เนื้อข่าว

ภายใต้แรงกดดันจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภายหลังการประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal tariff) โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลเวียดนามจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการใช้สิทธิถิ่นกำเนิดสินค้โฮจิมินห์อย่างไม่ถูกต้อง (The abuse of origin labelling) เพื่อปกป้องภาคการผลิตภายในประเทศ และสกัดกั้นการลำเลียงสินค้าโดยมิชอบ (Transhipment) ที่มุ่งหลีกเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ส่งออกบางประเทศใช้เวียดนามเป็นทางผ่านเพื่อเข้าสู่ตลาดที่สาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความเข้มงวดด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROO) เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade: MOIT) ได้ออกหนังสือเร่งรัดการควบคุมวัตถุดิบนำเข้าที่ใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก และนาย Ho Duc Phoc รองนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันว่า เวียดนามมีท่าทีเชิงรุก เปิดกว้าง และพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการค้าทวิภาคีอย่างเป็นธรรม และต่อต้านการลำเลียงสินค้าผิดกฎหมายอย่างจริงจัง

ในด้านกฎระเบียบ นาง Trinh Thi Thu Hien รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (Agency of Foreign Trade) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ย้ำถึงความสำคัญของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) ในฐานะกลไกสำคัญของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยอ้างอิงข้อ 3(b) ของความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งระบุว่าประเทศต้นทางของสินค้า คือประเทศที่ผลิตสินค้าทั้งหมด หรือในกรณีที่มีหลายประเทศเกี่ยวข้องในการผลิต ประเทศที่ดำเนินการแปรสภาพขั้นสำคัญสุดท้ายจะถือเป็นถิ่นกำเนิดของสินค้า การกำหนดถิ่นกำเนิดที่ถูกต้องจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ และนาง Trinh Thi Thu Hien ยังชี้ให้เห็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อยระหว่างคำว่า “ถิ่นกำเนิด” กับ “Made in Vietnam” เช่น เสื้อผ้าที่มีป้ายว่า “ผลิตในเวียดนาม” อาจไม่ได้รับหนังสือรับรองถิ่นกําเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) จากเวียดนาม และในทางกลับกัน สินค้าที่มี C/O เวียดนาม อาจไม่มีป้าย “ผลิตในเวียดนาม”

ขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศได้จัดทำกรอบระเบียบที่ชัดเจนและโปร่งใสเกี่ยวกับ
การรับรองถิ่นกำเนิด พร้อมกำหนดบทลงโทษอย่างเข้มงวดต่อการฉ้อฉล และวางหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลหน่วยงานที่มีอำนาจออกหนังสือ C/O โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ เพื่อเสริมความเข้าใจและความสามารถในการปฏิบัติตามกฎ ROO นอกจากนี้ กระทรวงยังได้ร่วมมือกับประเทศคู่ค้าในการตรวจสอบถิ่นกำเนิดเพื่อป้องกันการแอบอ้างสิทธิภาษีจากสินค้าที่ผ่านการแปรสภาพเพียงเล็กน้อยในเวียดนาม และหากพบว่าสินค้ามีถิ่นกำเนิดตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงจะช่วยเหลือภาคเอกชนในการยืนยันถิ่นกำเนิดเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี พร้อมทั้งดำเนินการเจรจาปรับปรุงกฎ ROO ให้สอดคล้องกับศักยภาพของผู้ประกอบการเวียดนาม และยกระดับประสิทธิภาพผ่านการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการให้บริการด้าน C/O อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า นโยบายภาษีใหม่ของสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของเวียดนาม เนื่องจากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) จะเข้มงวดขึ้น และกำหนดให้สินค้าส่งออกต้องมีสัดส่วนวัตถุดิบในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมส่งออก นาย Nguyen Manh Hung ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ ชี้ว่า ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของห่วงโซ่อุปทานคือกุญแจสำคัญในการพิสูจน์“ความแท้จริงของสินค้าที่มาจากเวียดนาม” (Authenticity of Vietnamese products) โดยเฉพาะในบริบทที่สหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการลำเลียงสินค้าผ่านเวียดนามที่มีการเปลี่ยนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามเคยออกบัญชีเตือนล่วงหน้า สำหรับสินค้า 17 ประเภทที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกสอบสวนมาตรการปกป้องทางการค้า เนื่องจากความกังวลเรื่องถิ่นกำเนิดที่ไม่ถูกต้อง

