ประเทศใดจะเจ็บหนักที่สุดจากภาษีใหม่ของสหรัฐฯ

เนื้อหาสาระข่าว: ประเทศเหล่านี้คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหม่ในวงกว้างของรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้พึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก และสินค้าจำนวนไม่น้อยยังต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงเป็นพิเศษ (ดูตารางท้ายรายงาน)

ประเทศส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดกลับเป็นพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม ไทย และกัมพูชา ได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาตัวเองให้เป็นทางเลือกใหม่แทนจีนในฐานะศูนย์กลางการผลิตสินค้าประเภทกระเป๋า อิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า และชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีปลายทางอยู่ที่สหรัฐฯ แต่ในขณะนี้ ประเทศเหล่านี้กำลังเผชิญกับมาตรการทางภาษีที่หนักหน่วงที่สุดกลุ่มหนึ่ง

กลุ่มที่สองที่ได้รับผลกระทบคือคู่ค้ารายใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และสหภาพยุโรป แม้เศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ น้อยกว่า แต่พวกเขายังคงเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระดับสูง (ดูตารางท้ายรายงาน)

ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงอัตราภาษีนำเข้าที่รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยกำหนดภาษีนำเข้ากับประเทศและภาคเศรษฐกิจต่างๆ มาบ้างแล้ว แต่โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า

แคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งต่างก็พึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ ต่างได้รับการยกเว้นจากมาตรการภาษีนำเข้าใหม่ที่ประกาศเมื่อวันพุธ แต่ยังคงต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าร้อยละ 25 ที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำหนดไว้กับสินค้าหลายประเภทจากเดือนที่ผ่านมา นอกเหนือจากภาษีอื่นๆ ที่กำหนดกับสินค้าประเภทเหล็ก อะลูมิเนียม และรถยนต์ ซึ่งภาษีสินค้ารถยนต์มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (ดูตารางท้ายรายงาน)

ประธานาธิบดีทรัมป์กำหนดภาษีนำเข้าขั้นต่ำที่ร้อยละ 10 กับประเทศคู่ค้าแทบทุกประเทศที่ไม่ได้ถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่านี้

แม้แต่ประเทศที่หลีกเลี่ยงการถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสุดก็ยังคงเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่าการเพิ่มภาษีดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดความไม่แน่นอนและความผันผวนอย่างสูง โดยเฉพาะบริษัทในยุโรปอาจประสบปัญหาในการแข่งขันกับสินค้าจีนราคาถูกจำนวนมากที่ถูกเปลี่ยนเส้นทางมาจากตลาดสหรัฐฯ

นางสาวจายาติ โกช นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์สต์ กล่าวว่า “แม้ประเทศที่ไม่ได้ถูกเก็บภาษีในอัตราสูง ก็จะเผชิญกับความยุ่งยากทางเศรษฐกิจเช่นกัน” เนื่องจากภาษีเหล่านี้จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักและสร้างความไม่แน่นอนอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เกิดการลงทุนลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจถดถอย และการจ้างงานลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ดูตารางด้านล่างนี้)

ประเทศใดจะเจ็บหนักที่สุดจากภาษีใหม่ของสหรัฐฯ
* หากสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไขเรื่องต้นกำเนิดในความตกลง USMCA (USMCA rules of origin) จะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร ยกเว้นแต่สินค้าที่ระบุอัตราภาษีเฉพาะเป็นอย่างอื่น
หมายเหตุ: ทำเนียบขาวได้เผยแพร่อัตราภาษีนำเข้าที่ขัดแย้งกันสำหรับบางประเทศ ตัวเลขที่นำเสนอนี้อ้างอิงตามประกาศคำสั่งบริหารของประธานาธิบดี โดยข้อมูลในแผนภูมิแสดงถึงระบบเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2024 ตัวเลขทางการค้าและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อ้างอิงข้อมูลปี ค.ศ. 2024 ยกเว้นศรีลังกา ซึ่งใช้ตัวเลข GDP ล่าสุดจากปี ค.ศ. 2023
ที่มา: คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (United States International Trade Commission), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund), ทำเนียบขาว (White House), ธนาคารโลก (World Bank)
ผู้ร่วมรายงานข่าว: Lazaro Gamio, Alexandra Stevenson และ Patricia Cohen

