เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2568 รัฐบาลเปรูได้ประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 1 เป็นระยะเวลา 60 วัน ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 338 เขต ทั่วประเทศ รวมทั้ง กรุงลิมา และ Callao เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักส่งผลให้เกิดดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน การกัดเซาะริมฝั่งแม่น้ำ สะพานถล่ม การสูญหายของทรัพย์สิน โดยเฉพาะในพื้นที่เชิงเขา และพื้นที่ห่างไกลจากเมือง โดยการประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติภัยและภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้มาตรการ[1]จำเป็นตอบสนองต่อเหตุด่วนได้ทันท่วงทีในพื้นที่ที่มีการกำหนดในมาตรการนั้น โดยสามารถลดขั้นตอนด้านการบริหารที่อาจทำให้การตัดสินใจแก้ไขปัญหาล่าช้า เช่น การอพยพผู้คนในเขตอันตราย การเปิดใช้งานที่พักพิงชั่วคราว การส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การระดมทีมกู้ภัย เป็นต้น[2] ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 สถาบันป้องกันพลเรือนแห่งชาติ (National Institute of Civil Defense: INDECI) ได้รายงานว่าผู้ได้รับผลกระทบและทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ถูกทำลายจากเหตุการณ์ฝนตกหนักทั่วประเทศ ประกอบด้วย
– ประชาชนจำนวนมากกว่า 57,000 คน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย
– บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายมีจำนวนกว่า 27,000 หลังคาเรือน โรงเรียนได้รับความเสียหาย 79 แห่ง และศูนย์สุขภาพ 14 แห่ง
– ถนนในเขตเมืองและท้องถิ่นได้รับความเสียหายรวมระยะทางกว่า 1 ล้านเมตร สะพานจำนวนกว่า 200 แห่งได้รับความเสียหาย
– รายงานเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศจำนวนกว่า 1,770 ครั้ง
ทั้งนี้ สถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 60 วัน ตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาของเปรู[3] (National Service of Meteorology and Hydrology of Peru: SENAMHI) ทำให้รัฐบาลเปรูออกประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 2 และ 3 ซึ่งมีการเพิ่มเติมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ในเทือกเขาแอนดีสที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด
ล่าสุดในเดือนมีนาคม 2568 พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติรวมจำนวนกว่า 659 เขตทั่วประเทศ เนื่องจากดินถล่มเป็นวงกว้าง น้ำท่วมหนักใน 20 แคว้นจากทั้งหมด 24 แคว้นของเปรู ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนกว่า 57,000 คน โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและบ้านเรือนได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ มีผู้สูญหายจำนวน 9 คน และเสียชีวิตจำนวน 62 คน[1]
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
ปริมาณฝนที่ตกหนักในเปรูในปีนี้ มีสาเหตุจากความแปรปรวนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันตามพื้นที่ ซึ่งการเกิดฝนตกหนักในเปรูระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการผลิตในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของเปรู ได้แก่
- ผลผลิตทางการเกษตรลดลง เนื่องจากน้ำท่วมและดินถล่มสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูกเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพืชหลักของเปรู เช่น ข้าวโพด และมันฝรั่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้จำนวนผลผลิตทางการเกษตรดังกล่าวมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
- ความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงส่งผลให้ราคาสินค้าดังกล่าวสูงขึ้น
- การชะงักงันของกิจกรรมทางการเกษตร โดยการเกษตรกรรมเป็นแหล่งรายได้หลักของครัวเรือนชาวเปรูคิดเป็นเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของครัวเรือนทั้งหมดของประเทศ การชะงักงันดังกล่าว เช่น การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงรายได้และการดำรงชีวิตของครัวเรือนที่ประกอบการเกษตรกรรม
- ความไม่มั่นคงของตลาด เนื่องจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงและการหยุดชะงักของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานด้านการผลิต ส่งผลความไม่แน่นอนของราคาและการส่งมอบสินค้าในตลาด
- การพังทลายของหน้าดิน น้ำท่วมกัดเซาะหน้าดินส่งผลกระทบต่อสารอาหารจำเป็นในดินที่ลดลง ทำให้การเพาะปลูกในรอบการเกษตรต่อไปอาจไม่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพหรือปริมาณตามที่ต้องการ
- ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลเสียต่อโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร เช่น ระบบชลประทาน สถานที่เก็บพืชผลทางการเกษตร อุปกรณ์ทางการเกษตร เป็นต้น
จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้เปรูจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ เช่น อาหาร วัสดุก่อสร้าง และสินค้าจำเป็นอื่น ๆ จากการสืบค้นข้อมูลของ สคต.ฯ พบว่า เปรูมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากประเทศต่าง ๆ ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยประเทศที่เปรูนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในเดือนมกราคม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และอุรุกวัย ตามลำดับ ในขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เปรูนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นมากที่สุดจาก ไทย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 600.75 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) บราซิล และอุรุกวัย ตามลำดับ โดยข้าวที่ไทยส่งออกไปยังเปรู ได้แก่ ข้าวกึ่งสีหรือข้าวสีเต็ม (พิกัดศุลกากร 10063000)
นอกจากการนำเข้าสินค้าอาหารแล้ว เปรูจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอื่น ๆ สำหรับการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน และอาคาร บ้านเรือน เช่น ในหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ รถบรรทุก (พิกัดศุลกากรที่ 87) เครื่องจักรกล (พิกัดศุลกากรที่ 84) เหล็กกล้า (พิกัดศุลกากรที่ 73) ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (พิกัดศุลกากรที่ 44) รวมทั้ง เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ (พิกัดศุลกากรที่ 85) จากการสืบค้นข้อมูลของ สคต.ฯ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 เปรูนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นในกลุ่มของ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เม็ดพลาสติก สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ข้าวโพด โดย สคต.ฯ คาดว่าในปีนี้เปรูมีความต้องการนำเข้าสินค้าจำเป็นเพิ่มขึ้นจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เปรูนำเข้าสินค้า และหากผู้ประกอบการไทยสามารถเสนอสินค้าที่มีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ จะช่วยสนับสนุนโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังเปรูเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เช่น ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าต่าง ๆ ที่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น
_________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
เมษายน 2568
[1] Government of Peru official website – https://www.gob.pe/institucion/pcm/noticias/1119690-ejecutivo-emitira-cuarto-decreto-supremo-que-declarara-estado-emergencia-en-otros-90-distritos-por-lluvias-intensas
A radio and television broadcasting company in Peru – https://rpp.pe/politica/gobierno/gobierno-declaro-en-emergencia-164-distritos-de-lima-y-otras-20-regiones-del-pais-por-intensas-lluvias-noticia-1618782?ref=rpp
[1] This measure was formalized through Supreme Decree No. 007-2025-PCM, published in a special edition of the official gazette “El Peruano.”
[2] A humanitarian information portal – https://reliefweb.int/disaster/fl-2025-000022
[3] Government of Peru official website – https://www.gob.pe/institucion/pcm/noticias/1089267-ejecutivo-declara-estado-de-emergencia-en-338-distritos-de-20-regiones-para-promover-respuesta-articulada-ante-lluvias https://reliefweb.int/report/peru/unicef-peru-flash-update-no-1-heavy-rainfall-floods-february-2025