บทวิเคราะห์จากข่าว: ในยุคที่สงครามการค้าสร้างผลกระทบต่อระบบการค้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อันเนื่องจากความผันผวนของการกำหนดนโยบายทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯในปัจจุบันซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์สมัยที่สอง หรือที่เรียกติดปากกันว่า “ทรัมป์ 2.0” มีความพยายามที่จะกำหนดกำแพงภาษีนำเข้าในอัตราสูงกว่าปกติมากกับประเทศคู่ค้าทั้งหลาย ส่งผลให้หลายประเทศต้องปรับตัวพร้อมแสวงหากลยุทธ์และยุทธศาสตร์ทางเลือก เพื่อรับมือกับสภาวะสงครามการค้าที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและยังไม่มีทีท่าจะสงบลงในเร็ววันนี้ โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สามารถตอบโจทย์การค้าและการส่งออกได้เป็นอย่างดี คือการพิจารณา “ตลาดใหม่” ที่มีศักยภาพพร้อมครบรอบด้านซึ่งมากกว่าแค่ความต้องการสินค้าจากประเทศไทย โดยในเนื้อหาข่าวประจำสัปดาห์นี้จะนำเสนอ “ประเทศจาเมกา” ในฐานะตลาดใหม่
ภาพรวมของจาเมกา
เมื่อพูดถึงประเทศจาเมกา เชื่อว่าสิ่งแรก ๆ ที่หลายคนอาจนึกถึงอาจเป็นวัฒนธรรมดนตรีเร็กเก้ ศิลปะสไตล์จาเมกาที่เป็นเอกลักษณ์ หรือสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ แต่ว่าในความเป็นจริงนั้นหากเราพิจารณาที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจาเมกา ก็จะพบว่าประเทศจาเมกาตั้งอยู่แทบจะกึ่งกลางของทะเลแคริบเบียนอย่างพอดี ซึ่งตรงกลางเป็นทางผ่านจากคลองปานามา (Panama Canal) และท่าเรือเมืองไมอามี (Port of Miami) ฟลอริดาของสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นที่ตั้งที่เอื้อประโยชน์ในด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสกิตส์ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี อีกทั้งวิถีชีวิตของชาวจาเมกานั้นมีความคล้ายกับคนไทยในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ชาวจาเมกามีการบริโภคข้าวในมื้อหลัก มีการบริโภคปลากระป๋อง ปลาเค็ม มีการใช้กระทิเป็นส่วนประกอบอาหาร นิยมบริโภคเครื่องดื่มน้ำผลไม้รสชาติต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าอาหารจากประเทศไทย
วิสัยทัศน์ของจาเมกา
ในปัจจุบันทางการจาเมกามีความพยายามในการผลักดันการผลิตและการส่งออกสินค้าในระดับที่เข้มข้น โดยเมื่อวันที่ 3 – 6 เมษายนที่ผ่านมา จาเมกาได้มีจัดงานแสดงสินค้าระดับประเทศคือ EXPO Jamaica 2025 ณ กรุงคิงส์ตัน(เมืองหลวง) เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมของบรรดาผู้ประกอบการและผู้ผลิตของจาเมกา โดยภายหลังการการจัดงานได้ปรากฎปาฐกถาของผู้นำจาเมกาในการแสดงวิสัยทัศน์ซึ่งบ่งชี้ทิศทางการวางตัวของจาเมกาในการค้าระหว่างประเทศ และระบบห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยกล่าวว่าจาเมกาต้องการวางตัวเป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก (Supply the Global Supply Chain) และมีการวางแผนพัฒนาจาเมกาให้เป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ของทวีปอเมริกา (The Logistics Hub of the Americas) โดยมีจุดศูนย์กลางคือท่าเรือกรุงคิงส์ตัน (Port of Kingston) ซึ่งมีการพัฒนาขยายอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
รัฐบาลจาเมกาให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบท่าเรือของประเทศเป็นอย่างมาก โดยมีการลงทุนไปกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยี ระบบเครน ระบบการระบุตำแหน่งขั้นสูง และอื่น ๆ ไปแล้วรวมทั้งสิ้นกว่า400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตั้งแต่ปีค.ศ. 2016) และรัฐบาลมีแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการขยายพื้นที่และระบบคลังเก็บสินค้า เพื่อรองรับการกระจายสินค้าของท่าเรือ นอกจากนี้ในเวลาเดียวกันรับบาลจาเมกาได้กำลังพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ขนาด 700 เอเคอร์ใกล้กับท่าเรือกรุงคิงส์ตัน โดยจะริเริ่มการก่อสร้างภายในอีกสองเดือนข้างหน้าในปีนี้
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ประเทศจาเมกาอาจได้ถือว่าเป็นประเทศ “ตลาดใหม่” ในภูมิภาคแคริบเบียนที่มีศักยภาพและความพร้อมทางการค้ามากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ ด้วยเหตุผลทางความพร้อมของระบบขนส่งและระบบโลจิสติกส์เป็นสำคัญ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ ภายในภูมิภาคแคริเบียนด้วยกันเอง ในปัจจุบันจากการสอบถามข้อมูลโดยสคต.ไมอามีเองนั้น มีบริษัทผู้นำเข้าและกระจายสินค้าไปยังประเทศหมู่เกาะต่าง ๆ ในแคริบเบียนจำนวนไม่น้อยที่บอกว่าต้นทุนทางด้านการขนส่งระหว่างเกาะต่าง ๆ ด้วยกันนั้นเป็นอุปสรรคที่ท้าทายเป็นอย่างมากในการกระจายสินค้า เนื่องจากระบบการขนส่งภายในแคริบเบียนนั้นยังคงยึดโยงกับท่าเรือเมืองไมอามีเป็นหลัก เพราะฉะนั้น การที่จาเมกาก้าวเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเป็นศูนย์การขนส่งและกระจายสินค้าในภูมิภาค จึงถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่มีความสำคัญอย่างมาก
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือจาเมกาเป็นประเทศที่พูดภาษาอังกฤษขนาดใหญ่ที่มีประชากรเยอะที่สุดในแคริบเบียน (ประชากรประมาณ 3 ล้านคน) และเป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สามในภูมิภาค ทำให้จาเมกาอาจนับได้ว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับภูมิภาคนี้ซึ่งไม่ควรมองข้าม ประกอบกับที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่าสินค้าอาหารจากประเทศไทยนั้นค่อนข้างมีศักยภาพในการขยายตลาดในจาเมกา เนื่องจากสินค้าอาหารจากไทยหลายประเภท อาทิ ข้าว กระทิ ปลากระป๋อง เครื่องดื่มน้ำผลไม้ เป็นต้น สอดคล้องกับวิถีการบริโภคของชาวจาเมกา ทำให้โอกาสในการผลักดันการขยายการส่งออกสินค้ามายัง “ตลาดใหม่” แห่งนี้มีมากพอสมควร
********************************************************* ที่มา: The Jamaican Observer เรื่อง: “PM optimistic about Jamaica’s role in global supply chain” โดย: Horace Hines สคต. ไมอามี /วันที่ 11 ธันวาคม 2568