บทวิเคราะห์: คำถามที่บรรดาผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้ามายังตลาดสหรัฐฯ ต้องการคำตอบมากที่สุดในขณะนี้ คือ สินค้าที่นำเข้าจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเท่าใดและผู้นำเข้าในสหรัฐฯ จะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการประกาศอัตราภาษีใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ซึ่งคำตอบที่แน่นอนที่สุดนั่นก็คือ ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าก่อนหน้านี้แล้วถึงความไม่แน่นอนด้านมาตรการนำเข้าของสหรัฐฯ และได้มีการสั่งซื้อสินค้าเข้าเป็นสต๊อกล่วงหน้าเพื่อกระจายความเสี่ยงซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าการค้าที่เกินดุลในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดจากมาตรการด้านภาษีต่างตอบแทนดังกล่าวจะส่งผลให้มีการสั่งซื้อน้อยลงหรือชะลอการนำเข้าออกไประยะหนึ่งเพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบ ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ของผู้ประกอบการไทย หากแต่มาตรการด้านภาษีต่างตอบแทนไม่ได้จัดเก็บเฉพาะประเทศไทยเท่านั้นแต่จัดเก็บกับอีกหลายประเทศที่เป็นคู่ค้ากับสหรัฐฯ และในอัตราภาษี ontop ที่แตกต่างกันโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้เผยแพร่คู่มือไว้ให้ทุกประเทศเอากลับไปศึกษาก่อนตามที่สำนักผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้เผยแพร่สู่สาธารณะบนเว็บไซต์เป็นไฟล์แบบ Acrobat (.pdf) ที่ https://ustr.gov/sites/default/files/files/Press/Reports/2025NTE.pdf โดยรายละเอียดเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่ในหน้าที่ 339 ซึ่ง สคต. ไมอามีได้แปลไว้ดังที่ได้แสดงไว้ท้ายเอกสารฉบับนี้

โดยในเบื้องต้น พอจะสันนิษฐานไว้ได้ว่า ก็ยังไม่แน่ที่จะมีการบังคับใช้จริงตามเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ ทั้งนี้อาจยังมีโอกาสที่การเจรจาโดยรัฐบาลของประเทศที่ได้รับผลกระทบกับท่านประธานาธิบดีทรัมป์ อาจพลิกสถานการณ์ได้หากมีโอกาสได้เจรจาอย่างทันท่วงที ซึ่งต้องยอมรับว่าเฉพาะจำนวนประเทศที่เรียงไว้ในตารางข้างบนนี้ ก็มีถึง 63 ประเทศในขณะที่กรอบเวลามีเพียงไม่กี่วันเท่านั้น หากสามารถเข้าถึงได้ทัน ก็แน่นอนว่าสหรัฐฯ ย่อมมีอำนาจต่อรองสูงมาก ด้วยกรอบเวลาที่จำกัดนั้นเอง การเจรจาที่จะจบลงได้เร็วอย่างทันท่วงที ย่อมต้องเป็นการยอมตามเงื่อนไขที่ถูกเรียกร้องง่ายๆ หรือมีข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ลงไว้ก่อนการเจรจาอยู่แล้วเท่านั้น และหากตกลงกันได้ ด้วยศักยภาพในการออกคำสั่งแบบเฉียบขาดภายในประเทศนั้นต้องยกให้ท่านประธานาธิบดีท่านนี้ที่น่าจะมีเพียงท่านเดียวที่สามารถปรับเปลี่ยนท่าทีได้แบบฉับพลันทันที หากการเจรจาเป็นไปในทิศทางที่น่าพอใจ

การเจรจาระหว่างประเทศนั้น มีธรรมเนียม ระเบียบ แบบแผนและกระบวนการทางการทูตแบบมาตรฐานสากลที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ก็น่าสงสัยก็คือว่าในยุคแห่ง Disruption อย่างทุกวันนี้ การเจรจากับท่านประธานาธิบดีที่เป็นนักเจรจา เป็นผู้บริหารในแนวทางแบบหวังผลสำเร็จเป็นสำคัญ (result-oriented) โดยมักไม่ได้ใส่ใจในธรรมเนียมปฏิบัติแบบดั้งเดิมที่ผู้นำท่านอื่นๆ และบรรดานักการทูตต่างเคยยึดถือเป็นสรณะ การเจรจาครั้งนี้อาจต้องใช้วิธีแบบเอกชน ที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจมาคุยกันครั้งเดียวแล้วสรุปจบทันที ซึ่งอาจสวนทางกับแบบแผนตามกระบวนการของระบบราชการ หากมองย้อนไปในอดีตถึงพฤติกรรมและแนวคิดของท่านประธานาธิบดีท่านนี้จากวิธีตัดสินใจและดำเนินการจากที่เคยจัดรายการ The Apprentice ประกอบกับแนวคิด ข้อเสนอและความคิดเห็นต่างๆ ที่ท่านเคยแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ น่าจะเป็นแนวทางที่อาจต้องศึกษาเสียก่อนการเจรจา

