เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2025 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา ได้สร้างแรงสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจโลกด้วยการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรใหม่ โดยกำหนดให้สินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปทั้งหมดต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2025 เป็นต้นไป

 

แม้ว่าสเปนจะไม่ใช่ประเทศสมาชิก EU ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากมาตรการนี้ แต่สินค้าหลักบางประเภท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและยานยนต์ กลับมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวน์ น้ำมันมะกอก และผลิตภัณฑ์จากนม โดยสหรัฐอเมริกานับเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 6 ของสเปน รองจากฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี โปรตุเกส สหราชอาณาจักร ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.6 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในปี 2024

 

สเปนคาดนโยบายทรัมป์กระทบส่งออกสินค้าเกษตร เสี่ยงฉุดท่องเที่ยว

 

จากรายงานของกระทรวงเกษตร ประมง และอาหารของสเปนระบุว่า ในปี 2024 สเปนส่งออกสินค้าเกษตรและประมงไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.8 ของการส่งออกทั้งหมด ทำให้สเปนเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและประมงไปยังตลาดอเมริกันมากเป็นอันดับหกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ สินค้าหลักที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ไวน์ น้ำมันมะกอก และชีส โดยเฉพาะไวน์และน้ำมันมะกอกที่ทรัมป์จะเพิ่มภาษีเป็นร้อยละ 200 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสเปนในตลาดอเมริกันอย่างชัดเจน ปัจจุบัน สเปนเป็นผู้ส่งออกไวน์รายใหญ่อันดับสี่ไปยังสหรัฐฯ และสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับสองของไวน์สเปน โดยในปี 2024 มูลค่าการส่งออกไวน์ของสเปนไปยังสหรัฐฯ สูงกว่า 330 ล้านยูโร ขณะที่น้ำมันมะกอกของสเปนซึ่งครองตำแหน่งผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก มีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57.7 ตั้งแต่ปี 2022 สำหรับผลิตภัณฑ์นม สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับสามของชีสจากสเปน โดยมีมูลค่าส่งออกมากกว่า 120 ล้านยูโรในปีเดียวกัน

 

สเปนคาดนโยบายทรัมป์กระทบส่งออกสินค้าเกษตร เสี่ยงฉุดท่องเที่ยว

 

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และเหล็กกล้า แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก แต่ก็ได้รับแรงกดดันจากมาตรการภาษีร้อยละ 25 ที่สหรัฐฯ ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม โดยมาตรการนี้ครอบคลุมยานยนต์ที่ผลิตจากต่างประเทศ รวมถึงเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม ซึ่งส่งผลต่อผู้ผลิตสเปนโดยตรง ตัวเลขจากสมาพันธ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าแห่งชาติ (UNESID) ระบุว่า การส่งออกเหล็กจากสเปนไปยังสหรัฐฯ ในปี 2024 มีมูลค่า 518 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 3.3 ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนการส่งออกรถยนต์มีมูลค่ารวม 400 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 2.2

 

รายงานจากคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมของแคว้นปกครองตนเอง (CCOO) ระบุว่า แคว้นอันดาลูเซียและแคว้นบาเลนเซียเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นผู้ผลิตหลักของสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีใหม่ โดยในปี 2024 สัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ของอันดาลูเซียคิดเป็นร้อยละ 8.3 ของการค้าทั้งหมดของแคว้น ขณะที่  บาเลนเซียอยู่ที่ร้อยละ 8.8 สินค้าหลักที่ส่งออกจากแคว้นเหล่านี้ ได้แก่ น้ำมันมะกอก ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ และหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งล้วนมีความพึ่งพิงตลาดอเมริกันสูง

 

แม้ว่าผลกระทบจากภาษีดังกล่าวจะมุ่งเป้าไปยังกลุ่มสินค้าเด่นเพียงบางส่วน แต่นักวิเคราะห์หลายรายเตือนว่า ผลกระทบจะลุกลามไปถึงภาคส่วนอื่น เช่น อุตสาหกรรมยา เวชภัณฑ์ เครื่องจักรกล และสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มว่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะชะลอลงตามไปด้วย โดยคาดการณ์กันว่า มาตรการภาษีใหม่อาจทำให้เศรษฐกิจสเปนสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ร้อยละ 0.2 ในกรณีที่ความตึงเครียดทางการค้ารุนแรงขึ้น

 

ศาสตราจารย์เออร์เนสโต กัมโปส ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการคลังประจำมหาวิทยาลัยนานาชาติวาเลนเซีย กล่าวว่าผลกระทบโดยตรงต่อสเปนอาจยังจำกัด เนื่องจากมีเพียงประมาณร้อยละ 5 ของการส่งออกของสเปนที่ไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์กัมโปสเตือนว่าภาคอาหารและการเกษตรจะได้รับผลโดยตรงมากที่สุด โดยเฉพาะในแคว้น อันดาลูเซีย มูร์เซีย และกาตาลุญญา

 

กัมโปสยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจของสเปนพึ่งพาการท่องเที่ยวมากกว่าการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่า ความเสี่ยงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นหากมาตรการภาษีดังกล่าวนำไปสู่ภาวะถดถอยในยุโรป และส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาสเปนลดลง

 

ปัจจุบันรัฐบาลสเปนอยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อหาทางรับมืออย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องภาคส่วนที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และดำรงความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในตลาดโลก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนำให้สเปนดำเนินมาตรการร่วมกับสหภาพยุโรป แทนที่จะดำเนินนโยบายเดี่ยว เพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนหรือความขัดแย้งด้านยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาค

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

นโยบายของสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณเตือนแนวโน้มสงครามการค้าในระดับโลกที่กำลังขยายตัวขึ้น กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ต้องเร่งเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้ากับสเปนควรติดตามและหารือกับคู่ค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมประเมินความเสี่ยง กระจายตลาด และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่หลากหลายและยั่งยืนยิ่งขึ้นในระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีแผนขยายการลงทุนในธุรกิจบริการหรือ HORECA   ในสเปน ควรประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงเพิ่มเติมเป็นพิเศษ โดยเฝ้าระวังทิศทางตลาดและบรรยากาศทางเศรษฐกิจโดยรวมของตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญของสเปน อาทิ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

เมษายน 2568

ที่มา: Europa Press / Global Trade Atlas

thThai