เนื้อหาสาระข่าว: 5 วิธีที่แบรนด์ต่างๆ ในสหรัฐฯ จะสามารถชะลอหรือลดต้นทุนภาษีศุลกากรเมื่อการยกเว้นภาษีขั้นต่ำ (De Minimis) สิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม
การยกเว้นภาษีขั้นต่ำกำลังจะสิ้นสุดลง แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะระงับการบังคับใช้ภาษีศุลกากรส่วนใหญ่ที่ประกาศไว้เป็นเวลา 90 วัน แต่การขนส่งสินค้าที่ผลิตในจีนภายใต้การยกเว้นภาษีขั้นต่ำจะสิ้นสุดลงเร็วกว่านั้น ซึ่งการขนส่งดังกล่าวนั้น เป็นส่วนหนึ่งของมาตรา 321 ของกฎหมายศุลกากรสหรัฐ อนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าน้อยกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมเป็นต้นไปการขนส่งสินค้าที่ผลิตในจีนผ่านช่องทางที่เคยได้รับการยกเว้นภาษีขั้นต่ำดังกล่าวนี้ จะไม่ได้รับสิทธิ์อีกต่อไปแล้ว ส่วนเรื่องการย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน ดังนั้นหลายๆ แบรนด์จึงมองหาวิธีควบคุมระยะเวลาการชำระภาษีศุลกากร Alex Yancher ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Passport Global บริษัทสตาร์ทอัพที่ช่วยแบรนด์จำหน่ายสินค้าทั่วโลก กล่าวว่า “เป้าหมายหลักในตอนนี้คือการชะลอการชำระภาษี หากสินค้าของคุณผลิตในจีน” โดยกลยุทธ์ที่ผู้นำเข้าสินค้ากำลังพิจารณาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสิ้นสุดของการยกเว้นภาษีขั้นต่ำและรับมือกับสถานการณ์ภาษีศุลกากร ได้แก่
-
- การจัดเก็บสินค้าคงคลังในคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) คลังสินค้าทัณฑ์บนได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลกลาง อนุญาตให้ผู้ค้าปลีกจัดเก็บสินค้าโดยไม่ต้องชำระภาษีเป็นเวลานานถึง 5 ปี แทนที่จะชำระภาษีสำหรับสินค้าทั้งตู้คอนเทนเนอร์ ผู้นำเข้าที่ใช้คลังสินค้าทัณฑ์บนสามารถบริหารจัดการสินค้าคงคลังในปริมาณน้อยลง และกระจายการชำระภาษีออกไปในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น บลูมเบิร์กรายงานว่าความต้องการคลังสินค้าพิเศษเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์หลังจากการประกาศ “วันปลดแอก (Liberation Day)” ของทรัมป์ โดยบริษัท ShipMonk ผู้ให้บริการโลจิสติกส์บุคคลที่สาม เป็นหนึ่งในบริษัทที่พยายามตอบสนองความต้องการคลังสินค้าประเภทนี้ โดยกำลังปรับเปลี่ยนส่วนหนึ่งของสถานที่ในเท็กซัส เคนทักกี เนวาดา และแคนาดาให้เป็นพื้นที่คลังสินค้าทัณฑ์บน Kevin Sides ประธานของ ShipMonk กล่าวว่า “ประโยชน์หลักคือการบริหารกระแสเงินสด โดยเฉพาะเมื่อแบรนด์ต้องจ่ายภาษีและอากรในอัตราที่สูงมากอย่างในขณะนี้”
- การขนส่งสินค้าเข้าสู่เขตการค้าต่างประเทศ (Foreign Trade Zone) คล้ายๆ กับคลังสินค้าทัณฑ์บน เขตการค้าต่างประเทศอนุญาตให้ผู้นำเข้าชะลอการชำระภาษีศุลกากรชั่วคราว ทั้งสองตัวเลือกนี้ยังช่วยให้ผู้ค้าสามารถเก็บสินค้าคงคลังในสหรัฐได้ในขณะที่รอดูสถานการณ์ภาษีศุลกากรต่อไป Jeffrey Tafel ประธานสมาคมเขตการค้าต่างประเทศแห่งชาติ กล่าวกับ Financial Times ว่ามีคนสนใจในเขตการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2 ถึง 4 เท่านับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในปีนี้
- บริหารการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อใกล้สถานที่ผลิต แม้ว่าการสิ้นสุดของการยกเว้นภาษีขั้นต่ำจะทำให้สินค้าที่มีมูลค่าต่ำต้องเสียภาษีตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม การจัดส่งคำสั่งซื้อจากสถานที่ใกล้กับแหล่งผลิตยังคงมีข้อได้เปรียบอยู่ บริษัท Portless เป็นสตาร์ทอัพที่ให้บริการบริหารการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อของแบรนด์ในจีนและจัดส่งโดยเครื่องบินตรงถึงลูกค้า Izzy Rosenzweig ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทดังกล่าว อธิบายว่านี่เป็น “กลยุทธ์ด้านงบดุล” ที่เหมาะกับแบรนด์ขนาดเล็กที่ไม่มีเงินสดจำนวนมากสำหรับชำระภาษีศุลกากร “คุณจะเสียภาษีเมื่อสินค้าเข้าสู่ประเทศเท่านั้น Portless อยู่ใกล้โรงงาน ดังนั้นสินค้าของคุณยังไม่เข้าสู่ประเทศปลายทาง เพียงแต่อย่านำสินค้าเข้าประเทศปลายทางเว้นแต่เมื่อจำเป็นเท่านั้น และจัดส่งเข้าสู่ประเทศปลายทางไปทีละชิ้นๆ”
- บริหารการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน ในทำนองเดียวกัน แบรนด์ต่างๆ กำลังพิจารณาแหล่งผลิตใกล้สหรัฐฯ และการบริหารการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อจากแคนาดาหรือเม็กซิโก โดยการเลือกใช้ผลิตในประเทศใกล้เคียงช่วยชะลอการชำระภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้ เพราะจะสามารถเลือกนำเข้าเฉพาะสิ่งที่ขายในสหรัฐฯ และชำระภาษีเพียงเท่านั้นตรงจุดผ่านแดนเลย แทนที่จะนำเข้าสินค้าทั้งหมดในปริมาณมากๆ แล้วต้องชำระภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าทั้งหมดทันที
- การขยายฐานแหล่งผลิตและวัตถุดิบ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ายังแนะนำให้แบรนด์ต่างๆ ศึกษาห่วงโซ่อุปทานของตนเพื่อดูว่าการผลิตในประเทศอื่นๆ ยังสามารถประหยัดภาษีได้หรือไม่ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างตามเงื่อนไขการเรียกเก็บภาษีศุลกากร (Tariff engineering) หรือปรับเปลี่ยนการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้พอที่จะจัดอยู่ในหมวดหมู่สินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ Columbia Sportswear และรองเท้ากีฬา Converse ใช้มานานหลายปีแล้ว
บทวิเคราะห์: De Minimis หมายถึงการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำตามที่กำหนด ซึ่งในสหรัฐฯ อยู่ที่ไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน ตามมาตรา 321 ของพระราชบัญญัติภาษีศุลกากร พ.ศ. 2473 (Tariff Act of 1930) สินค้าเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและมีขั้นตอนศุลกากรน้อยที่สุด ช่วยลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจขนาดเล็กและการค้ามูลค่าต่ำ โดยเฉพาะผู้ค้าปลีกออนไลน์จะได้ประโยชน์จากการใช้ช่องทางนี้ในการำเข้าสินค้าส่งตรงไปถึงผู้บริโภคเป็นครั้งๆ ไป โดยส่วนใหญ่การขนส่งมักใช้การขนส่งทางอากาศ แต่ก็พบว่ามีการนำเข้าผ่านรถบรรทุก รถไฟ และทางเรือด้วย
สินค้าจากจีนและฮ่องกงที่ใช้ช่องทาง De Minimis เผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 เพื่อยกเลิกการยกเว้น De Minimis สำหรับสินค้าจากจีนและฮ่องกง มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 การยกเลิกนี้มีเป้าหมายเพื่อปิดช่องโหว่ที่บริษัทค้าปลีกออนไลน์สัญชาติจีน อาทิ Shein และ Temu ใช้ในการส่งออกสินค้าราคาถูก เช่น เสื้อผ้าและของใช้ในบ้าน ซึ่งครองสัดส่วนถึง 67.4% ของสินค้า De Minimis ในช่วงปี 2561-2564 ทำให้แบรนด์ท้องถิ่น เช่น American Eagle, Gap, Revlon และ Morphe ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปอย่างมากมาย โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนในปี 2567 มูลค่า 401.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้า De Minimis มีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปี 2565 (1.4 พันล้านชิ้นในปี 2024) ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยสกัดการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย เช่น ชิ้นส่วนอาวุธและยาเสพติด ผ่านช่องทาง De Minimis ด้วย
ซึ่งในเบื้องต้น สินค้าที่เข้าเกณฑ์ De Minimis จากจีนและฮ่องกงจะต้องเสียภาษีร้อยละ 30 ของมูลค่าสินค้า หรือ 25 ดอลลาร์ต่อชิ้น เริ่มต้นวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 และจะเพิ่มเป็น 50 ดอลลาร์ต่อชิ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 (ตามคำสั่งบริหาร 14256 ลว. 2 เม.ย. 2568) แต่ต่อมาเมื่อจีนประกาศนโยบายตอบโต้ สหรัฐฯ จึงมีการโต้กลับ ทำให้มีเพื่อปรับขึ้นอัตราภาษีและค่าธรรมเนียมถึง 2 รอบ ผ่านคำสั่งบริหารอีก 2 ฉบับให้ปรับเพิ่มอัตราภาษีและค่าธรรมเนียม
-
- คำสั่งบริหาร 14259 วันที่ 8 เม.ย. 2568 – สั่งให้ปรับขึ้นภาษีสำหรับสินค้าที่เข้าเกณฑ์ De Minimis จากจีนและฮ่องกงเป็น 90% ของมูลค่าสินค้า หรือ 75 ดอลลาร์ต่อชิ้น เริ่มต้นวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 และจะเพิ่มเป็น 150 ดอลลาร์ต่อชิ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568
- (ล่าสุด) คำสั่งบริหาร 14266 วันที่ 9 เม.ย. 2568 – สั่งให้ปรับขึ้นภาษีสำหรับสินค้าที่เข้าเกณฑ์ De Minimis จากจีนและฮ่องกงเป็น 120% ของมูลค่าสินค้า หรือ 100 ดอลลาร์ต่อชิ้น เริ่มต้นวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 และจะเพิ่มเป็น 200 ดอลลาร์ต่อชิ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: สำหรับประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยที่เคยใช้ช่องทาง De Minimis นี้ในการจำหน่ายสินค้ามายังสหรัฐฯ ยังไม่ใช่เวลาที่จะต้องกังวลใจใดๆ และอาจเป็นช่วงกอบโกยที่ควรจะพยายามเร่งใช้ช่องทางนี้กันให้มากที่สุด เพราะปัจจุบันมีเพียงสินค้าจากจีนและฮ่องกงเท่านั้นที่จะต้องผ่านกระบวนการนำเข้าทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการร และยังถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราพิเศษอย่างมหาโหดที่ร้อยละ 120 ของมูลค่าสินค้าอีกด้วย เชื่อว่าผู้ค้าปลีกออนไลน์จากจีนก็น่าจะต้องมีการสะดุดบ้าง อย่างน้อยก็ในระยะอันใกล้นี้แน่ๆ ตราบเท่าที่มาตรการดังกล่าวยังไม่ขยายกรอบไปยังสินค้าจากประเทศอื่นๆ De Minimis ก็ยังเป็นช่องทางที่น่าสนใจและควรพิจารณาใช้โอกาสเท่าที่ยังมีอยู่นี้ เพราะสหรัฐฯ มีแผนยกเลิก De Minimis ทั่วโลกเมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอที่จะรองรับภาระอันหนักอึ้งที่สำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนแห่งสหรัฐอเมริกา (CBP) จะต้องแบกรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังรัฐบาลสหรัฐฯ มีการกระตุ้นให้พนักงานภาครัฐซึ่งรวมถึง CBP ด้วยเกษียณก่อนอายุราชการกันจำนวนมากด้วยแล้ว ยิ่งน่าจะหนักหนาสาหัสอยู่
ความแตกต่างระหว่างประเทศไทยและจีน
-
- การปฏิบัติในปัจจุบัน:
- ไทย: ยังคงใช้ De Minimis ได้ตามปกติ แต่ต้องระวังความเข้มงวดในการตรวจสอบ
- จีน: สิทธิ์ De Minimis ถูกยกเลิกตั้งแต่ 2 พฤษภาคม 2568 โดยจะต้องเสียภาษีร้อยละ 120 ของมูลค่าสินค้า หรือ 100 ดอลลาร์ต่อชิ้น และต้องเสียภาษีเพิ่มเป็น 200 ดอลลาร์ต่อชิ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 อีกด้วย (หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกในอนาคตเมื่อสหรัฐฯ มีโอกาสเจรจากับจีนได้สำเร็จ) นอกจากนี้สินค้าจีนที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐซึ่งเคยใช้ช่องทาง De Minimis แล้วไม่ต้องสำแดงและผ่านขั้นตอนการนำเข้าใดๆ ก็จะต้องผ่านขั้นตอนการนำเข้าอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการทุกชิ้นอีกด้วย ผลกระทบจึงไม่ใช่เพียงเรื่องราคา แต่อาจกระทบไปถึงระยะเวลาในการจัดส่งและอาจไปถึงขั้นไม่สามารถจัดส่งตามคำสั่งซื้อด้วยในบางกรณี
- ปริมาณการใช้: สินค้าจากจีนมีสัดส่วน De Minimis สูงกว่าทุกประเทศมาก (67.4% ของทั้งหมด) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าขนาดเล็กซึ่งจำหน่ายโดยผู้ค้าปลีกออนไลน์
- ความเสี่ยง:
- ไทย: เสี่ยงจากนโยบายยกเลิก De Minimis ในอนาคต ซึ่งอาจกระทบผู้ส่งออกขนาดเล็ก อีกทั้งผู้ประกอบการไทยยังควรพึงระวัง อย่าตกเป็นเครื่องมือผู้ค้าจีนที่อาจนำสินค้าจากจีนมาสวมสิทธิ์แปลงเป็นสินค้าจากประเทศไทยโดยไม่มีการแปรรูปหรือมูลค่าเพิ่มใดๆ อันอาจนำพาประเทศไทยทั้งประเทศต้องเสี่ยงกับมาตรการลงโทษโดยสหรัฐฯ ด้วย
- จีน: เผชิญผลกระทบทันทีจากภาษีใหม่และอาจถูกจำกัดช่องทางการค้าผ่านประเทศที่สาม
- การปฏิบัติในปัจจุบัน:
ตารางข้างล่างนี้ แสดงการเปรียบเทียบระหว่างสินค้าไทยและจีนหากมีการจัดส่งเข้าสหรัฐฯ ในช่องทาง De Minimis เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
ตารางเปรียบเทียบการนำเข้าสินค้าผ่านช่องทาง De Minimis ของสหรัฐฯ
รายการเปรียบเทียบ | สินค้าจากประเทศไทย | สินค้าจากจีน/ฮ่องกง |
สิทธิ De Minimis (มูลค่า ≤ $800) | ได้รับสิทธิ | ถูกยกเลิกแล้ว |
ต้องเสียภาษีนำเข้าหรือไม่ | ไม่ต้องเสีย (ถ้าไม่เกิน $800) | ต้องเสียทุกกรณี |
อัตราภาษีตามมูลค่า(ad valorem) * | ไม่มี (ถ้าไม่เกิน $800) | (ไปรษณีย์) 120% (2 พ.ค.)
(เอกชน) ยื่นแบบและเสียภาษีตามอัตราภาษีของสินค้าแต่ละหมวด |
ค่าธรรมเนียมไปรษณีย์แบบคงที่ * | ไม่มี | $100 ต่อชิ้น (2 พ.ค.)
$200 ต่อชิ้น (1 มิ.ย.) |
ใช้ Entry Type 86 ได้หรือไม่ | ได้ | ไม่ได้ |
ต้องยื่นเอกสาร CBP Form 7501 | ไม่จำเป็น (ถ้าไม่เกิน $800) | จำเป็น |
มีผลกระทบต่อต้นทุนหรือไม่ | ไม่มีผลกระทบ | ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก |
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต | ควรจับตานโยบายใหม่ของสหรัฐฯ | อาจมีการเพิ่มมาตรการเพิ่มเติมได้อีก |
* จากคำสั่งบริหาร 14256, 14257 และ 14266 ชี้ว่า CBP จะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการเรียกเก็บว่าจะเป็นการเรียกเก็บอัตราภาษีตามมูลค่า หรือค่าธรรมเนียมไปรษณีย์แบบคงที่ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น จะไม่มีการเรียกเก็บทั้ง 2 อัตราพร้อมกัน (ตามที่ระบุในคำสั่งบริหาร 14256 Section C (ii) และใน Fact Sheet_Closes de Minimis Exemptions…)
ข้อแนะนำสำหรับผู้ส่งออกจากประเทศไทย
-
- ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร: ระบุข้อมูลสินค้าให้ชัดเจนและเป็นจริง เพื่อลดความเสี่ยงจากการตรวจสอบของศุลกากรสหรัฐฯ
- หลีกเลี่ยงสินค้าต้องห้าม: ตรวจสอบรายการสินค้าที่อาจถูกจำกัด เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา
- ติดตามนโยบาย: เตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น การยกเลิก De Minimis หรือการเพิ่มภาษีตอบโต้
- ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์: พิจารณาใช้ระบบแจ้งนำเข้าผ่าน Customs Automated Commercial System (ACS) หรือ Automated Broker Interface (ABI) เพื่อความรวดเร็ว
*********************************************************
ที่มา: Business Insider เรื่อง: “How brands can reduce tariff costs as de minimis ends in May” โดย: Madeline Stone สคต. ไมอามี /วันที่ 23 เมษายน 2568