ปฏิกิริยาตอบโต้นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา

ภายหลังจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากคู่ค้าทั่วโลกของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 แล้ว ท่าทีของ ประธานาธิบดี Donald Trump และผู้ที่อยู่ในทีมของเขาได้สร้างความสับสนให้แก่วงการการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้

 

วันที่ 3 เมษายน 2568 ประธานาธิบดี Donald Trump ได้บอกผู้สื่อข่าวว่า
การขึ้นภาษีนำเข้าทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจสูงสุดในการต่อรองทางการค้า และเขาอาจจะเปิดการเจรจาต่อรองกับประเทศต่างๆ และอาจจะเปลี่ยนใจยกเลิกหรือลดระดับอัตราภาษีนำเข้ากับประเทศที่ยอมแลกเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ให้แก่สหรัฐฯ ในวันที่ 7 เมษายน 2568 เขาได้ระบุว่า เขาอาจจะเริ่มเจรจาต่อรองโดยทันทีกับประเทศคู่ค้าที่ติดต่อเข้าไปขอเจรจา ทั้งนี้เขาจะไม่เจรจาต่อรองกับจีนที่ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ร้อยละ 34

 

วันที่ 7 เมษายน 2568 Kevin Hassett, director National Economic
Council ของทำเนียบขาว ได้ให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ Fox News ว่า มีประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ มากกว่า 50 ประเทศได้ติดต่อทำเนียบขาวเพื่อขอเจรจาต่อรองเรื่องที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า และระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯอาจจะเว้นระยะการขึ้นภาษีนำเข้าออกไปจากที่กำหนดไว้เดิมอีก 90 วัน ซึ่งในวันที่ 9 เมษายน 2568 ประธานาธิบดี Trump ได้ยืดเวลาการขึ้นภาษีนำเข้า Reciprocal Tariffs ออกไปอีก 90 วันจริง

 

ปฏิกิริยาตอบโต้เบื้องต้นจากประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ

 

อิสราเอล สหรัฐฯกำหนดขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 17 อิสราเอลได้ยกเลิกภาษีนำเข้าให้แก่ร้อยละ 98 ของสินค้าสหรัฐฯรวมทั้งสิ้นที่อิสราเอลนำเข้าแล้วตั้งแต่ก่อนหน้าที่สหรัฐฯจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากคู่ค้าทั่วโลกในวันที่ 2 เมษายน 2568 และในการเดินทางเข้าพบประธานาธิบดี Trump ในวันที่ 7 เมษายน 2568 นาย Benjamin Netanyahu นายกรัฐมนตรีอิสราเอลได้สัญญาว่าจะพิจารณาหาทางลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯและลด
ข้อกีดกันทางการค้าโดยเร็วที่สุด

 

ญี่ปุ่น สหรัฐฯกำหนดขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 24 นาย Shigeru Ishiba นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้โทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดี Trump แล้วเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 แสดงความวิตกกังวลกับมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นของ Trump ว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นและความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น หลังจากนั้นนาย Ishiba ได้แต่งตั้งนาย Ryosei Akazawa ผู้ช่วยใกล้ชิดของนาย Ishiba และยังทำหน้าที่รับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของญี่ปุ่น ทำ หน้าที่เจรจากับสหรัฐฯ โดยวางแผนจะนัดเจรจากับ นาย Scott Bessent รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพื่อโน้มน้าวให้สหรัฐฯยกเลิกความคิดขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเรื่องสินค้าสำคัญคือ ก๊าซธรรมชาติแบบเหลว (liquefied natural gas) รถยนต์ สินค้าเกษตร

 

บังคลาเทศ สหรัฐฯกำหนดขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 37 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 บังคลาเทศได้ขอให้สหรัฐฯเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าออกไปอีก 3 เดือน โดยสัญญาว่าจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯให้มากขึ้นกว่าเดิมเป้าหมายการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯของบังคลาเทศคือ การหาหนทางที่จะทำให้บังคลาเทศไม่เสียเปรียบคู่แข่งขันในตลาดนำเข้าสหรัฐฯ

 

