ภายหลังการประกาศใช้มาตรการ “Reciprocal Tariff” ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 นาง Ursula Von Der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกแถลงการณ์ทันทีเพื่อสะท้อนความเห็นและข้อห่วงกังวลของสหภาพยุโรปต่อการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าว โดยเห็นว่า Reciprocal Tariffs จะสร้างความเสียหายและความไม่แน่นอนให้กับระเบียบเศรษฐกิจของโลก และนำไปสู่การเพิ่มมาตรการปกป้องทางการค้า อัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนส่งผลกระทบกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ สหภาพยุโรปพร้อมที่จะใช้มาตรการตอบโต้กับสหรัฐฯ โดยได้เตรียมมาตรการขึ้นภาษีกับเหล็กกล้านำเข้าจากสหรัฐฯ ไว้แล้วเป็นมาตรการแรก และอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการตอบโต้อื่นๆ เพิ่มเติมหากการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปพร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว โดยได้มอบหมายนาย Maroš Šefčovič คณะกรรมาธิการด้านการค้าและความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นผู้แทนหารือกับสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปจะพิจารณามาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมของยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของสหรัฐฯ ผ่านกลไกหารือ “Strategic Dialogues” กับภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของยุโรป อาทิ เหล็กและโลหะ รถยนต์ และยาและเวชภัณฑ์

 

นาย Bernd Lange ประธานคณะกรรมการด้านการค้าระหว่างประเทศของรัฐสภายุโรป (INTA) ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นว่า การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคในอเมริกาและยุโรป รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ทั้งนี้ เห็นว่าการเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้ากับสหภาพยุโรปในอัตราร้อยละ 20 ไม่เป็นธรรมและขัดกับหลักการของกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (Unjustified, illegal and disproportionate) ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการผลิตของอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำลายบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและตลาดทุน ดังนั้น สหภาพยุโรปจำเป็นจะต้องตอบโต้มาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ โดยจะใช้มาตรการที่ไม่ขัดต่อกฎหมายการค้าระหว่างประเทศและเป็นไปตามหลักการการได้สัดส่วน (proportionality) และตามขั้นตอนที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ ประธาน INTA แสดงความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ สมัยที่ 2 จะสนใจหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันกับสหภาพยุโรปหรือไม่ อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้มีการหารือ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย

 

นาย Antonio Costa ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป แสดงความเห็นว่า สหภาพยุโรปจะยังคงยืนยันหลักการการค้าระหว่างประเทศที่สนับสนุนการค้าเสรีและเป็นธรรม พร้อมย้ำความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะดำเนินการให้สัตยาบันความตกลงเขตการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศ MERCOSUR (ประกอบด้วย อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย) และเม็กซิโก รวมถึงเร่งเจรจากับอินเดีย และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว

 

นาย Micheál Martin นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ แสดงความเห็นว่า ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อพิจารณามาตรการตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อยู่บนหลักการการได้สัดส่วน และมุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ แรงงาน และประชาชนของสหภาพยุโรปเป็นสำคัญ ในขณะที่นาย Giancarlo Giorgetti รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอิตาลี ขอให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะตอบโต้การขึ้นอัตราภาษีของสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดที่นำไปสู่สงครามการค้าระหว่างกันในอนาคต สอดคล้องกับนาย Carlos Cuerpo รัฐมนตรีเศรษฐกิจสเปน ที่เรียกร้องให้สหภาพยุโรปเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ให้ได้ข้อสรุปร่วมกันโดยเร็ว

 

นาย Ignacio Garcia Bercero นักวิชาการสถาบัน Bruegel อดีตหัวหน้าคณะเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีสหภาพยุโรป-สหรัฐฯ เสนอให้สหภาพยุโรปจะต้องพิจารณามาตรการตอบโต้ที่เจาะจงไปยังสินค้าที่จะสร้างผลกระทบ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการเมืองในสหรัฐฯ ให้มากที่สุด ซึ่งอาจรวมถึงการพิจารณามาตรการจำกัด การเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของบริษัทสหรัฐฯ ในสหภาพยุโรป หรือมาตรการจำกัดการเข้าสู่ตลาดของบริการสหรัฐฯ ในสหภาพยุโรปในสาขาสำคัญ เช่น การเงิน เทคโนโลยี เป็นต้น

 

