การที่ Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้า 25% ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีอย่างหนัก เพราะเยอรมนีได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุด” จาก EU ไปยังสหรัฐฯ โดยบริษัท Bernstein ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์จากสหรัฐฯ ได้ประเมินต้นทุนสุทธิรวมของภาษีที่จะเกิดขึ้นสำหรับบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ทั้ง 3 ราย ของเยอรมนี ไว้ที่ประมาณ 11,000 ล้านยูโร นักวิเคราะห์กล่าวว่า อัตรากำไรมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมาก หากมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นเวลานาน โดยภาษีศุลกากรมีความหมายต่ออุตสาหกรรมเยอรมันอย่างไร เรามีคำตอบสำหรับคำถามที่สำคัญที่สุด ดังนี้
- อัตราภาษีศุลกากรใหม่นี้…จะมีหน้าตาอย่างไร
ภาษี 25% จะมีผลต่อรถยนต์นำเข้าทั้งหมด ครอบคลุมตั้งแต่รถยนต์ขนาดเล็ก รถเก๋ง รถ SUV รถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก และรวมไปถึงชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ อาทิ แบตเตอรี่ และเครื่องยนต์ โดยปัจจุบันอัตราภาษีสำหรับสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่นำเข้าจากยุโรปของสหรัฐฯ มีอัตราภาษีศุลกากรอยู่ที่ 2.5% เท่านั้น ดังนั้น เมื่อมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 25% ก็ย่อมมีนัยสำคัญอย่างแน่นอนที่สุด ซึ่งตามที่ Trump ได้ออกมาประกาศไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ภาษีศุลกากรใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 3 เมษายน 2568 เป็นต้นไป “โดยภาษีศุลกากรใหม่จะเรียกเก็บเพิ่มเติมจากภาษีศุลกากรที่มีอยู่เดิม”
- ผู้ผลิตของเยอรมันมียอดขายในอเมริกาเท่าไร
จากข้อมูลของบริษัทในเครือ Volkswagen ที่จำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐฯ มากที่สุด ในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ทั้ง 3 ราย เปิดเผยว่า ในปี 2024 Volkswagen (ที่มีศูนย์กลางตั้งอยู่ในเมือง Wolfsburg และเมื่อรวมถึงตัวเลขของรถยนต์แบรนด์พรีเมียมอย่างยี่ห้อ Audi และ Porsche ด้วยแล้ว) ได้ส่งมอบ รถยนต์ และรถเชิงพาณิชย์รวมเกือบ 730,000 คัน ให้สหรัฐฯ ในขณะที่ บริษัท BMW มียอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ เกือบ 400,000 คัน ด้านบริษัท Mercedes มีรถยนต์ที่ขายในตลาดสหรัฐฯ 325,000 คัน ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมันอย่าง VW, BMW และ Mercedes-Benz ล้วนแต่มีโรงงานผลิตอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปได้ที่พวกเขาจะขายรถยนต์ของตัวเองบางรุ่นในตลาดสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรดังกล่าวเพิ่ม แต่ก็พบว่า ปัจจุบันรถรุ่นพรีเมียมที่มีราคาสูงหลายแสนคันของทั้ง 3 บริษัทฯ ยังส่งออกจากจากยุโรปไปยังสหรัฐอฯ และจะทำให้รถยนต์เหล่านี้จะมีราคาแพงขึ้นมากนับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนเป็นต้นไป เมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ นำเข้ารถยนต์ใหม่จากเยอรมนีมีมูลค่าเกือบ 23,000 ล้านยูโร หรือมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของรถยนต์นำเข้าทั้งหมดจาก EU
- ใครบ้างที่โดนภาษีศุลกากรหนักเป็นพิเศษ
ผู้ผลิตที่ไม่ได้มีฐานการผลิตในสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นพิเศษ ในบรรดาผู้ผลิตยานยนต์ ในยุโรป ส่วนใหญ่พวกแบรนด์หรูอย่าง Porsche และ Ferrari ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก แต่ตามการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ของ Bernstein นั้น พบว่า Audi และ Mercedes ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ USMCA (ข้อกำหนดของความตกลงการค้าเสรี United States-Mexico-Canada Agreement : USMCA) ก็น่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาษีศุลกากรดังกล่าว โดยรวมแล้วภาษีดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผลกำไรของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้งสามบริษัท โดย BMW เคยกล่าวเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ข้อพิพาทเรื่องภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ อาจทำให้บริษัทสูญเสีย EBIT ที่ประมาณ 1 พันล้านยูโร ซึ่งการประมาณการเรียกได้ว่าเป็นการประมาณการแบบไม่หนักมาก นักวิเคราะห์ของ Bernstein คาดว่า อัตรากำไรของ BMW จะลดลง 2% อันเป็นผลมาจากมาตรการดังกล่าว ก่อนหน้านี้ BMW หวังว่า ผลกำไรน่าจะลดลง 1 – 1.5% ล่าสุด BMW สามารถทำกำไรก่อนหักภาษีได้เกือบหนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านยูโร จากธุรกิจยานยนต์ โดย EBIT อยู่ที่ 6.3% ตามข้อมูลของ Bernstein แจ้งต่อว่า บริษัท Mercedes มีความเสี่ยงที่กำไรของกลุ่มบริษัทลดลงถึง 2.2% ซึ่งจะถือเป็นการลดลงถึง 2.9 พันล้านยูโร เมื่อเทียบกับผลประกอบการปี 2024 นักวิเคราะห์ของ UBS เชื่อว่า เกือบ 15% ของกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเครือ VW Group มีความเสี่ยง หากพิจารณาจากผลกำไรที่กลุ่มบริษัทได้รับในปี 2024 เป็นไปได้ที่บริษัทจะขาดทุน 2.85 พันล้านยูโร
