ตลาดขนมกัมมี่เยลลี่เติบโตขึ้น 2 เท่าภายใน 7 ปี

ตลาดขนมกัมมี่เยลลี่เติบโตขึ้น 2 เท่าภายใน 7 ปีตลาดกลุ่มภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่ารวม 1.138 แสนล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 26,170 ล้านบาท) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มูลค่าตลาดเกิน 1 แสนล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 23,000 ล้านบาท) และเป็นการเติบโตขึ้นสองเท่าจากเมื่อ 7 ปีก่อน ในขณะที่ตลาดหมากฝรั่งซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 13,800 ล้านบาท) ยังคงทรงตัว ทำให้ช่องว่างระหว่างตลาดขนมกัมมี่เยลลี่และตลาดหมากฝรั่งกำลังขยาย

 

ความนิยมในขนมกัมมี่เยลลี่เริ่มขยายตัวในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2564 ซึ่งการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) อย่างต่อเนื่องทำให้มีโอกาสรับประทานขนมที่บ้านมากขึ้น ขนมกัมมี่เยลลี่ได้รับความนิยมเพราะมีแคลอรี่น้อยเมื่อเทียบกับขนมประเภทช็อกโกแลตและขนมอื่นๆ ซึ่งสามารถรับประทานได้โดยไม่รู้สึกผิด นอกจากนี้ ขนมกัมมี่เยลลี่ประเภทที่มีความยืดหยุ่นสูง (ชนิดแข็ง) ยังถูกบริโภคแทนหมากฝรั่งเพื่อช่วยให้รู้สึกสดชื่น ตื่นตัว และยังเป็นทางเลือกในการทำให้ลืมความอยากสูบบุหรี่สำหรับบางคนอีกด้วย ในทางตรงกันข้าม เนื่องจากโอกาสการออกนอกบ้านลดน้อยลง ปริมาณการบริโภคหมากฝรั่งที่ใช้ในการกระตุ้นความตื่นตัวหรือช่วยลดอาการง่วงนอนนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ตลาดขนมกัมมี่เยลลี่เติบโตขึ้น 2 เท่าภายใน 7 ปีJapan Gummy Association หรือ สมาคมขนมกัมมี่เยลลี่แห่งประเทศญี่ปุ่น กำลังพยายามขยายบทบาทของขนมกัมมี่เยลลี่ในฐานะเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างผู้บริโภค โดยประธานสมาคมกล่าวว่า “ขนมกัมมี่เยลลี่มีหลากหลายรสชาติ สีสัน และเนื้อสัมผัส จึงอยากให้ผู้คนแบ่งปันและแลกเปลี่ยนขนมกัมมี่เยลลี่ตนที่ชอบแก่กันและกัน” ด้วยคุณสมบัติที่ปรับเปลี่ยนรูปทรงได้ จึงคาดว่าขนมกัมมี่เยลลี่ที่ขยายตัวไปสู่ภาคชุมชนจะยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
เดิมทีขนมกัมมี่เยลลี่มีภาพลักษณ์เป็นขนมสำหรับเด็ก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความต้องการจากผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะขนมกัมมี่เยลลี่ที่มีลักษณะเฉพาะ ทั้งเนื้อสัมผัส สี รูปทรง และแนวคิดต่างๆ กำลังได้รับความนิยมขนมกัมมี่เยลลี่จากต่างประเทศ ซึ่งนอกจาก HARIBO แบรนด์ที่มีมานานแล้ว ขนมกัมมี่เยลลี่แบรนด์จากเกาหลีและฝรั่งเศสก็เริ่มพบได้มากขึ้นตามร้านค้าปลีก ปัจจุบันประเทศไทยยังคงส่งออกขนมกัมมี่เยลลี่ทั้งในรูปแบบ OEM และ National Brand ไปยังญี่ปุ่น เมื่อค้นหาคำว่า “ขนมกัมมี่เยลลี่ที่ผลิตในไทย” บนแพลตฟอร์ม E-Commerce ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นอย่าง Rakuten Marketplace พบว่ามีการขายขนมกัมมี่เยลลี่สำหรับเด็กในรูปแบบ OEM พร้อมกับขนมกัมมี่เยลลี่รูปทรงมะม่วง ซึ่งได้รับการรีวิวที่ดีจากผู้บริโภค สินค้าแบบนี้อาจมีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
ขนมกัมมี่เยลลี่เดิมทีผลิตและจำหน่ายโดยผู้ผลิตขนมในญี่ปุ่น แต่จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เริ่มมีการจำหน่ายในรูปแบบ Private Brand (PB) โดยร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ตัวอย่างเช่น เซเว่นอีเลฟเว่นได้ออกขนมกัมมี่เยลลี่รสงุ่นเขียวในรูปแบบ PB นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกในช่วงระยะหลังมักมีแนวโน้มที่จะซื้อแบรนด์ต่างประเทศที่ได้รับความนิยม เช่น Kaldi ที่นำเข้าขนมกัมมี่เยลลี่จากฝรั่งเศส “Pierrot Gourmand” มาในกลุ่มบริษัทของตนเอง หากทำการตลาดจากไทยไปยังญี่ปุ่น ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสำคัญกับผู้ผลิตขนม ผู้นำเข้า และร้านค้าปลีกเป็นกลุ่มเป้าหมายในการเข้าถึง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

แปลและเรียบเรียงจาก

หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2568

thThai