ต่อคำถามที่ว่าใครจะเจ็บหนักที่สุดในการปรับภาษีศุลกากรสำหรับคู่ค้าของสหรัฐฯ ทั่วโลกในครั้งนี้ตามชื่อเรื่องบทความนี้ กลับมาที่คำถามว่าประเทศใดจะเจ็บหนักที่สุด ที่หยิบบทความนี้มาเผยแพร่เพราะเหตุที่หยิบเอาตัวชี้วัดถึงผลความรุนแรงอันอาจจะเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยที่สามารถสะท้อนถึงผลได้ชัดเจนที่สุด อันได้แก่สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (ชี้ถึงระดับการพึ่งพาต่อตลาดสหรัฐฯ) และอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ อย่างประเทศในทวีปอเมริกาและแถบทะเลแคริบเบียน ที่ค่าขนส่งเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันให้ เมื่อเทียบกับแหล่งสินค้าที่อยู่ในซีกโลกตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ อย่างประเทศในเอเชีย และกลุ่มประเทศอาเซียน หากต้องชำระภาษีศุลกากรในอัตราดังกล่าวจริงๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 12 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะผ่องถ่ายมูลค่าการส่งออกที่แต่เดิมเข้าสู่สหรัฐฯ ไปยังตลาดในประเทศทางเลือกอื่นๆ ได้

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: หากมองในมุมที่เป็นบวก อาจจะเห็นว่าประเทศไทยยังมีอัตราภาษีต่างตอบแทนที่น้อยกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน และเมื่อมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ประเทศไทยอาจจะต้องมีการเจรจาต่อรองเพื่อบริหารจัดการอัตราภาษีนำเข้าไปยังสหรัฐฯ ให้ลดลงได้ในระยะสั้น ขณะที่สินค้าไทยอาจจะสามารถขยายเข้าไปกินส่วนแบ่งตลาดของประเทศอื่นๆ ที่โดนอัตราภาษีต่างตอบแทนที่มากกว่าได้

สำหรับประเทศที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากถึงร้อยละ 12 ของ GDP อย่างประเทศไทยของเรา สถานการณ์นี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นภัยพิบัติทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและฉับพลัน แต่เป็นภัยพิบัติที่ทราบล่วงหน้า ในกรอบระยะเวลาที่สั้นมากๆ แม้เทศกาลวันหยุดที่สำคัญของไทยกำลังใกล้จะมาถึงในไม่ช้า แต่เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกำลังทำงานกันอย่างหนัก เพื่อหาข้อมูลและศึกษาทางแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่กำลังจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งนี้ ก็น่าจะต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ เหมือนลงเรือลำเดียวกัน

สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยทุกรายต้องเร่งดำเนินการเพื่อรับมือสถานการณ์เช่นนี้ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องดำเนินการเชิงรุก โดยเน้นการกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพาตลาดเดียว มองหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการตลาด พร้อมกับใช้กลยุทธ์เชิงพันธมิตรและเพิ่มคุณค่าในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการทุกท่านน่าจะตระหนักถึงความจำเป็นและดำเนินการกันไปบ้างแล้วไม่มากก็น้อย

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยกำลังพยายามแก้ไขปัญหาด้านการค้ากับสหรัฐฯ สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะต้องเผชิญกับผลกระทบโดยตรง พอจะทำได้และอาจเป็นแรงสนับสนุนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งจนอาจพาให้ประเทศไทยผ่านพ้นภัยพิบัตินี้ไปได้โดยสวัสดิภาพ ก็คือการรวมตัวกันทั้งในรูปแบบองค์กร สมาคมหรือกลุ่มบริษัทต่างๆ พิจารณาจุดแข็งจุดอ่อน ร่วมกันประเมินผลกระทบ ร่วมกันหาทางออก พิจารณาถึงความเป็นไปได้ต่างๆ อันอาจจะมาช่วยบรรเทาหรือชะลอผลกระทบ และทางเลือกต่างๆ ที่บรรดาผู้ประกอบการสามารถรับได้ หรือพร้อมจะดำเนินการเพื่อลดผลกระทบ รวมถึงความช่วยเหลือและแนวทางการเยียวยาที่ทางภาครัฐ พอจะช่วยเหลือได้อย่างสมเหตุสมผล อีกทั้งควรมองหาแรงสนับสนุนจากคู่ค้าในสหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานในการส่งเสียงให้ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับทราบถึงผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการสหรัฐฯ เองด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาที่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องพยายามรักษาระดับความนิยมในหมู่ประชากร โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นฐานเสียงของฝั่งที่กำลังเป็นผู้นำรัฐบาลอยู่นี้ หากพวกเขาได้รับผลกระทบด้วยย ก็ต้องกระตุ้นอย่าให้เขาเงียบอยู่เฉยๆ แล้วทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้รัฐบาลได้รับทราบถึงความยากลำบากที่ต้องเผชิญด้วย

ขณะเดียวกัน ภาครัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนด้านข้อมูล การตลาด และด้านการเงิน รวมถึงการเจรจาเชิงนโยบายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยอย่างมีประสิทธิผลที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมีแรงสนับสนุนอย่างร่วมแรงร่วมใจกันจากภาคอกชน เชื่อว่าแรงสนับสนุนดังกล่าวจะช่วยให้ทั้งผู้ประกอบการและประเทศของเราสามารถผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปได้โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

*********************************************************

ที่มา: The New York Times
เรื่อง: “Where Trump’s Tariffs Will Hit Hardest”
โดย:  Agnes Chang และ Josh Holder
สคต. ไมอามี /วันที่ 3 เมษายน 2568
thThai