อุตสาหกรรมเด่นของอินเดียที่กำลังถูกจับตามอง จากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์

การประกาศมาตรการตอบโต้ทางภาษีศุลกากรใน “วันปลดปล่อย (liberation day)” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 เม.ย.68) ได้ส่งผลกระทบต่อความคาดหวังของอินเดียเรื่องการผ่อนคลายนโยบายการค้าที่สร้างความสั่นคลอนให้กับตลาดมานานหลายสัปดาห์ อินเดียจะต้องเผชิญกับอัตราภาษีเพิ่มเติม 26% นอกเหนือจากอัตราภาษีพื้นฐานเดิม 10% ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างว่าอินเดียจัดเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐอเมริกาสูงถึง 52% ในขณะที่วอชิงตันเรียกเก็บภาษี “เกือบจะศูนย์เปอร์เซ็นต์” มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ข้อโต้แย้งดังกล่าวสอดคล้องกับรายงาน Foreign Trade Barriersของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 จากประเด็นสำคัญในรายงานดังกล่าว รวมถึงข้อสังเกตเบื้องต้นและภาคส่วนที่ถูกระบุในเอกสารสรุปข้อมูล (Fact Sheet) โดยอุตสาหกรรมอินเดียที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการล่าสุด มีดังนี้:
1. อุปกรณ์การแพทย์: สหรัฐอเมริกาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการทดสอบและการรับรองของอินเดีย โดยระบุว่าเป็น “ภาระที่ไม่จำเป็นและซ้ำซ้อน” สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) วิจารณ์สำนักงานมาตรฐานอินเดีย (BIS) ว่ากำหนดข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทำเนียบขาวประเมินว่า หากสามารถยกเลิกอุปสรรคทางการค้าเหล่านี้ได้ อาจทำให้การส่งออกของสหรัฐฯ ในหมวดอุปกรณ์การแพทย์เพิ่มขึ้นได้กว่า 5.3 พันล้านดอลลาร์ในฝั่งอินเดีย ผู้นำอุตสาหกรรมต่างแสดงความกังวล ผู้ประสานงานของสมาคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์อินเดีย (AiMed) เตือนว่า ภาษีนำเข้าเพิ่มเติมอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม อินเดียซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูงแต่ปริมาณการผลิตต่ำ อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ และบริษัท Polymedicure ชี้ว่า ความท้าทายที่แท้จริงอยู่ที่อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ต้นทุนการขออนุมัติจาก FDA ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจสูงถึงกว่า 500,000 ดอลลาร์
2. โทรคมนาคมและอุปกรณ์เครือข่าย: อินเดียจัดเก็บภาษีศุลกากร 10-20% สำหรับสินค้าและอุปกรณ์โทรคมนาคม เช่น เราเตอร์และสวิตช์ ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงใช้อัตราภาษี 0% จากจุดนี้ ทำเนียบขาวชี้ว่าอุปสรรคทางกฎระเบียบในภาคส่วนนี้คล้ายคลึงกับภาคอื่น อย่างไรก็ดี ความเห็นภายในประเทศแตกออกเป็นสองแนวทาง เช่น มุมมองจากสมาคมผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมอินเดีย (Telecom Equipment Manufacturers Association of India – TEMA) ให้ความเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ไอทีและโทรคมนาคมส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กรอบภาษีเป็น 0 % ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) การนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมของอินเดียเดิมส่วนใหญ่มาจากจีน สหรัฐฯ ส่งออกเฉพาะชิ้นส่วนประกอบ ไม่ใช่อุปกรณ์สำเร็จรูป จากจุดนี้จึงคาดว่าผลกระทบต่ออินเดียต่อธุรกิจดังกล่าวจะอยู่ในวงจำกัด ในขณะที่มุมมองจาก บริษัท Frog Cellsat แสดงความกังวลว่า ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นและห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักอาจลดขีดความสามารถแข่งขันของผู้ผลิตอินเดียในตลาดโลก เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตโทรคมนาคมเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ผลกระทบลูกโซ่อาจรุนแรงกว่าที่ประเมิน

