บริษัทของเยอรมนีได้เข้าไปลงทุนในจีนน้อยลงอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งเห็นได้ชัดจากสถิติดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) ของธนาคารกลางเยอรมันที่ปรับปรุงใหม่ล่าสุด ที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา การลงทุนโดยตรงของเยอรมนีในประเทศจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางเยอรมันเปิดเผยตัวเลขที่แก้ไขล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการลงทุนของบริษัทเยอรมันในจีนมีมูลค่าอยู่ที่ 14,600 ล้านยูโร น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 5,200 ล้านยูโร (โดยประมาณ) สำหรับสาเหตุที่ธนาคารกลางเยอรมันต้องแก้ไขก็เพราะ ข้อมูลจริงของบริษัทรวมอยู่ในบัญชีทุน (Capital Account) ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี จึงจะสามารถสรุปข้อมูลดังกล่าวได้จริง ธนาคารกลางเยอรมันกล่าวว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้เป็นการคาดการณ์ที่คำนวณบนพื้นฐานของข้อมูลจำเพาะจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF – international Monetary Fund ) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD – Organisation for Economic Co-operation and Development) เท่านั้น โดยธนาคารกลางเยอรมันตอบคำถามของ Handelsblatt ว่า จะมีการปรับแก้ไขตัวเลขลดลงดังต่อไปนี้ สำหรับปี 2022 จาก 7.3 พันล้านยูโร เหลือที่ 5.7 พันล้านยูโร สำหรับปี 2023 จาก 7 พันล้านยูโร เหลือที่ 4.5 พันล้านยูโร และสำหรับปี 2024 จาก 5.5 พันล้านยูโร เหลือที่ 4.4 พันล้านยูโร และตามที่ธนาคารกลางเยอรมันแจ้ง ตัวเลขปี 2022 นั้น อ้างอิงจากข้อมูลบริษัทที่รายงานจริง แต่สำหรับข้อมูลปี 2023 และ 2024 นั้น ยังคงเป็นการคาดการณ์อ้างอิงจากตัวเลขปี 2022 ซึ่งระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะได้รับการแก้ไขอีกครั้งในในปีต่อ ๆ ไป
ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีนลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา สาเหตุหลัก คือ ความแปรปรวนทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในของจีน จนถึงปีที่ผ่านมา ถือว่า การลงทุนของเยอรมันในจีนนั้นขยายตัวเพิ่มขึ้นมาตลอด ซึ่งขัดแย้งกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจ และแม้ว่าจะมีการเรียกร้องทางการเมืองให้กระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานก็ตาม แต่ข้อมูลใหม่ล่าสุดของธนาคารกลางเยอรมันบ่งชี้ว่า เทรนด์การลงทุนของเยอรมนีในจีนนั้นสิ้นสุดลงแล้ว โดยการลงทุนปัจจุบันเป็นเพียงการนำกำไรที่ได้มาจากธุรกิจของบริษัทเยอรมันในจีนนำมาลงทุนซ้ำเท่านั้น และตามพฤตินัยแล้วหมายความว่า เงินใหม่จะไม่ได้ไหลเข้าสู่ตลาดจีนอีกต่อไป ตามที่ปรากฏในการวิเคราะห์ของ Rhodium กลุ่มวิจัย Thinktanks ของสหรัฐฯ แจ้งให้ทราบว่า นักลงทุนชาวเยอรมันรายใหญ่ที่สุดเมื่อไม่นานนี้ ได้แก่บริษัทต่าง ๆ จากอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อาทิ BASF, BMW, Bosch และ Volkswagen เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลจีนได้เพิ่มความพยายามในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศขนาดที่นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจกล่าวเน้นย้ำต่อหน้ารัฐสภาประชาชนเมื่อต้นเดือนมีนาคมว่า เราควรจะส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่าง “จริงจัง” และในวันอาทิตย์ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เชิญซีอีโอบริษัทระดับโลกจำนวนมากเข้าร่วมการประชุม China Development Forum ซึ่งจัดขึ้น 2 วัน ในใจกลางกรุงปักกิ่ง ตามรายงานของ Handelsblatt ผู้เข้าร่วมงานฝั่งเยอรมัน ได้แก่ นาย Oliver Zipse ซีอีโอของ BMW นาย Hubertus von Baumbach ซีอีโอของ Boehringer Ingelheim, นาย Stefan Hartung ซีอีโอของ Bosch, นาย Alexander Wynaendts ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลของธนาคาร Deutsche Bank, นาย Jan Rinnert ซีอีโอของ Heraeus, นาย Ola Källenius ซีอีโอของ Mercedes, นาย Klaus Rosenfeld ซีอีโอของ Schaeffler, นาย Roland Busch ซีอีโอของ Siemens นาย Miguel López ซีอีโอของ Thyssen-Krupp, นาย Christian Hartel ซีอีโอของ Wacker Chemie และนาย Holger Klein ซีอีโอของ ZF นอกจากนี้ คาดว่า จะมีซีอีโอของสหรัฐฯ หลายคนเข้าร่วมด้วย อาทิ นาย Albert Bourla ซีอีโอของบริษัทเภสัชภัณฑ์ Pfizer และนาย Cristiano Amon ซีอีโอของบริษัทผู้ผลิตชิป Qualcomm เป็นต้น นอกจากนี้ ตามรายงานของ Financial Times และ Reuters คาดว่า นายสี จิ้น ผิง ผู้นำของจีนจะต้อนรับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหลายแห่งในวันพฤหัสบดีอีกด้วย แต่ยังไม่ทราบว่า มีซีอีโอบริษัทเยอรมันอยู่ในกลุ่มผู้ที่ถูกเลือกด้วยหรือไม่ โดยในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เปิดตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนในประเทศขยายการลงทุนขึ้น นาย สี จิ้นผิง ได้ต้อนรับตัวแทนจากฝั่งเอกชนหลายรายรวมถึง นาย แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี Alibaba ที่เคยโดนรัฐบาลจากกรุงปักกิ่งจับตาอย่างหนักมาก่อน นาย Liu Yonghao ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอบริษัท New Hope ผู้จำหน่ายสินค้าการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับของนาย สี จิ้นผิง ได้แสดงความเห็นเชิงบวก เมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาให้สัมภาษณ์กับ Handelsblatt ในช่วงกลางเดือนมีนาคมว่า บริษัทต่าง ๆ “กำลังเคลื่อนไหว” เขาอ้างถึง “มาตรการทางการเมือง” บางประการ โดยก่อนการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ Xinhua สำนักข่าวของประเทศได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของ นาย สี จิ้นผิงที่มีหัวข้อว่า “ผมสนับสนุนภาคเอกชนมาโดยตลอด” แม้ว่าจริง ๆ แล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานาย สี จิ้นผิง ได้เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมบริษัทเอกชนอย่างหนักส่งผลให้เกิดความไม่มันคงต่อนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศอย่างหนัก
จาก Handelsblatt 11 เมษายน 2568