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (European Council) ได้เรียกประชุมวิสามัญพิเศษ (Extraordinary Trade Ministerial Meeting) ระหว่างรัฐมนตรีการค้าของประเทศสมาชิก เพื่อหารือแนวทางและท่าทีตอบโต้ร่วมกันของสหภาพยุโรปต่อมาตรการของสหรัฐฯ รวมถึงหารือเกี่ยวกับแนวทางการรับมือสินค้าจากประเทศจีนที่อาจทะลักเข้ามายังสหภาพยุโรปภายหลังการขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งจะเป็นผลกระทบทางอ้อม (indirect Effect) จากการประกาศใช้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ต่อสหภาพยุโรป ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าที่จะอยู่ในมาตรการตอบโต้ของสหภาพยุโรปต่อสหรัฐฯ จะครอบคลุมเนื้อสัตว์ ธัญพืช เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ไวน์) เครื่องนุ่งห่ม หมากฝรั่ง ไหมขัดฟัน เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องดูดฝุ่น) และกระดาษทิชชู่ เป็นต้น รวมมูลค่าประมาณ 28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าสหภาพยุโรปเห็นชอบชุดมาตรการตอบโต้ดังกล่าว คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจะเสนอให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้ความเห็นชอบในวันพุธที่ 9 เมษายน 2568 โดยจะต้องได้รับการเห็นชอบจากประเทศสมาชิกฯ 15 ประเทศ (ครอบคลุมประชากรรวมมากกว่าร้อยละ 65 ของประชากรรวมของสหภาพยุโรปขึ้นไป) ทั้งนี้ สหภาพยุโรปจะแบ่งมาตรการตอบโต้ออกเป็น 2 ชุด ได้แก่ ชุดแรกที่มีความครอบคลุมน้อยกว่าตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2568 เป็นต้นไป (มุ่งเน้นตอบโต้การขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม) และชุดที่สองภายในเดือนพฤษภาคม 2568 หากการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ

 

ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการด้านการค้าและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นาย Maroš Šefčovičกล่าวว่า การเจรจากับสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก ซึ่งสหภาพยุโรปต้องการให้มีการเจรจาร่วมกันอย่างเร่งด่วน โดยปัจจุบันท่าทีของสหภาพยุโรปต่อการเจรจากับสหรัฐฯ จะมี 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ (1) Defend (ปกป้อง) ประโยชน์ของเอกชนยุโรปผ่านมาตรการตอบโต้ที่อยู่ระหว่างเสนอประเทศสมาชิกให้ความเห็นชอบ (2) Diversify (กระจายความเสี่ยง) ไปยังประเทศคู่ค้าอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินความเป็นไปได้ในการเร่งการเจรจาความตกลง FTA กับประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และภูมิภาคอ่าว (Gulf) และ (3) Defer Trade Diversion (ชะลอ/ป้องกันการเบี่ยงเบนทางการค้า) ผ่านการใช้มาตรการเพื่อปกป้องตลาดเดียว (Single Market) อย่างเข้มงวด โดยจะติดตามข้อมูลนำเข้าแบบ Real Time ใช้ระบบข่าวกรองเชิงลึกและจัดตั้งทีมเฉพาะกิจ (Task Force) เพื่อตอบสนองอย่างรวดเร็ว และในระหว่างนี้สหภาพยุโรปจะเจรจากับสหรัฐฯ โดยได้เตรียมเสนอที่จะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อบรรลุข้อตกลงลดภาษีเป็นศูนย์ “Zero-for-Zero tariffs for industrial goods” สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ ยา เคมีภัณฑ์ พลาสติก เป็นต้น

 

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 นาง Ursula Von Der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดประชุมหารือกับผู้แทนอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและรถยนต์ของยุโรป เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคอุตสาหกรรมประกอบการพิจารณามาตรการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ที่จะเสนอให้ประเทศสมาชิกให้ความเห็นชอบในวันพุธที่ 9 เมษายน โดยในระหว่างการหารือกับผู้แทนอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ภาคเอกชนเหล็กกล้าของยุโรปได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปพิจารณาแนวทางรับผลกระทบทางอ้อมจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงเสนอให้ใช้มาตรการเพื่อจำกัดการส่งออกเศษเหล็กและโลหะไปยังประเทศที่สาม ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปอาจพิจารณากำหนดอากรส่งออก (Export Duty) กับเศษเหล็กที่ส่งออกจากสหภาพยุโรปไปยังประเทศที่สามในอนาคตอันใกล้

 

บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.

 

การประกาศใช้มาตรการภาษีใหม่ภายใต้กรอบ “Reciprocal Tariffs” ของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ครอบคลุมสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปทุกรายการในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งถือเป็นการขยายมาตรการทางภาษีต่อเนื่องจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตราร้อยละ 25 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 และภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหภาพยุโรปในอัตราร้อยละ 25 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 จากการประเมินของธนาคาร Deutsche Bank พบว่ามาตรการภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหภาพยุโรปในปี 2568 เหลือเพียงร้อยละ 0.25-0.5 จากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ร้อยละ 0.8 ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวยังส่งผลย้อนกลับต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง โดย Deutsche Bank ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ในปีเดียวกันลงเหลือร้อยละ 1 จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.2 การประเมินนี้สอดคล้องกับรายงานของ The Conference Board ซึ่งระบุว่า GDP ของสหภาพยุโรปจะลดลงประมาณร้อยละ 0.2 ขณะที่สหรัฐฯ อาจเผชิญกับการหดตัวของเศรษฐกิจถึงร้อยละ 1.2 แสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อทั้งสองฝ่ายมากกว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 

มาตรการตอบโต้ของสหภาพยุโรปที่อยู่ระหว่างพิจารณาจะขยายขอบเขตของมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าใหม่ เช่น กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงขยายไปสู่การค้าบริการ การลงทุน ตลอดจนมาตรการจำกัดการเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของบริษัทสหรัฐฯ ในสหภาพยุโรปเพิ่มเติม สะท้อนจากถ้อยแถลงของนาง Ursula Von Der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปต่อรัฐสภายุโรปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศใช้มาตรการอย่างเป็นทางการ โดยนาง Ursula เน้นย้ำถึงศักยภาพและอำนาจการต่อรองของสหภาพยุโรป ซึ่งมีขนาดตลาดขนาดใหญ่และประชากรกว่า 450 ล้านคน ซึ่งถือเป็นแต้มต่อสำคัญในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน สำนักข่าว Politico รายงานว่า มาตรการตอบโต้ของสหภาพยุโรปอาจมุ่งเป้าไปยังบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ในภาคบริการ โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคาร เช่น Bank of America กลุ่มเทคโนโลยี เช่น Google และ Social Media X รวมถึงบริษัทค้าปลีกออนไลน์อย่าง Amazon ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจสำคัญของสหรัฐฯ

 

ท่าทีของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปตามข้างต้น สะท้อนว่าการตอบโต้ของสหภาพยุโรปจะไปในลักษณะที่รอบคอบโดยเน้นกลยุทธ์การสร้างแรงกดดันผ่านมาตรการที่มีเป้าหมายชัดเจนและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตรง ซึ่งในระยะสั้น สหภาพยุโรปจะใช้มาตรการทางภาษีและมาตรการอื่นๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ขณะที่ในระยะยาว สหภาพยุโรปจะมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น อินเดีย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และกระจายความเสี่ยงในระบบการค้าโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปจะยังคงรักษาจุดยืนในฐานะผู้เล่นหลักของระบบพหุภาคี (Multilateral System) และเน้นการใช้กติกาสากลเป็นเครื่องมือรองรับนโยบายที่อาจก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เกิดจากมาตรการของสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการพิจารณามาตรการตอบโต้กับสหรัฐฯ ทั้งในมิติความครอบคลุมสินค้าที่จะอยู่ภายใต้มาตรการ รวมถึงขอบเขตของมาตรการที่จะบังคับใช้มาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการตอบโต้การบีบบังคับ (Anti-Coercion Instrument : ACI) ซึ่งฝรั่งเศสเสนอให้ใช้ แต่บางประเทศ อาทิ ลิทัวเนีย และเนเธอร์แลนด์ คัดค้าน โดยเห็นว่าควรพิจารณามาตรการอย่างรอบคอบเพื่อลดความตึงเครียดและช่วยคลี่คลายสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ

 

ไทยควรเตรียมแผนรองรับหากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลง “Zero-for-Zero tariffs for industrial goods” ในอุตสาหกรรมที่ไทยส่งออกมายังสหภาพยุโรป เช่น รถยนต์ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ข้อเสนอภาคเอกชนเหล็กกล้ายุโรปให้ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกเศษเหล็กและโลหะ และกำหนดอากรส่งออกกับเศษเหล็กย่อมกระทบกับอุปทานและราคาวัตถุดิบของผู้ประกอบการไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรพิจารณาหาแหล่งวัตถุดิบอื่นเพิ่มเติม เพื่อความมั่นคงของวัตถุดิบเศษเหล็กและโลหะในประเทศไทย

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

thThai