้มข้นที่แสดงบนฉลากสินค้าเป็นสำคัญ
- มาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร :
- European Food Safety Authority (EFSA) : เครื่องดื่มที่นำเข้ามาในเยอรมนีต้องได้รับการอนุมัติจาก EFSA ในกรณี ที่มีการเสริมสารอาหารหรือส่วนผสมที่อาจมีผลต่อสุขภาพ เช่น สารสกัดจากพืช หรือสารเพิ่มพลังงานต่าง ๆ
- Regulation (EC) No 178/2002 : เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักการและข้อกำหนดพื้นฐานในการควบคุมความปลอดภัยของอาหารและเครื่องดื่ม เช่น การติดฉลากข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับส่วนประกอบและวิธีการเก็บรักษา
- Regulation (EC) No 1924/2006 : เกี่ยวข้องกับการควบคุมการโฆษณาและการอ้างอิงที่เกี่ยวกับคุณประโยชน์ด้านสุขภาพของเครื่องดื่ม เช่น การอ้างว่าเครื่องดื่มช่วยในการลดน้ำหนัก หรือเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ต้องมีการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์
- ข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฉลากสินค้า (Labelling Requirements) :
โดยข้อมูลที่ต้องระบุในฉลากเบื้องต้นต้องประกอบด้วย (1) ชื่อของผลิตภัณฑ์ (2) รายการส่วนประกอบทั้งหมด (โดยระบุสารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้) (3) ข้อมูลทางโภชนาการ (เช่น ปริมาณแคลอรี, น้ำตาล, เกลือ ฯลฯ) (4) วันที่ผลิตและวันที่หมดอายุ (5) ข้อควรระวังในการใช้ (6) ข้อมูลติดต่อของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และ (7) การใช้ภาษาฉลากควรต้องใช้ภาษาที่เข้าใจได้ในประเทศเยอรมนี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาษาเยอรมัน
- มาตรฐานเกี่ยวกับสารเคมีและสารอันตราย :
- Regulation (EC) No 1333/2008 (Food Additives) : กำหนดการใช้งานและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารปรุงแต่งอาหาร (เช่น สี, สารกันบูด) ที่สามารถใช้ในเครื่องดื่ม ต้องตรวจสอบว่าการใช้สารเหล่านี้ปลอดภัยและได้รับอนุญาต
- Regulation (EC) No 1107/2009 : เกี่ยวกับข้อกำหนดเกี่ยวกับสารป้องกันศัตรูพืชในอาหาร หากมีสารป้องกันศัตรูพืชในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม ต้องไม่เกินระดับที่กำหนด
- มาตรฐานการควบคุมสุขภาพ (Health and Safety Standards) :
- มาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Points) เครื่องดื่มที่ผลิตและนำเข้าต้องผ่านการควบคุมระบบ HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานในการป้องกันความเสี่ยงด้านสุขอนามัยจากการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
- การตรวจสอบจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ Bundesamt für Verbraucherschutz und Lebensmittelsicherheit (BVL) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยของอาหารและเครื่องดื่มในเยอรมนี
- มาตรฐานเกี่ยวกับการรีไซเคิลและสิ่งแวดล้อม :
- การควบคุมบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเครื่องดื่มที่นำเข้าต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ตามกฎหมายของสหภาพยุโรป เช่น Directive 94/62/EC ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการและการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์
- ระบบรีไซเคิลในเยอรมนี คือ ระบบ Green Dot หรือ Dual System เป็นระบบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในเยอรมนี ซึ่งสินค้าจะต้องมีสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าบรรจุภัณฑ์นั้นสามารถรีไซเคิลได้
- การตรวจสอบคุณภาพและการอนุมัติจากหน่วยงาน : สินค้าที่จะนำเข้ามาขายในเยอรมนีต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐบาลก่อน จึงจะสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มในเยอรมนีได้ โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องยืนยันว่าเครื่องดื่มนั้นปฏิบัติตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปและเยอรมนี ซึ่งจะมีการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น BVL และ Federal Ministry of Food and Agriculture (BMEL)
- การควบคุมสินค้าภายใต้กฎหมาย EU :
- Regulation (EC) No 1925/2006 : เน้นควบคุมการใช้วิตามิน, เกลือแร่ และสารเติมแต่งที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพในเครื่องดื่ม เช่น การใช้สารให้ความหวาน หรือการเพิ่มสารอาหาร
- Regulation (EC) No 852/2004 : ข้อกำหนดการควบคุมสุขอนามัยของอาหารในทุกขั้นตอนจากการผลิตไปจนถึงการจำหน่าย
- พฤติกรรมของผู้บริโภค สภาพการแข่งขัน โอกาส/อุปสรรคของสินค้าไทย ข้อควรระวัง ตลอดจนคำแนะนำในการเข้าสู่ตลาด :
ในตลาดเครื่องดื่มของเยอรมนี พฤติกรรมของผู้บริโภคและสภาพการแข่งขันมีความหลากหลายและได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม, และวัฒนธรรมของเยอรมนี
- พฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดเครื่องดื่มของเยอรมนี โดยผู้บริโภคให้ความนิยมในเครื่องดื่มที่มีสุขภาพดี โดยมักมองหาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล, น้ำผลไม้ที่ไม่มีสารปรุงแต่ง, น้ำดื่มที่มีแร่ธาตุ หรือเครื่องดื่มสมุนไพรที่เสริมสร้างสุขภาพ นอกจากนี้ ปัจจุบันเครื่องดื่มออร์แกนิกก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
- ความนิยมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ เบียร์ เนื่องจากเยอรมนีมีวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ที่ลึกซึ้ง โดยเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่นิยมมากและถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมการกิน – ดื่มของเยอรมัน ซึ่งเบียร์มีความสำคัญในเทศกาลต่าง ๆ เช่น Oktoberfest นอกจากนี้เยอรมนียังเป็นประเทศผู้ผลิตเบียร์ที่มีชื่อเสียง ในขณะที่ไวน์ การดื่มไวน์โดยเฉพาะไวน์จากแหล่งผลิตในประเทศ เช่น ไวน์จาก ไรน์ หรือ โมเซล ก็เป็นที่นิยมในตลาดเยอรมนี