อุตสาหกรรมเด่นของอินเดียที่กำลังถูกจับตามอง จากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์
3. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินเดียซึ่งส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยสภาส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (Gem and Jewellery Export Promotion Council – GJEPC) ได้แจ้งเตือนถึง “ผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ” ต่อการส่งออก และเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียเร่งเจรจาความตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ อนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีการค้าปลีกจาก EY India ระบุว่า ธุรกิจภาคส่วนนี้กำลังเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันระดับโลก พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และราคาทองคำที่พุ่งสูง ทั้งนี้ มาตรการภาษีใหม่อาจส่งผลกระทบต่อส่วนต่างของกำไรที่ลดลง เพิ่มความเสี่ยงด้านการจ้างงาน และการมีส่วนแบ่งตลาดโลกของอินเดีย
4.ยานยนต์และชิ้นส่วน: แม้อินเดียจะจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์สูงถึง 70% แต่ทางสหรัฐอเมริกาชี้แจงว่าสินค้ากลุ่มยานยนต์อยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามมาตรการภาษี Section 232 ที่อัตรา 25% แล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 โดยสมาคมผู้ผลิตยานยนต์อินเดีย (Society of Indian Automobile Manufacturers – SIAM) ให้ข้อมูลว่า มาตรการการขึ้นภาษีล่าสุดจะไม่ครอบคลุมสินค้ารถยนต์ เนื่องจากการส่งออกรถยนต์อินเดียไปสหรัฐฯ ยังอยู่ในวงจำกัด จึงคาดว่าผลกระทบในภาพรวมของอุตสาหกรรมจะอยู่ในระดับเล็กน้อย
5. เสื้อผ้าและสิ่งทอ: หากพิจารณาแล้วอุตสาหกรรมดังกล่าว อาจได้รับอานิสงค์เชิงบวก เนื่องจากสินค้าอินเดียถูกเก็บภาษีต่ำกว่าตลาดคู่แข่งหลัก เช่น จีน (54%) เวียดนาม (46%) และบังกลาเทศ (37%) เปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกอินเดียสามารถเข้ามาทำส่วนแบ่งตลาดได้ อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคสหรัฐฯ จากราคาสินค้าที่ปรับสูง อาจทำให้ แรงซื้อสินค้าในตลาดโลกหดตัว และโอกาสการเข้าถึงสินค้าศักยภาพมีจำกัด
ข้อมูลเพิ่มเติม
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นายกรัฐมนตรีอินเดีย (นายนเรนทรา โมดี) เยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการและมีโอกาสหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึงการจัดทำความตกลงการค้าแบบทวิภาคี (BTA) ให้แล้วเสร็จภายในฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียเปิดเผยว่า อินเดียมีแนวโน้ม แสดงท่าทีไม่ตอบโต้โดยทันที ต่อมาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่จะมุ่งเน้นไปที่การเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีศุลกากรผ่านความตกลงการค้าดังกล่าว และอินเดียเลือกเส้นทางของการเจรจาหาแนวสมดุล แทนการเผชิญหน้า พร้อมเน้นย้ำว่าอินเดียมีข้อได้เปรียบจากการเคลื่อนไหวก่อนคู่แข่งในภูมิภาค
ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและความท้าทาย
มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าอินเดียในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์การแพทย์ อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนโทรคมนาคม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าบริโภคในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษี อาจส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินรูปีอินเดีย (INR) อัตราค่าขนส่งทางทะเลสากล และต้นทุนสินค้าไทยส่งออกไปตลาดอินเดีย (Landed Cost) จะเพิ่มขึ้น
ข้อคิดเห็น
มาตรการภาษีครั้งใหม่นี้ถือเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลของโมดี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีท่าทีประนีประนอมกับนโยบายการค้ารวมถึงนโยบายตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ และยังแสดงความยินดีที่จะพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมระหว่างการเยือนของคณะเจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐฯ ที่กรุงนิวเดลีเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยในชั้นนี้ท่าทีของอินเดียที่เลือกจะไม่ตอบโต้ในทันที แต่จะเดินตามทิศทางยุทธศาสตร์ของอินเดียที่มุ่งเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงการค้าที่สมดุลและเป็นธรรมกับสหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จากสถานะผู้บุกเบิก (First Mover Advantage) ในภูมิภาคเอเชียใต้ และหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้ที่อาจกระตุ้นวงจรการขึ้นภาษี ทั้งนี้ หากพิจารณาจาก 5 อุตสาหกรรมข้างต้น ธุรกิจเสื้อผ้าและสิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน ของอินเดียคาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมในด้านอื่น ผู้ส่งออกไทยควรเร่งวิเคราะห์ความต้องการเฉพาะกลุ่มเป้าหมายในตลาดอินเดียเพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า เช่น พรมและสิ่งทอปูพื้นอื่นๆ (พิกัด 5703) ส่วนประกอบและอุปกรณ์เสริมของจักรยานยนต์ (พิกัด 8714) ขยายตัวถึง 78.62 % และ 39.53 จากปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบไทยควรใช้ประโยชน์จากกรอบการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) สร้างพันธมิตรกับผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่น เพื่อลดความเสี่ยงด้านโลจิสติกส์ และไทยจะสามารถใช้ข้อได้เปรียบด้านตลาดขนาดใหญ่ของอินเดียเป็นตลาดทดแทนสินค้าไทยที่อาจได้รับอานิสงค์จากการขึ้นภาษีในครั้งนี้อย่างเหมาะสมต่อไป

 

ที่มา: 1.https://www.livemint.com/companies/news/trump-tariffs-on-india-goyal-to-meet-exporters-on-apr-9-11743953938735.html 2.https://www.thehindu.com/business/Economy/trump-tariffs-sectors-in-india-that-find-themselves-in-a-spotlight/article69409046.ece

thThai