เศรษฐกิจเช็กขยับอันดับขึ้นในยุโรป

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สาธารณรัฐเช็กไต่อันดับขึ้นอย่างต่อเนื่องในการจัดอันดับเศรษฐกิจยุโรป โดยข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติยุโรป Eurostat รายงานว่า GDP ต่อหัวของสาธารณรัฐเช็กตามอำนาจการซื้อสินค้า (GDP per capita in purchasing power parity) แตะระดับร้อยละ 91 ของค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปเมื่อปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 89 ในปี 2022 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังต่ำกว่าระดับก่อนการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งในปี 2020 เศรษฐกิจเช็กอยู่ที่อัตราร้อยละ 96 ของค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป ร้อยละที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวผลักดันให้สาธารณรัฐเช็กกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 15 ของสหภาพยุโรป โดยเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเมื่อเทียบเป็นรายปี Mr. Jan Bureš หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Patria Finance ให้ข้อมูลว่าการฟื้นตัวที่ช้าเกิดจากทั้งผลกระทบของโรคระบาด วิกฤตพลังงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกอย่างสาธารณรัฐเช็กมากกว่าเศรษฐกิจที่เน้นภาคบริการ เช่น สเปน โปรตุเกส และฝรั่งเศส ขณะเดียวกัน สโลวาเกียยังเผชิญกับความท้าทาย โดยอยู่อันดับ 4 จากล่างสุดด้วยอัตราร้อยละ 75 ของค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป

 

นอกจากนี้ ตามรายงานของสำนักงานสถิติยุโรป Eurostat ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 อัตราเงินเฟ้อของ Eurozone ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับร้อยละ 2.2 ในเดือนมีนาคม โดยลดลงจากร้อยละ 2.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขล่าสุดนี้ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จาก Reuters ซึ่งหากวิเคราะห์โดยละเอียด พบว่าราคาพลังงานลดลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ต้นทุนภาคการบริการยังคงเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.4 แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากร้อยละ 3.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าอาหารแปรรูปร้อยละ 4.1 สำหรับดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ลดลงเหลือร้อยละ 2.4 จากร้อยละ 2.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ สัญญาณทั้งหมดบ่งชี้ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17 เมษายน 2568 โดยธนาคารกลางยุโรปซึ่งได้ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 6 ครั้งตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวทางของธนาคารกลางยุโรปในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติยุโรป Eurostat จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจเช็กมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การลดลงของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป และราคาพลังงานที่ลดลง จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเช็กขยายตัวได้ดีขึ้น จึงถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกมายังสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรติดตามนโยบายการค้าของยุโรปอย่างใกล้ชิดเพื่อสามารถปรับตัวได้ทันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงศึกษาแนวโน้มตลาด กฎระเบียบทางการค้า และพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ปี 2567 สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 231,767 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี จีน โปแลนด์ สโลวาเกีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ฮังการี และเบลเยียม ตามลำดับ โดยนำเข้าจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 1,036.86 ล้านเหรียญสหรัฐ

thThai