เนื้อข่าว
กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม (Ministry of Agriculture and Environment) ได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการส่งออกพริก เสาวรส รังนก และรำข้าวไปยังประเทศจีน โดยการลงนามมีขึ้นในช่วงการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 14–15 เมษายน 2568
พิธีสารที่ลงนามประกอบด้วย พิธีสารว่าด้วยการตรวจสอบศัตรูพืชสำหรับการส่งออกพริกจากเวียดนามไปจีน (The Protocol on plant quarantine for chilli exported from Viet Nam to China) พิธีสารว่าด้วยการตรวจสอบศัตรูพืชสำหรับเสาวรส (The Protocol on plant quarantine for passion fruit) พิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยและการตรวจกักกันโรคพืชสำหรับรำข้าวและรำข้าวที่แยกไขมันแล้ว ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ (The Protocol on safety and animal-plant quarantine for rice bran and defatted rice bran used as animal feed ingredients) และพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านการกักกัน การตรวจสอบ และข้อกำหนดด้านสุขอนามัยทางสัตวแพทย์สำหรับรังนกดิบและรังนกที่ผ่านการทำความสะอาด (The Protocol on quarantine, inspection and veterinary hygiene requirements for raw and cleaned bird’s nest products)
จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ขณะเดียวกันเวียดนามก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในไตรมาสแรกของปี 2568 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศอยู่ที่ 51,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตลอดทั้งปี ความร่วมมือด้านการค้าระหว่างเวียดนามและจีนมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยจนถึงปัจจุบัน ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจและพิธีสารว่าด้วยการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ และประมง รวมทั้งสิ้น 24 ฉบับ โดยเฉพาะในปี 2567 เพียงปีเดียว มีการลงนามในพิธีสารถึง 4 ฉบับ ครอบคลุมการส่งออกทุเรียนแช่แข็ง จระเข้ ลิง และมะพร้าวสด
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามระบุว่า ความร่วมมือทางการค้าระหว่างเวียดนามกับจีนยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก จากพื้นฐานของความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement: ACFTA) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดยในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 205,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 33,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับปี 2566 และนับเป็นครั้งแรกที่เวียดนามมีมูลค่าการค้ารวมกับประเทศคู่ค้าใดประเทศหนึ่งเกิน 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าแรกที่เวียดนามมีมูลค่าการค้าสูงถึงระดับดังกล่าว
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 16 เมษายน 2568)
วิเคราะห์ผลกระทบ
จีนเป็นตลาดนำเข้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ขณะที่เวียดนามก็ครองสถานะคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2567 จีนมีมูลค่านำเข้าผักและผลไม้จากเวียดนามสูงถึง 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ ทุเรียนมากกว่า 2,840 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยแก้วมังกร 320 ล้านเหรียญสหรัฐ กล้วย 220 ล้านเหรียญสหรัฐ และขนุน 240 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนศักยภาพของเวียดนามในการเจาะตลาดจีนคือทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมีพรมแดนทางบกและทางน้ำติดต่อกับจีนยาวกว่า 1,450 กิโลเมตร ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำและระยะเวลาขนส่งสั้นกว่าประเทศผู้ส่งออกรายอื่นอย่างไทย อีกทั้งยังมีตลาดค้าส่งขนาดใหญ่กระจุกตัวอยู่ตามแนวชายแดนจีน เช่น เขตปกครองตนเองกวางซีและยูนนาน ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่เพาะปลูกหลักของเวียดนามเพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตร
ก่อนการเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รัฐบาลจีนได้อนุมัติให้สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรจากเวียดนามรวม 14 รายการ โดยมี 6 รายการที่ได้รับอนุมัติพร้อมลงนามในข้อตกลงด้านการส่งออกอย่างเป็นทางการ ได้แก่ แตงโม มังคุด เฉาก๊วย ทุเรียน กล้วยสด และมันเทศ ส่วนผลไม้อื่นที่มีการส่งออกแต่ยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ได้แก่ แก้วมังกร เงาะ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย และขนุน ขณะที่เสาวรสและพริกอยู่ในระหว่างการส่งออกแบบนำร่อง ปัจจุบัน เวียดนามและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจและพิธีสารด้านการค้าสินค้าเกษตร ป่าไม้ และประมงแล้วจำนวนทั้งสิ้น 24 ฉบับ โดยในปี 2567 มีการลงนามข้อตกลงใหม่ถึง 4 ฉบับ ได้แก่ ข้อตกลงการส่งออกทุเรียนแช่แข็ง จระเข้ และลิง ซึ่งลงนามในช่วงการเยือนจีนของนายโต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 18–20 สิงหาคม 2567 และข้อตกลงการส่งออกมะพร้าวสด ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ในโอกาสที่ผู้นำสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนเดินทางเยือนกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม
การที่เวียดนามสามารถขยายการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นอีก 4 ชนิดไปยังจีน ถือเป็นพัฒนาการสำคัญที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเวียดนามโดยตรง และในขณะเดียวกัน ก็อาจสร้างแรงสะเทือนทางเศรษฐกิจมายังประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและการส่งออกผลไม้ที่ไทยเคยครองความได้เปรียบในตลาดจีนมาอย่ายาวนาน สินค้าอย่างทุเรียน กล้วย และแตงโม ซึ่งเวียดนามเริ่มได้รับสิทธิส่งออกอย่างเป็นทางการ ต่างเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกมายังจีนทั้งสิ้น หากเวียดนามสามารถตั้งราคาที่แข่งขันได้มากกว่า ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและความได้เปรียบด้านระยะทางการขนส่ง อาจทำให้ไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
การที่เวียดนามลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมกับจีนในช่วงการเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งครอบคลุมการส่งออกสินค้าเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ พริก เสาวรส รังนก และรำข้าว ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้เวียดนามขยายตลาดสินค้าเกษตรในจีนได้มากขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของเวียดนามในการใช้การค้าด้านเกษตรเป็นเครื่องมือหลักในการเจาะตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จุดแข็งเรื่องพื้นที่ที่ติดกับจีน และการเตรียมตัวด้านมาตรฐานสินค้าให้สอดรับกับข้อกำหนดของจีนอย่างรอบด้าน
สำหรับไทย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ เพราะหลายสินค้าที่เวียดนามได้รับสิทธิ์ส่งออกไปจีนนั้น ตรงกับสินค้าหลักของไทย เช่น พริก กล้วย หรือทุเรียน ซึ่งอาจทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหากเวียดนามสามารถตั้งราคาขายที่ถูกกว่าเพราะต้นทุนการผลิตและการขนส่งต่ำกว่า ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งปรับตัว ทั้งในเรื่องการพัฒนาคุณภาพสินค้า การทำมาตรฐานให้ได้ตามที่จีนกำหนด เช่น GAP, GMP หรือระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการพัฒนาโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีน ขณะเดียวกัน ไทยก็ควรใช้ความร่วมมือในกรอบอาเซียน–จีน (ACFTA) และ RCEP ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น การลดอุปสรรคทางการค้า และการพัฒนาระบบการค้าชายแดนให้คล่องตัวและเข้าถึงง่าย โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย
ในภาพรวม แม้เวียดนามจะเร่งขยายบทบาทในตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง แต่การเปิดรับสินค้าจากประเทศอาเซียนมากขึ้นของจีน ก็เป็นสัญญาณเชิงบวกที่ไทยสามารถใช้เป็นโอกาสในการขยายเครือข่ายการค้า และสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับประเทศเพื่อนบ้านได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หากไทยสามารถปรับตัวและยกระดับศักยภาพได้อย่างทันท่วงที ก็อาจเปลี่ยนความท้าทายจากการแข่งขันครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสสำคัญบนเวทีการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน