เยอรมนีคาด GDP ปี 2025 ลดลงเหลือเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์

สถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจเยอรมันคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเยอรมนี (GDP) ในปี 2568 จะเติบโตเพียงประมาณร้อยละ 0.1 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนกันยายน 2567 ที่ 0.8 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนหนึ่งของสาเหตุหลักมาจากมาตราการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะภาษีการส่งออกอะลูมิเนียม เหล็ก และรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีนี้และปีต่อไปลดลงประมาณร้อยละ 0.1 ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผลกระทบที่แท้จริงจากนโยบายของสหรัฐฯ ไม่สามารถประเมินได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากการขึ้นภาษีศุลกากรยังไม่เคยมีการปรับขึ้นอย่างรุนแรงเช่นนี้มาก่อน

 

มาตราการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาษีนำเข้ารถยนต์ เหล็กและอะลูมิเนียม 25 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเยอรมนีซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนโลหะ และวัสดุอุตสาหกรรม การส่งออกของเยอรมนีไปยังประเทศสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยลดลงที่ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นในสายการผลิตโดยตรง ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบ หรือแม้แต่ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่า ประเทศจีนที่ถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรโดยสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 125 อาจจำเป็นต้องหาประเทศที่ส่งออกอื่น ๆ รวมถึงประเทศเยอรมนี ซึ่งอาจสร้างความเสียหายในการผลิตและยอดขายของบริษัทในเยอรมนี เนื่องจากต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าของประเทศจีนที่ถูกกว่า

 

Friedrich Merz หัวหน้าพรรค CDU ได้แสดงความเห็นในการหาวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนแนวทางของคณะกรรมาธิการยุโรปในการเจรจา และแสดงความพร้อมที่จะลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่ายให้เป็นศูนย์ หากในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้สหภาพยุโรปจำเป็นต้องมีมาตรการตอบโต้ที่ชัดเจนเช่นกัน นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง Jörg Kukies ได้แสดงความเห็นว่า คณะกรรมาธิการยุโรปควรหันมาเร่งดำเนินการข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศในอเมริกาใต้และเอเชีย

 

ภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเก็บภาษีอากรในปัจจุบัน สร้างความกดดันต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายในประเทศเยอรมนี ทั้งภาคธุรกิจ การลงทุน รวมถึงผู้บริโภค หากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเจรจาเรื่องการเก็บภาษีศุลกากรไม่ลงตัว และมีการตอบโต้กันด้านภาษีนำเข้าจะส่งผลทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย รวมถึงเศรษฐกิจระดับโลก เช่นเดียวกับประเทศไทย

 

แหล่งที่มา: https://www.zdf.de

thThai