กัมพูชา ถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 49 นาย Hun Manet นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศว่ายินดีจะลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ 19 รายการจากอัตราร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 5 และขอให้สหรัฐฯเลื่อนเวลาการขึ้นภาษีออกไป ขณะเดียวกันก็สั่งการให้นาง Cham Nimul รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาทำหน้าที่เจรจากับสหรัฐฯ โดยนาง Nimul ติดต่อแจ้งนาย Jamieson Greer สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯแล้วว่ากัมพูชาพร้อมจะเจรจา แต่ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใดจากฝ่ายสหรัฐฯ

 

สหราชอาณาจักร ถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 10 มีรายงานว่า รัฐบาลอังกฤษเชื่อว่า จะสามารถเจรจากับสหรัฐฯเพื่อให้ลดหรือยกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหราช
อาณาจักร ได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยสหราชอาณาจักรอาจต่อรองกับสหรัฐฯ ว่าจะยอมลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯและอาจจะลดอัตราภาษีให้แก่บริษัทสหรัฐฯ ในสหราชอาณาจักร

 

นาย Jonathan Reynolds, Secretary of State for Business and Trade กล่าว่า ถ้าการต่อรองไม่เป็นไปตามที่สหราชอาณาจักรต้องการ ก็พร้อมที่จะทำการตอบโต้สหรัฐฯอย่างเป็นทางการโดยทันที

 

เวียดนาม ถูกขึ้นอัตราภาษีร้อยละ 46 วันที่ 5 เมษายน 2568 พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ส่งจดหมายถึงสหรัฐฯ และนาย Ho Duc Phoc รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามยังได้พบกับนาย Jamieson Greer U.S. Trade Representative เสนอที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯทั้งหมดโดยคาดหวังว่า สหรัฐฯจะลดอัตราภาษีที่สหรัฐฯจะเรียกเก็บจากสินค้าเวียดนาม หรือจะยืดเวลาการเก็บภาษีออกไปอีกอย่างน้อย 45 วัน ในวันที่ 17 เมษายน 2568 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า นาย Scott Bessent ตกลงที่จะเข้าสู่การเจรจาต่อรองกับเวียดนาม

 

อินเดีย สหรัฐฯกำหนดขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอินเดียร้อยละ 26 รัฐบาลอินเดียแสดงนัยยะว่า จะไม่ใช้วิธีการรุนแรงในการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ แต่จะพยายามเจรจาต่อรองกับประธานาธิบดี Trump โดยนาย Narendra Modi ได้เดินทางไปพบประธานาธิบดี Trump และเจรจาต่อรองทำสนธิสัญญาการค้าสองฝ่ายระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ความวิตกกังวลสูงสุดของอินเดียในขณะนี้คือ กลัวว่าจีนจะทุ่มสินค้าเข้าสู่อินเดีย

 

ไต้หวัน ถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 32 Reuter รายงาน ว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 ประธานาธิบดี Lai Ching-te ได้กล่าวว่า จะไม่ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ แต่จะเจรจาต่อรองกับฝ่ายบริหารประธานาธิบดี Trump ในเรื่อง zero tariffs ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน แม้ว่าไต้หวันจะเป็นประเทศแรกๆที่แสดงเจตจำนงจะเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการตอบสนองใดๆจากสหรัฐฯ

 

อินโดนิเซีย ถูกสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีเพิ่มร้อยละ 32 Reuters รายงานว่า นาย Airlangga Hartarto, chief economic minister กล่าวเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยวิธีทางการทูตแทนการตอบโต้สหรัฐฯ และวางแผนที่จะส่งผู้แทนเดินทางไปเจรจาต่อรองกับประธานาธิบดี Trump เงื่อนไขหนึ่งที่อินโดนิเซีย วางแผนจะนำเข้าสู่การต่อรองกับสหรัฐฯ คือ การปรับลดภาษีส่งออกสินค้าน้ำมันปาล์ม เพื่อลดราคาขายให้แก่ผู้นำเข้าสหรัฐฯ

 

