ฟิลิปปินส์ต้องใช้ประโยชน์จากการขึ้นอัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐอเมริกาเพื่อทำข้อตกลงทางการค้าในการขยายการเข้าถึงตลาดของเกษตรกรฟิลิปปินส์ไปยังตลาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกพร้อมกับเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าสินค้าอาหารที่ไม่สามารถผลิตในประเทศได้เพิ่มเติมเพื่อช่วยเสริมความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ
นาย V. Bruce Tolentino อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและอดีตสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Board) กล่าวว่า รัฐบาลสามารถใช้สถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบันเป็นโอกาสในการเจรจาข้อตกลงทางการค้าที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองฝ่าย โดยสหรัฐฯ ได้ประกาศปรับอัตราภาษีตอบโต้ร้อยละ 17 สำหรับสินค้าทั้งหมดจากฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2568 (ตามเวลาในฟิลิปปินส์) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาล Donald J. Trump ในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของประเทศกับพันธมิตรทางการค้าต่างๆ ประธานาธิบดี Donald J. Trump อ้างว่าการคำนวณอัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ได้คำนึงถึงการควบคุมค่าเงินและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีในการคำนวณ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สูตรที่ใช้ในการคำนวณภาษีของสหรัฐฯ เป็นการหารดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศนั้นๆ ด้วยมูลค่าสินค้านำเข้าและหารครึ่งอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นาย V. Bruce Tolentino ชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (DA) ควรศึกษาประเด็นที่สหรัฐฯ หยิบยกเกี่ยวกับนโยบายอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารหลายรายการ เช่น เนื้อสัตว์แช่แข็ง ปลา และน้ำตาล ซึ่งสหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีของฟิลิปปินส์ในผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรหลายรายการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้ผ่านกระบวนการทางการทูตและองค์การการค้าโลก (WTO) มาเป็นเวลานาน โดยฟิลิปปินส์ไม่เต็มใจที่จะเจรจาเพื่อผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ ซึ่ง นาย V. Bruce Tolentino มองว่าสถานการณ์การค้าปัจจุบันเป็นโอกาสที่จะเร่งการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐฯ โดยจะเป็นผลประโยชน์อย่างมากสำหรับฟิลิปปินส์ พร้อมทั้งมีข้อยกเว้นน้อยที่สุดหากฟิลิปปินส์สามารถเจรจาข้อตกลงการค้าได้สำเร็จจะเป็นผลประโยชน์กับภาคการเกษตรของประเทศ รวมถึงการเข้าถึงตลาดในเศรษฐกิจตะวันตกสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรของประเทศ เช่น มะพร้าว ผลไม้ชนิดต่างๆ คาราจีแนน และดอกไม้ ในทางกลับกัน สำหรับผู้บริโภคฟิลิปปินส์ ข้อตกลงการค้าจะช่วยให้สามารถเข้าถึงอาหารที่มีราคาย่อมเยามากขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ เช่น ถั่วเหลือง ธัญพืชอื่นๆ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แช่แข็ง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีการขาดดุลการค้าทางการเกษตรกับสหรัฐฯ มูลค่า 1.95 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ซึ่งฟิลิปปินส์ส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่า 1.37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปยังสหรัฐฯ แต่มีการนำเข้าสินค้าเกษตรมูลค่า 3.32 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแสดงว่า เกือบร้อยละ 18 ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของฟิลิปปินส์ในปี 2567 ไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าเกษตรที่สำคัญของฟิลิปปินส์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืช ผลไม้ต่างๆ และถั่ว ปลาและผลิตภัณฑ์ปลา และการเตรียมธัญพืช โดยสินค้าเกษตรที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ ธัญญาพืช ข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมอาหาร (สำหรับอาหารสัตว์) ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำส้มสายชู
นาย Roehlano Briones นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฟิลิปปินส์ (PIDS) กล่าวว่ารัฐบาลควรเจรจากับสหรัฐฯ และพิจารณามาตรการที่เป็นไปได้เพื่อยกเลิกภาษีตอบโต้ โดยเห็นด้วยว่าปัญหาทางการค้าในปัจจุบันควรถูกใช้เป็นโอกาสเพื่อเร่งการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐฯ หรือเสนอว่าอาจพิจารณาลดภาษีทั้งสองฝ่ายเป็นศูนย์ ซึ่งจะเทียบเท่ากับการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และยังเป็นเหตุผลที่ดีสำหรับการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยฟิลิปปินส์สามารถใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในการเปิดตลาดสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) แสดงให้เห็นว่าภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่มีต่อสินค้าฟิลิปปินส์เกือบสามเท่าของอัตราภาษีเฉลี่ยที่ร้อยละ 6.5 ที่สหรัฐฯ ใช้กับสินค้าเกษตรจากฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์เก็บภาษีเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.9 สำหรับสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่าการส่งออก โดยการขาดดุลการค้าทางการเกษตรของประเทศเมื่อปี 2567 ขยายตัวขึ้นเกือบร้อยละ 2 ซึ่งมีมูลค่า 11.71 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่า 11.51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 นอกจากนี้ การค้าทางการเกษตรทั้งหมดของประเทศขยายตัวขึ้นเกือบร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยมีมูลค่า 27.22 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่า 24.34 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี
2565 ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Philippine Star
บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น
ฟิลิปปินส์เป็นตลาดข้าวที่มีศักยภาพ ด้วยจำนวนประชากรขนาดใหญ่และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี อีกทั้งยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตร เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าข้าว ซึ่งฟิลิปปินส์มีแนวโน้มต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อสำรองไว้ใช้ในภาวะที่อุปทานในประเทศไม่แน่นอนจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาข้าวในท้องตลาดสูงขึ้นและกระทบต่อผู้บริโภค ที่ผ่านมา คณะกรรมการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ ซึ่งมีประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เป็นประธาน ได้อนุมัติแผนปรับลดภาษีนำเข้าข้าวจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 15 เป็นระยะเวลา 5 ปี ภายใต้โครงการ The New Comprehensive Tariff Program for 2024–2028 ในขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์กำลังเผชิญแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ในอัตราร้อยละ 17 ทำให้ฟิลิปปินส์อาจใช้โอกาสนี้ในการเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) หรือความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรกับสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายการเข้าถึงตลาด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ เช่น มะพร้าว ผลไม้เขตร้อน ทั้งยังมีความพยายามในการปรับปรุงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers – NTBs) เพื่อให้สินค้าเกษตรสามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมปรับแผนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับบริบทที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดฟิลิปปินส์
————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
เมษายน 2568