ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะเก็บภาษีนำเข้า 20% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากสหภาพยุโรป ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Ursula von der Leyen กล่าวว่าสหภาพยุโรปกำลังดำเนินการหามาตรการตอบโต้หากการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่ประสบผลสำเร็จ ภาคธุรกิจและสมาชิกรัฐสภาเนเธอร์แลนด์แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้า ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าสงครามการค้าเป็นผลเสียต่อทุกฝ่าย
ทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลก โดยสหภาพยุโรปจะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 20% ซึ่งคิดเป็นสองเท่า สำหรับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศจะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่านี้มาก เช่น เวียดนามจะถูกเก็บภาษีนำเข้าที่ 46% โดยภาษีนำเข้าขั้นต่ำนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันอาทิตย์นี้ และส่วนที่เหลือจะมีผลบังคับใช้ในวันพุธ สำหรับภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมที่ประกาศและบังคับใช้แล้วก่อนหน้านี้จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปและจะไม่เพิ่มขึ้น โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่า มาตรการภาษีนำเข้าเหล่านี้มีขึ้นเพื่อตอบโต้การที่ประเทศอื่นๆ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ
องค์กรนายจ้างของเนเธอร์แลนด์ (VNO-NCW) ได้ออกแถลงการณ์ต่อสำนักข่าว ANP ประณามการประกาศนโยบายภาษีของทรัมป์ โดยมองว่าเป็น “ก้าวสำคัญไปสู่การทำสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น” องค์กรเน้นย้ำว่า การเก็บภาษีนำเข้าไร้ประโยชน์และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากห่วงโซ่การผลิตระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด แต่ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็จำเป็นต้องมีมาตรการตอบโต้มาตรการภาษีดังกล่าวของสหรัฐฯ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ VNO-NCW คาดว่าการขึ้นภาษีจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าระหว่างประเทศ และ VNO-NCW กำลังติดต่อประสานกับสมาชิกและรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ใกล้ชิดเกี่ยวกับเรื่องนี้
องค์กรผู้ประกอบการ Evofenedex ซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ด้านการค้าและโลจิสติกส์ของบริษัทหลายพันแห่งในเนเธอร์แลนด์ แสดงความเห็นว่าการเก็บภาษีเป็นเรื่องน่าเสียใจ แม้ว่าจะเป็นไปตามความที่คาดไว้ก็ตาม อีกทั้งยังเห็นว่าการตอบโต้ที่แข็งแกร่งของยุโรปเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นปกติ แต่ในขณะเดียวกันสถานการณ์นี้เปิดโอกาสให้มีการเสริมสร้างและสำรวจตลาดใหม่ๆ บริษัทเนเธอร์แลนด์มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น จึงควรใช้จุดแข็งด้านความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นให้เป็นประโยชน์
สมาชิกรัฐสภาของเนเธอร์แลนด์เน้นย้ำถึงผลกระทบด้านลบของสงครามการค้า และไม่มีใครได้รับประโยชน์จากสงครามการค้า โดยนาย Frans Timmermans ผู้นำ GroenLinks-PvdA กล่าวในรายการทอล์คโชว์ Bar Laat ว่า “สงครามการค้ามีแต่ผู้แพ้เท่านั้น เพราะทำให้ราคาสินค้าของทั้งสองฝ่ายสูงขึ้น” นาง Dilan Yeşilgöz ผู้นำพรรค VVD ให้ความเห็นว่าภาษีนำเข้าไม่ได้นำไปสู่การปลดปล่อยอย่างที่ทรัมป์กล่าวอ้าง พร้อมทั้งกล่าวใน X ว่าสงครามการค้าส่งผลเสียต่อทุกภาคส่วน ทั้งบริษัทและผู้บริโภค ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
สำนักงานวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ (CPB) มองว่าผลกระทบจากการขึ้นภาษีในครั้งนี้ยังอยู่ในระดับที่สามารถรับมือได้ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ของ CPB แสดงความกังวลว่าการขึ้นภาษีอาจส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ทำให้เกิดการชะลอการใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา CPB ได้ประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษี โดยคำนวณจากอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปที่ 10% รวมกับอัตราภาษี 100% สำหรับยานยนต์และอัตราภาษี 60% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมด โดยผลการประเมินพบว่าการนำเข้าและส่งออกของเนเธอร์แลนด์จะลดลงประมาณ 1% แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราภาษีได้แตกต่างไปจากอัตราภาษีอ้างอิงดังกล่าวแล้ว ซึ่งผลกระทบก็อาจเพิ่มมากขึ้น
ทรัมป์ต้องการใช้การขึ้นอัตราภาษีนำเข้านี้ทำให้การผลิตในสหรัฐฯ น่าดึงดูดใจมากขึ้น โดยกล่าวว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้อนุญาตให้โรงงานจำนวนมากย้ายไปต่างประเทศ และต้องการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการทำให้ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์แย้งว่ากลยุทธ์นี้ของทรัมป์จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และเกรงว่าการขึ้นภาษีจะผลักดันให้สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลก ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่ทรัมป์ขึ้นภาษีเหล็กในช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ต้นทุนส่วนใหญ่กลับตกเป็นภาระของผู้ซื้อรถยนต์ชาวอเมริกันเป็นหลัก
ขณะนี้หลายประเทศกำลังพิจารณามาตรการตอบโต้ต่อนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ด้วยการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของตนเอง คณะกรรมาธิการยุโรปก็พร้อมที่จะตอบโต้ด้วยมาตรการตอบโต้เช่นเดียวกัน หากการเจรจากับสหรัฐฯ ล้มเหลว โดยนาง Ursula von der Leyen กล่าวว่าคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างการสรุปมาตรการตอบโต้ชุดแรกเพื่อตอบโต้ภาษีนำเข้าเหล็ก และกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมมาตรการตอบโต้เพิ่มเติมเพื่อปกป้องผลประโยชน์และธุรกิจของสหภาพยุโรป
บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.
การประกาศนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ก่อให้เกิดความตึงเครียดในเวทีการค้าโลก และอาจนำไปสู่สงครามการค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ธนาคาร Rabobank คาดการณ์ว่าเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 4 ของสหภาพยุโรปจะประสบกับปัญหาการลดลงอย่างมากของการส่งออก และอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ โดยคาดว่า GDP จะลดลงประมาณ 0.7% – 1.5% นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติอีกประมาณ 0.4% ทั้งในปี 2025 และ 2026 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2025 และ 2026 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% และ 3.1% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดไว้ที่ 2% และการอ่อนค่าของเงินยูโรจากมาตรการดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อแย่ลง
ทั้งนี้ เราควรต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ว่าการส่งออกสินค้าของไทยมายังเนเธอร์แลนด์อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม แต่สถานการณ์สงครามการค้าย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกให้เกิดการชะลอตัว ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าส่งออกของไทย ประกอบกับหากเงินยูโรอ่อนค่าลง ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาด อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมาตรการตอบโต้ของสหภาพยุโรป ความยืดหยุ่นและความผันผวนของความต้องการสินค้าไทย และความสามารถในการปรับตัวของผู้ส่งออกไทยต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การค้าโลก
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก