เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ศุลกากรแห่งชาติจีน คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติจีน กระทรวงการคลัง กระทรวงที่ดินและทรัพยากร กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากรจีน สำนักงานบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศแห่งชาติจีน ได้ตรวจสอบเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน (Foshan Comprehensive Bonded Zone) ในเมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง และอนุมัติให้เป็นเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนแห่งแรกของเมืองฝอซานและแห่งที่ 13 ของมณฑลกวางตุ้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับเมืองฝอซานในการขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนารูปแบบใหม่ และสร้างระบบเศรษฐกิจแบบเปิดในระดับที่สูงขึ้น และถือเป็นก้าวใหม่ของการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำและทางอากาศ และเปิดประตูประเทศของเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) สู่ต่างประเทศ นำไปสู่การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมชีเจี้ยว เขตชุ่นเต๋อ เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง ตามแผนโครงการมีพื้นที่ 1.13 ตารางกิโลเมตร (706.25 ไร่) จุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งสร้างเครือข่ายคมนาคมสามมิติที่ครอบคลุมทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยทิศตะวันออกเชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงกว่างโจวใต้และสะพานเซินเจิ้น-จงซาน (Shenzhen–Zhongshan Link) ทิศใต้เชื่อมกับท่าเรือ ชุ่นเต๋อ (Shunde Port) ทิศตะวันตกเชื่อมกับท่าอากาศยานหลักจูเจียงที่อยู่ในแผนพัฒนาของจีน และทิศเหนือเชื่อมกับท่าอากาศยานนานาชาติไป๋หยุนเมืองกว่างโจว
ในฐานะศูนย์กลางของ “วงจรเศรษฐกิจหนึ่งชั่วโมง” เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซานแห่งนี้ สามารถเข้าถึงท่าอากาศยานนานาชาติไป๋หยุน เมืองกว่างโจว และท่าอากาศยานนานาชาติเป่าอัน เมืองเซินเจิ้นภายใน 1 ชั่วโมง รวมถึงเดินทางถึงฮ่องกง-มาเก๊าภายใน 2 ชั่วโมง ก่อเกิดความได้เปรียบจากการเชื่อมโยง 4 ท่า/ด่าน “ท่าอากาศยาน+ท่าเรือ+ท่าเรือบก+ท่าข้อมูล” สิ่งที่น่าจับตามองคือ เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน เตรียมพัฒนารูปแบบการผ่านด่าน “ประสานเขต-ท่าเรือ” กับท่าเรือชุ่นเต๋อที่อยู่ติดกัน โดยเชื่อมต่อระหว่าง “เขตปฏิบัติการศุลกากร+พื้นที่ปฏิบัติการท่าเรือ” สินค้านำเข้า-ส่งออกสามารถ ”ยื่นเอกสาร+ตรวจสอบ+ปล่อยผ่าน” ในคราวเดียวกัน เพิ่มประสิทธิภาพการผ่านด่าน ลดต้นทุนการจัดการโลจิสติกส์ สร้างแรงขับเคลื่อนประสิทธิภาพการค้าในพื้นที่เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area)
นอกจากนี้ เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก 10 สาขา ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Appliances) อุปกรณ์ที่สนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบใหม่ที่เน้นคุณภาพ (High-end Equipment Manufacturing) เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) โลจิสติกส์สมัยใหม่ (Modern Logistics) ธุรกิจข้ามพรมแดน (Cross-border E-commerce) อัญมณีและเครื่องประดับ การแปรรูปอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic information) ยานยนต์และอุตสาหกรรมพลังงานใหม่หลัก 10 สาขา พร้อมผลักดันการสร้าง 5 ศูนย์กลาง ได้แก่ ศูนย์แปรรูปอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงระดับศูนย์กระจายสินค้าระดับโลก ศูนย์บริการทางการค้าระดับภูมิภาค ศูนย์วิจัยและพัฒนาการออกแบบเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน และศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสอบมาตรฐานระดับโลก เพื่อการเปิดกว้างทางธุรกิจและอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนให้แก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดการลงทุนและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ มายังเมืองฝอซาน
ทั้งนี้ การดำเนินการของเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน คาดว่าจะสามารถลดขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกกว่า 40% คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้กับบริษัทต่างชาติได้ถึง 25% โดยปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำกว่า 50 แห่ง ลงนามข้อตกลงเข้าสู่เขตพัฒนาแล้วด้วยการผนึกกำลังระหว่างนโยบายพิเศษศุลกากร และ ยุทธศาสตร์เขตอ่าวใหญ่ฯ คาดว่าเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน จะสร้างมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเกิน 1 แสนล้านหยวน (5 แสนล้านบาท) ภายในปี 2573 พร้อมยกระดับการแข่งขันอุตสาหกรรมขั้นสูงของมณฑลกวางตุ้ง เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน เป็นโอกาสและประตูสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดจีนตอนใต้ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
มณฑลกวางตุ้ง เป็นหนึ่งในมณฑลที่มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ในแต่ละปีมณฑลกวางตุ้งมีการนำเข้าสินค้าจากไทยจำนวนมาก โดยในปี 2567 มณฑลกวางตุ้งมีการนำเข้าสินค้ามากเป็นอันดับหนึ่งของจีน โดยมีมูลค่าการนำเข้า 48,139,031,257 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 31.14% ของมณฑลที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทยทั้งหมดของจีน อาทิ สินค้าเครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สินค้าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ สินค้าผลไม้ สินค้ายางและของทำด้วยยาง พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ฯลฯ
เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน ถือเป็นเขตท่าสินค้าทัณฑ์บนและจุดควบคุมพิเศษด้านศุลกากร รวมถึงเป็นศูนย์บริการด้านการค้าที่สำคัญในภาคใต้ของจีน อาทิ โลจิสติกส์ปลอดอากร การผลิตเพื่อการส่งออก และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีข้อได้เปรียบหลักในด้านระบบคล่องตัวด้านด่านพิธีการศุลกากร ช่วยให้สินค้าประเภทเกษตรสดผ่านด่านได้ภายใน 24 ชั่วโมง สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเลื่อนการชำระภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ขณะสินค้าอยู่ในเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน ลดภาระเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ ทั้งยังเป็นศูนย์กลาง supply chain ติดท่าเรือนานาชาติหนานซา และสนามบินไป๋หยุนเมืองกวางโจว สามารถกระจายสินค้าถึงผู้บริโภคในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) และ ส่งต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ของจีน ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
สำหรับผู้ส่งออกไทยที่กำลังมองหาช่องทางโอกาสในการเข้าสู่ตลาดจีน เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน ในฐานะเขตควบคุมศุลกากรพิเศษที่มีระดับการเปิดกว้างสูงสุดและได้รับสิทธิประโยชน์นโยบายทางการค้ามากที่สุดของจีน สินค้าที่เข้าสู่เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน จะได้รับสิทธิประโยชน์ตาม “นโยบายการค้าพิเศษปลอดภาษี” โดยผู้ประกอบการไทยสามารถจัดเก็บสินค้าในพื้นที่ล่วงหน้า และจ่ายภาษีศุลกากรเมื่อมีการขายจริง ช่วยลดแรงกดดันด้านเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างมาก รวมถึงสามารถการขยายช่องทางการจำหน่ายผ่าน Cross-border E-commerce โดยใช้ศูนย์กระจายสินค้าในเขตฯ เป็นฐานส่งออกออนไลน์ รองรับช่องทางจำหน่ายหลัก อาทิ Tmall Global JD Worldwide Douyin Overseas ทั้งนี้ การเปิดตัวเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฝอซาน ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการค้า แต่ยังเป็นสะพานยุทธศาสตร์ที่ช่วยลดต้นทุนการค้าและยกระดับซัพพลายเชนสำหรับการส่งออกสินค้าไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้ง่ายขึ้น และเพิ่มการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น
———————–
แหล่งข้อมูล : https://news.southcn.com/node_54a44f01a2/1f545be811.shtml
https://news.dayoo.com/guangdong/202504/03/139996_54807582.htm
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว