ประเทศจีนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยปี 2024 ประชากรจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึง 310 ล้านคน คิดเป็น 22% ของประชากรทั้งหมด ขนาดของเศรษฐกิจมีมูลค่าทะลุ 7 ล้านล้านหยวน คิดเป็นประมาณ 6% ของ GDP ซึ่งกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการเพื่อผู้สูงอายุ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่การเงิน อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยีสุขภาพ ไปจนถึงวัฒนธรรมและกฎหมาย โดยมีสามารถจำแนกออกเป็น 6 หมวดหมู่สำคัญที่สะท้อนโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพนี้ อาทิ

 

1.การเงินเพื่อการเกษียณ คือ หนึ่งในรากฐานหลักของระบบนิเวศเศรษฐกิจสีเงิน ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์ประกันบำนาญ กองทุนบำนาญ และเงินออมประเภทต่างๆ โดยยังอยู่ในช่วงพัฒนา โดยเฉพาะบำนาญเสาหลักที่สาม (ภาคสมัครใจ) ที่รัฐผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีเสถียรภาพ

 

2. อสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุ ก็เริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาชุมชนและที่อยู่อาศัยเฉพาะกลุ่ม เช่น อพาร์ตเมนต์ดูแลสุขภาพ ชุมชนสูงวัย พร้อมบริการทางการแพทย์และกิจกรรมทางสังคมควบคู่ จากสถิติพบว่า บริษัทประกันขนาดใหญ่ในประเทศจีนได้ขยายเครือข่ายชุมชนดูแลผู้สูงอายุมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ตัวอย่างเช่น Taikang Community (泰康之家: ไท่คังจือเจีย) ได้วางแผนโครงการใน 43 แห่ง ครอบคลุม 36 เมืองทั่วประเทศจีน และได้เปิดดำเนินการแล้ว 24 แห่งใน 22 เมือง มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 16,000 คน โดยคาดการณ์ ภายในสิ้นปี 2025 จะมีจำนวนผู้อยู่อาศัยในชุมชนของ Taikang Community เกิน 20,000 คน

 

เทรนด์ในอุตสาหกรรมผู้สูงอายุของจีน ในปี 2025

 

 

 3. บริการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในบ้าน ชุมชน และแบบสถาบัน ถือเป็นอีกแกนหลักของระบบนิเวศเศรษฐกิจผู้สูงอายุ โดยมีรูปแบบบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่พยาบาลเยี่ยมบ้าน การฟื้นฟูสมรรถภาพ ไปจนถึงบ้านพักคนชราเอกชน ซึ่งยังมีช่องว่างในการพัฒนาทั้งในด้านบุคลากร มาตรฐาน และระบบบริการ

 

4. การบูรณาการระหว่างบริการดูแลกับระบบสาธารณสุขเพื่อผู้สูงอายุ เริ่มกลายเป็นแนวโน้มใหม่ที่สำคัญ ผ่านโมเดลการดูแลสุขภาพแบบผสมผสาน (Medical-Elderly Integration) เพื่อรองรับความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นของผู้สูงอายุในระยะยาว

 

5. เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งในรูปแบบของการดูแลอัจฉริยะที่ใช้ IoT, AI และ Big Data เข้ามาเสริมในการติดตามสุขภาพและความปลอดภัย ตลอดจนตลาดอุปกรณ์ฟื้นฟูที่มีแนวโน้มพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์เฉพาะบุคคลและอัจฉริยะมากขึ้น เช่น ในอดีตการทำงานเกี่ยวกับภาวะบกพร่องทางการรับรู้ของผู้สูงอายุ เน้นการประเมินและฝึกฝนการรับรู้ผ่านแบบฝึกหัดชุดเดิมซ้ำๆ ซึ่งขาดความเป็นส่วนตัวและไม่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและการใช้เทคโนโลยีโมเดลขนาดใหญ่ หุ่นยนต์สามารถสนทนากับผู้สูงอายุได้ด้วยตนเอง ช่วยให้การดูแลมีความใกล้ชิดและเป็นธรรมชาติมากขึ้น

 

6. ด้านไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การศึกษา และวัฒนธรรมสำหรับผู้สูงอายุ ก็กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ ด้วยแนวโน้มผู้สูงอายุรุ่นใหม่ที่ยังคงแสวงหาความรู้ ความบันเทิง และคุณภาพชีวิตอย่างเต็มที่ จึงเกิดเป็นการออกแบบทัวร์พิเศษ มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่ม

 

อีกทั้ง ในเดือนมกราคม 2024 สำนักงานทั่วไปของคณะรัฐมนตรีจีนได้ออกเอกสารนโยบาย ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเงินเพื่อเสริมสร้างสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยเรียกเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างย่อว่า “เศรษฐกิจสีเงิน” ซึ่งกำหนดภารกิจหลัก 20 ประการใน 6 ด้าน โดยมีเนื้อหาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของภาคผู้สูงอายุและการดูแลเด็ก โดยเน้นย้ำให้พัฒนาเศรษฐกิจผู้สูงอายุ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยแบบอัจฉริยะ สนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมไร้อุปสรรคในพื้นที่สาธารณะและแหล่งบริโภค ตลอดจนปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ภายในปี 2035 คาดว่าขนาดตลาดในเส้นทางนี้จะขยายตัวถึง 30 ล้านล้านหยวน และคิดเป็น 10% ของ GDP

นอกจากนี้ยังมี บริการเฉพาะทางอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญ เช่น บริการอาหารเพื่อสุขภาพ บริการแม่บ้านสำหรับผู้สูงอายุ สื่อมวลชนเฉพาะกลุ่ม และการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายที่มุ่งเน้นสิทธิของผู้สูงวัยโดยตรง แม้หลายภาคส่วนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นหรือพัฒนา แต่ระบบการบริการผู้สูงอายุในจีนถือว่ากำลังขยายตัวอย่างชัดเจนและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งจากการสนับสนุนของภาครัฐ การลงทุนจากเอกชน และแรงขับจากความต้องการในสังคมที่เปลี่ยนไป

 

 

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน: จีนกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ.ส่งผลให้ เศรษฐกิจสีเงิน กลายเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่สำคัญยิ่งต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในทศวรรษหน้า สิ่งที่น่าสนใจคือจีนไม่ได้มองเศรษฐกิจผู้สูงอายุเพียงแค่ในมิติของการดูแลเท่านั้น แต่กำลังผลักดันให้กลายเป็น กลไกเศรษฐกิจใหม่ ผ่านการพัฒนาอย่างเป็นระบบ แนวโน้มการขับเคลื่อนนี้เห็นได้ชัดจากการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น นโยบายระดับชาติ การบูรณาการ AI และเทคโนโลยีแห่งอนาคต ในการดูแลผู้สูงวัย แม้หลายส่วนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือโครงสร้างพื้นฐาน ที่สร้างขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนในระยะยาว เศรษฐกิจผู้สูงอายุจึงไม่ใช่เพียงภาคบริการ แต่คือโครงสร้างยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สามารถต่อยอดได้ทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่กำลังเผชิญสังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน

 

 

https://finance.sina.com.cn/jjxw/2025-04-10/doc-inessiqu3167647.shtml

https://mp.weixin.qq.com/s/Qm-lOc–CAeWaMX22UAVwg

https://finance.sina.com.cn/roll/2025-03-16/doc-inepvezs0987593.shtml

      เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

18 เมษายน 2568

 

thThai