สหภาพยุโรป ที่ถูกสหรัฐฯกำหนดอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 20 สหภาพยุโรปแสดงความพร้อมทั้ง การเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ และการตอบโต้กับสหรัฐฯ นาง Ursula von de Leyen, European Commission President, ระบุว่า สหภาพยุโรปพร้อมยอมรับข้อเสนอที่ดีๆ และขอต่อรองภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมกับสหรัฐฯ ในอัตรา zero-for-zero ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ยกเว้นฮังการี ได้ลงคะแนเสียงเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 เห็นด้วยกับการตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯบางรายการ เช่นรถมอเตอร์ไซต์ เนื้อไก่ ผลไม้ และไม้ เป็นต้น

 

หมายเหตุ: สถานการณ์สงครามทางการค้าที่สหรัฐฯเปิดฉากกับประเทศคู่ค้าทั่วโลกในครั้งนี้ ยังไม่มีความแน่นอนชัดเจน เนื่องจากสหรัฐฯปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติการบ่อยครั้งมาก ข่าวนี้มาจากเรื่องล่าสุดที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2568

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็นของ สคต ลอสแอนเจลิส
Reciprocal Tariffs ที่สหรัฐฯ จัดทำขึ้นเพื่อลดการนำเข้า อัตรา Reciprocal Tariffs มาจากการคำนวนจำนวนการเสียดุลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯแต่ละราย การจัดทำ Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯอยู่บนความเชื่อว่า การเสียดุลการค้าต่อเนื่องของสหรัฐฯ เป็นผลมาจาก

 

1. ตัวแปรที่เป็นภาษีนำเข้า (tariff) และตัวแปรที่ไม่ใช่ภาษีนำเข้า ทำให้การค้าระหว่างประเทศไม่สามารถเกิดสมดุลได้
2. กฎระเบียบ และเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม ของประเทศคู่ค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของสหรัฐฯ เพราะก่อให้เกิดความยุ่งยากและค่าใช้จ่าย
3. ความแตกต่างของอัตราภาษีการบริโภค (consumption tax)
4. การเล่นกลทางอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

 

อัตรา reciprocal tariffs ที่สหรัฐฯจัดทำ อยู่ระหว่างร้อยละ 0 – 99 โดยมีค่าเฉลี่ยไม่ถ่วงน้ำหนัก (unweighted average) และค่าเฉลี่ยที่ใช้การนำเข้าเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก (import-weighted average) ระหว่างร้อยละ 20 – 41

 

อัตรา reciprocal tariffs ที่สหรัฐฯ กำหนดสำหรับแต่ละประเทศ คือ อัตราที่สหรัฐฯ คำนวนแล้วว่าจะทำให้การค้าระหว่างสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้านั้นๆ ไม่ส่งผลให้สหรัฐฯเสียดุลการค้า โดยใช้ข้อมูลการค้าในปี 2024 ของ U.S. Census Bureau ในการคำนวน

 

สูตรคำนวนที่ใช้เป็นสูตรที่ยากต่อการเข้าใจของบุคคลทั่วไป โดยสรุปคือ reciprocal tariffs = มูลค่าที่สหรัฐฯ เสียดุลการค้าแก่ประเทศนั้นๆ หารด้วยการนำเข้าจากประเทศนั้นๆ แล้วหารด้วยสอง หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับว่าอัตราไหนจะสูงกว่าให้ใช้อัตรานั้น แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนออกมาระบุว่า สูตรการคำนวนที่ประธานาธิบดี Trump ใช้นั้นเป็นสูตรที่ผิด และ นำค่าที่ผิดเข้ามาคำนวน ทำให้ได้ค่าอัตราภาษีที่สูงเกินไปกับเกือบจะทุกประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และแม้ประเทศที่สหรัฐฯได้ดุลการค้า ก็ยังคงต้องถูกขึ้นภาษีอย่างต่ำร้อยละ 10

 

การคำนวนของนักเศรษฐศาสตร์ระบุอัตราภาษีนำเข้าที่ถูกต้องในระดับที่ต่ำกว่าที่ประธานาธิบดี Trump ประกาศ โดยอัตราภาษีนำเข้าที่ส่วนใหญ่รวมถึงประเทศไทยจะได้รับจะอยู่ที่ร้อยละ 10

ปฏิกิริยาตอบโต้นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา

ปฏิกิริยาตอบโต้นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส | เมษายน 2568

 

thThai