- แล้วกลุ่มบริษัทรถยนต์เหล่านี้มีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร
ในขั้นแรก คงจะต้องรอดูท่าที่ไปก่อน หนึ่งในผู้บริหารของบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนีที่คุ้นเคยกับเหตุการณ์ดังกล่าวเปิดเผยว่า พวกเขากำลังรอ “คำสั่งของฝ่ายบริหาร” จากทำเนียบขาว และจะวิเคราะห์คำสั่งดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ BMW เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาผลักดันให้มีการทำข้อตกลงข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกขึ้น โดยกล่าวว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่าง EU และสหรัฐฯ “จะมีแต่ผู้แพ้เท่านั้น” แม้แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอย่าง Bosch และ ZF ก็ยังเห็นว่า ควรเน้นการหารือเจรจาเป็นหลัก ในเมือง Friedrichshafen ศูนย์กลางการผลิตของ ZF พบว่า ผู้บริหาร ZF ต่างก็กำลังหารือกันอย่างเงียบ ๆ ว่า “จะเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานส่วนไหนและอย่างไร” เพื่อขยายกำลังผลิตได้ในท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บริษัท ZF สร้างยอดขายเกือบหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ในตลาดสหรัฐฯ และมีการดำเนินกิจการโรงงานกว่า 20 แห่ง ที่นั่น และจากข้อมูลวงในของอุตสาหกรรมก็เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ BMW, VW และ Mercedes จะเดินทางไปวอชิงตันร่วมกัน เพื่อผลักดันให้มีการยกเว้นภาษีศุลกากรขึ้น บริษัทเหล่านี้ได้เคยกระทำสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้มาแล้วในช่วงสมัยแรกที่นาย Trump เป็นประธานาธิบดี ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วย แต่แหล่งข่าววงในยังไดกล่าวว่า “อย่างไรก็ดี เรายังไม่ทราบว่า Trump ต้องการคุยกับเราหรือไม่ และต้องการคุยกับเราอย่างไร” ก่อนที่ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมจะแสวงหาการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลสหรัฐฯ พวกเขาควรหาทางออกทางการเมืองในประเทศเสียก่อน สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนี (VDA – Verband der deutschen Automobilindustrie) ได้ออกมา เรียกร้องให้มีการเจรจาข้อตกลงทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกาและ EU อย่างเร่งด่วน ด้านนาง Hildegard Müller ประธานสมาคม VDA เตือนว่า “ผลที่ตามมาจะส่งผลต่อการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้านของประเทศ”
- ผู้ผลิตรถยนต์จะสามารถผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ เพิ่มเติมได้หรือไม่
แน่นอนพวกเขาสามารถทำได้แต่คงจะใช้เวลานานหลายปีกว่าที่จะสามารถย้ายกำลังการผลิตใหญ่ขนาดนี้ได้ หรือแม้แต่การสร้างโรงงานใหม่หรือขยายโรงงานที่มีอยู่ก็ตาม ตามที่ Handelsblatt รายงานเมื่อปลายเดือนมกราคม 2568 รถยนต์พรีเมียมของ VW อย่าง Audi และ Porsche กำลังพิจารณาที่จะมาตั้งโรงงานผลิตในอเมริกา อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และมีความเป็นไปได้ที่จะการขยายโรงงาน VW ในเมือง Chattanooga รัฐ Tennessee หรือใช้งานโรงงานผลิตรถกระบะยี่ห้อ Scout ในรัฐ South Carolina ซึ่งเป็นของ Volkswagen ที่เพิ่งจะเข้าไปซื้อกิจการมากขึ้น โดยโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่ VW ตั้งใจจะเริ่มผลิตรถดังกล่าวในปลายปี 2026 เป็นต้นไป ด้านนาย Ola Källenius ซีอีโอของ Mercedes บอกกับ Handelsblatt เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “เราอาจต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของเรา” หากยังคงมีอุปสรรคทางภาษีศุลกากรที่สูง และกลายเป็นเรื่องปกติไปในระยะยาว ฝ่ายบริหารของ Mercedes กำลังพิจารณาผลิตรถรุ่น GLC SUV ขนาดกลาง ซึ่งเป็นรุ่นขายดีที่สุดของ Mercedes ในตลาดทั่วโลกและสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป และตามแหล่งข่าวภายใน พบว่า สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นไปได้มากขึ้นทุกวัน ในเวลาเดียวกัน Mercedes ก็ได้ตัดสินใจเมื่อหลายเดือนก่อนว่า ในอนาคตจะผลิตรถยนต์ SUV หรูหรารุ่น GLE ซึ่งเป็นรถรุ่นที่มีระยะห่างระหว่างล้อหน้ากับล้อหลัง (Wheelbase) ยาวที่สุดในจีนแทนที่จะนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากสหรัฐฯ เท่านั้น
จาก Handelsblatt 14 เมษายน 2568