- ความนิยมในเครื่องดื่มที่ให้พลังงานและฟังก์ชั่น โดยเครื่องดื่มที่ให้พลังงานมักเป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและส่วนผสมที่ให้พลังงานได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ทำงานหนักหรือกลุ่มคนที่ต้องการกระตุ้นพลังงาน เช่น เครื่องดื่มแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและวิตามิน ในขณะที่ เครื่องดื่มเสริมอาหาร (Functional Beverages) หรือเครื่องดื่มที่มีการเสริมสารอาหารหรือคุณประโยชน์ทางสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มที่เสริมวิตามิน, โปรไบโอติกส์, หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน
- การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการบริโภค จะมุ่งเน้นไปที่ความสะดวกสบายโดยผู้บริโภคในเยอรมนีมักมองหาผลิตภัณฑ์ที่สะดวกและง่ายต่อการบริโภค เช่น เครื่องดื่มที่พร้อมดื่มหรือเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานง่าย นอกจากนี้ การซื้อเครื่องดื่มออนไลน์ก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคหลายคนหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
- สภาพการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มของเยอรมนี ถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากและมีสินค้าในแบรนด์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย โดยมีทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ต่างประเทศที่มุ่งเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหลากหลายประเภท เช่น เบียร์, น้ำผลไม้, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, น้ำดื่ม, เครื่องดื่มพลังงาน, และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สำหรับ ผู้เล่นหลักในตลาดมีด้วยกันหลายแบรนด์ อาทิ Coca-Cola, PepsiCo, Nestlé, Heineken, Carlsberg, Anheuser-Busch InBev, และแบรนด์ท้องถิ่นเช่น Bitburger และ Warsteiner ซึ่งทำให้การแข่งขันในตลาดค่อนข้างรุนแรง
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญในตลาดนี้ เช่น การพัฒนาเครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น น้ำดื่มที่มีแร่ธาตุ, เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล, หรือเครื่องดื่มที่เสริมสารอาหาร เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ นอกจากนี้ ในการทำการตลาดและการประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อออนไลน์และการโปรโมตผ่านโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสำคัญในการดึงดูดลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ
- ผู้ผลิตเครื่องดื่มต้องปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การผลิตเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล, การเสริมสารอาหารเพื่อสุขภาพ, และการลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อในตลาดเยอรมนีในปัจจุบันทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจึงหันไปประหยัดมากขึ้น จึงมีความอ่อนไหวด้านราคาสินค้ามากขึ้น
- ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากเอเชียในตลาดเยอรมนีได้เพิ่มจากร้านสินค้าเอเชียเข้าสู่ซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น โดยในช่วง 4 – 4 ปีมานี้ ผู้บริโภคทั้งชาวเยอรมนีและเอเชียสามารถเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มเอเชียในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ได้มากขึ้น โดยช่องทางการเข้าตลาดของสินค้าเครื่องดื่มของไทยสรุปได้ในเบื้องต้น กล่าวคือ
- งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องและกิจกรรมที่ควรเข้าร่วม อาทิ
- งานแสดงสินค้า Biofach เป็นงานแสดงสินค้าออร์แกนิค (Organic) ระดับโลก ที่รวบรวมผู้ประกอบการในธุรกิจและผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากธรรมชาติ โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ในเยอรมนี (เมืองนูเรมเบิร์ก)
- งานแสดงสินค้า INTERNORGA เป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ HORECA (Hotel, Restaurant และ Catering) ที่รวบรวมผู้ประกอบการในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่มต่าง ๆ เบเกอรี่ ไอศกรีม และซอฟท์แวร์ด้านการจัดการโรงแรม/ร้านอาหาร โดยจัดขึ้นเดือนมีนาคมเป็นประจำทุกปี ในเยอรมนี (นครฮัมบวร์ค)
- งานแสดงสินค้า ANUGA เป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นในเยอรมนี (เมืองโคโลญจน์) โดยเป็นงานที่รวบรวมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งสายอุปทานได้พบปะ แลกเปลี่ยน และพูดคุยระหว่างกัน โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี สำหรับปี 2568 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม
- งานแสดงสินค้า Biofach เป็นงานแสดงสินค้าออร์แกนิค (Organic) ระดับโลก ที่รวบรวมผู้ประกอบการในธุรกิจและผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากธรรมชาติ โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ในเยอรมนี (เมืองนูเรมเบิร์ก)
- งานแสดงสินค้า Vitafoods Europe นับเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ที่เน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมด้านอาหารชั้นนำ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหาร ทั้งนี้จะจัดขันในระยะเวลาทีแตกต่างกันไปในแต่ละปี ตามเมืองสำคัญต่าง ๆ ทั่วยุโรป
*********************************************