ปี 2568 จังหวัดแซมเบเซีย ประเทศโมซัมบิก (มีเกษตรกรประมาณ 42,000 คน) คาดว่าจะผลิตข้าวได้ มากกว่า 145,000 ตัน ในพื้นที่อำเภอนิโคอาดาลา (Nicoadala) โดยจะเป็นการปลูกข้าวในพื้นที่ชลประทาน (เนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้ง) ในเขตมูเซโล (Mucelo)             อิลลาเลน (Ilalane) และ มูซิวา (Muziva)

ที่ผ่านมาเขตมูเซโลและอิลลาระบบชลประทานไม่เพียงพอเนื่องจากข้อจำกัดของสถานีปั๊มน้ำและช่องทางชลประทาน ประกอบกับที่ผ่านมาเขตมูซิวาได้ถูกพายุไซโคลนเฟรดดี้ (Freddy) ทำลายระบบชลประทานที่ธนาคารโลกได้ลงทุนกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผู้อำนวยการกิจกรรมเศรษฐกิจของอำเภอนิโคอาดาลา เปิดเผยว่า หลังจากผ่านพ้นช่วงขาดแคลนน้ำ ก็มีฝนตก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อการปลูกข้าว จึงคาดว่า ปี 2568 ผลผลิตข้าวประมาณ 1.9 ตัน ต่อเฮกตาร์ (หรือ 304 ตันต่อไร่ โดย 1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่) ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกข้าว 40,732 เฮกตาร์ จึงคาดว่าจะผลิตข้าวได้ประมาณ 145,632 ตัน

ปี 2567 โมซัมบิก นำเข้าข้าว 441 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8 เมื่อเทียบกับปี 2566)  นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งชาติโมซัมบิก (The National Statistics Institute) ระบุว่า ปี 2566 ผลผลิตข้าวโพด 2,124,749 ตัน (ลดลงร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับปี 2565) ส่วนผลผลิตข้าว 161,829 ตัน (ลดลงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับปี 2565)         โดยจังหวัดแซมเบเซีย เป็นแหล่งผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุด (ร้อยละ 40 ของการผลิตข้าวทั้งหมด) รองลงมาคือจังหวัดกาซ่า (ร้อยละ 25)

ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ ข้าวเป็นหนึ่งในผลผลิตหลักของประเทศโมซัมบิก (นอกเหนือจากข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง) อย่างไรก็ตาม โมซัมบิกยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ เช่น แห้งแล้ง น้ำท่วม พายุ ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการปลูกข้าว

ข้าวเป็นหนึ่งในอาหารหลักของโมซัมบิก (อันดับที่ 1 คือข้าวโพด อันดับที่ 2 คือ มันสำปะหลัง) แต่ปริมาณผลิตข้าวในประเทศไม่มีเพียงพอต่อความต้องการบริโภค จึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ข้าวไทยจึงยังคงมีโอกาสในตลาดโมซัมบิก หากสามารถแข่งขันได้ในด้านราคาและคุณภาพ

ปี 2567 ไทยส่งออกข้าวไปโมซัมบิก มูลค่า 171.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.18 เมื่อเทียบกับปี 2566) ปริมาณ 287,124 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.38 เมื่อเทียบกับปี 2566)  โดยประเภทข้าวที่ส่งออกมากที่สุด คือ ข้าวขาว (ร้อยละ 96.84 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดไปโมซัมบิก) รองลงมาคือ ข้าวนึ่ง (ร้อยละ 1.67) และข้าวหอมมะลิ (ร้อยละ 1.41) ตามลำดับ อนึ่ง ปี 2567 ไทยส่งออกข้าวไปโมซัมบิกปริมาณมากเป็นอันดับที่ 11 (อันดับที่ 1 คืออินโดนีเซีย รองลงมาคือ อิรัก สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ ตามลำดับ)

ข้อมูลล่าสุดจาก Global Trade Atlas ประมวลจาก UN comtrade ระบุว่า ปี 2566 โมซัมบิกนำเข้าข้าวรวมทั้งสิ้น 555,573.25 ตัน (มูลค่า 349.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยนำเข้าจากอินเดียปริมาณมากที่สุด (ร้อยละ 39.63 ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมดของโมซัมบิก) รองลงมาคือ ไทย (ร้อยละ 29.33) เวียดนาม (ร้อยละ 14.52) จีน (ร้อยละ 7.11) ตามลำดับ

 

ที่มา/เครดิตภาพ : www.clubofmozambique.com

ประมวลโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย

เมษายน 2568

thThai