ขณะเดียวกัน นักวิชาการ เช่น นาย Nguyen Thuong Lang อาจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ เตือนว่า สหรัฐฯ มีระบบติดตามการค้าและเครื่องมือทางกฎหมายที่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว หากพบการแสดงถิ่นกำเนิดสินค้าโดยมิชอบ อาจนำไปสู่การเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราสูง ซึ่งอาจทำให้สินค้าสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในทันที เวียดนามจึงต้องยกระดับความโปร่งใสในการผลิต และเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในลักษณะที่ครบวงจรภายในประเทศ ไม่ใช่เพียงการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบ เพื่อเพิ่มมูลค่าในประเทศและลดความเสี่ยงจากมาตรการหลีกเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ นาย Dinh Hong Ky รองประธานสมาคมผู้ประกอบการนครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City Union of Business Association) ยังเน้นว่า รัฐบาลควรพิจารณาโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อย่างรอบคอบ โดยหลีกเลี่ยงโครงการที่ใช้เทคโนโลยีล้าหลังหรือสร้างมลพิษ และควรมุ่งดึงดูดโครงการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงแทน

เช่นเดียวกับผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ในจังหวัดหายเยือง (Hai Duong) ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากข้อกำหนดการตรวจสอบย้อนกลับ แม้บริษัทจะออกแบบและผลิตสินค้าเองในประเทศ และมีประสบการณ์ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี แต่ยังถูกคู่ค้าสหรัฐฯ ขอหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นมาจากเวียดนามจริง ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลว่าเวียดนามอาจถูกใช้เป็นทางผ่านในการหลีกเลี่ยงภาษี ส่งผลให้หลายบริษัทในพื้นที่เริ่มนำระบบบันทึกข้อมูลดิจิทัลมาใช้ในการติดตามกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง ทั้งการจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงขั้นตอนการแปรรูปสุดท้าย พร้อมกับการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการส่งออกและรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างถูกต้อง

(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 19 เมษายน 2568)

วิเคราะห์ผลกระทบ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MOIT) ได้ออก คำสั่งเลขที่ 05/2025/QĐ-BCT ลงวันที่ 15 เมษายน 2568 เพื่อเสริมมาตรการควบคุมการถ่ายโอนสินค้าผิดกฎหมายไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศคู่ค้าอื่น ๆ อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่า จีนใช้เวียดนามเป็นทางผ่านในการส่งออกสินค้า ด้วยการเปลี่ยนแปลงฉลากแหล่งกำเนิด (Rules of Origin Manipulation) เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในฐานะสินค้าจีน ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที เพื่อยับยั้งความเสี่ยงที่เวียดนามอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีของประเทศคู่ค้า และเพื่อป้องกันไม่ให้เวียดนามต้องเผชิญกับมาตรการตอบโต้ทางการค้าในอนาคต

เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงดังกล่าว คำสั่งนี้ได้กำหนดมาตรการหลัก ๆ เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการนำเข้าและส่งออกสินค้า เช่น การเสริมการตรวจสอบต้นทางวัตถุดิบนำเข้า โดยเน้นวัตถุดิบที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนสูง เช่น เหล็กกล้า อุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งทอ และเฟอร์นิเจอร์ โดยกำหนดให้มีการตรวจสอบเอกสารสำคัญอย่างละเอียด ทั้งใบ Invoice, Bill of Lading และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) เพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลต้นทาง ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่ถูกจัดให้อยู่ในข่ายตรวจสอบอย่างเข้มงวด ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็น แผงโซลาร์เซลล์ เฟอร์นิเจอร์ไม้ เสื้อผ้าและสิ่งทอ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม

นอกจากนี้ คำสั่งยังได้เพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) โดยกำหนดให้บริษัทที่ยื่นขอออกหนังสือ C/O ต้องแสดงเอกสารและหลักฐานการผลิตในประเทศอย่างครบถ้วน เช่น บันทึกการผลิต รายการวัตถุดิบ และข้อมูลสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อพิสูจน์ว่ามีการผลิตจริงในเวียดนาม ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์หรือติดฉลากใหม่ นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบ ยังได้ เพิ่มการตรวจสอบหน้างาน (On-site Inspection) โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (Vietrade) และกรมศุลกากรเวียดนาม (Vietnam Customs) ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบโรงงานผลิตสินค้าส่งออกที่มีความผิดปกติ เช่น คำขอออกหนังสือ C/O ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ หรือยอดส่งออกที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาใกล้เคียง พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้เร่งจัดตั้ง ระบบฐานข้อมูลกลาง (Centralized Database) สำหรับบันทึกข้อมูลบริษัทนำเข้า – ส่งออก วัตถุดิบนำเข้า และเส้นทางการขนส่ง เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการวิเคราะห์และติดตามพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดอย่างเป็นระบบและแม่นยำมากขึ้น

เพื่อให้มาตรการเหล่านี้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง คำสั่งได้กำหนดบทลงโทษที่หนักขึ้นสำหรับบริษัทที่กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการเพิกถอนสิทธิ์ส่งออก การยึดสินค้า การดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือการสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการค้ากับต่างประเทศตามที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศฉบับแก้ไขปี 2566 ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจของเวียดนามในการขจัดการกระทำผิดอย่างจริงจังและปกป้องภาพลักษณ์ทางการค้าของประเทศ

สาเหตุหลักในการออกคำสั่งฉบับนี้ มาจากความกังวลของรัฐบาลเวียดนามว่าความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมาตรการภาษี เช่น Section 301 Tariffs กำลังเพิ่มแรงจูงใจให้บางบริษัทจีนใช้เวียดนามเป็นทางผ่าน ด้วยการแปรรูปหรือเปลี่ยนฉลากสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า หากเวียดนามไม่ดำเนินการควบคุมอย่างเด็ดขาด อาจส่งผลให้สหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ นำมาตรการเยียวยาทางการค้า (Trade Remedy Measures) เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duties) หรือมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measures) มาบังคับใช้กับสินค้าจากเวียดนามอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจการส่งออกของประเทศ การดำเนินมาตรการเหล่านี้ยังสะท้อนถึงความพยายามของเวียดนามในการรักษาความน่าเชื่อถือในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ข้อตกลงเสรีต่าง ๆ ในอนาคต

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเวียดนามระบุว่า ภาคการส่งออกและนำเข้าเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของเวียดนามอยู่ที่ 202,520 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการส่งออกมีมูลค่า 102,840 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 99,680 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและความสำคัญของภาคการค้าต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนาม ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

การเติบโตทางการค้าของเวียดนามในปัจจุบันเปิดโอกาสสำคัญให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามามีบทบาทในตลาดเวียดนามได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลเวียดนามดำเนินมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้า (Origin fraud) ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ร่วมกับเวียดนาม

สถานการณ์นี้ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะคู่ค้าที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบ และมีห่วงโซ่อุปทานที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceable Supply Chain) สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น ISO 9001, ISO 14001 รวมถึงมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของสินค้าจากประเทศไทยในสายตาคู่ค้าเวียดนามและประเทศที่สาม

ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังเวียดนาม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อข้อกล่าวหาเรื่องการสวมสิทธิ์ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และเหล็กกับผลิตภัณฑ์โลหะ ควรให้ความสำคัญกับการยืนยันถิ่นกำเนิดสินค้า (Origin Verification) อย่างชัดเจน โดยต้องเตรียมเอกสารหลักฐาน เช่น หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) รายการวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต (Material List) บันทึกการผลิต (Production Record) และหลักฐานการจัดหาวัตถุดิบในประเทศ เพื่อรองรับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรเวียดนามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธการนำเข้าสินค้า หรือถูกตั้งข้อสงสัยในการตรวจสอบภายหลัง (Post-Clearance Audit)

นอกจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดแล้ว ผู้ประกอบการไทยควรเสริมความได้เปรียบทางการตลาดผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญในเวียดนาม เช่น งานแสดงสินค้า Top Thai Brands 2025 ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) งาน Vietnam Expo ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดในเวียดนาม และงาน Vietnam International Sourcing ที่มุ่งเน้นการจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าชั้นนำของเวียดนาม การเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายเครือข่ายทางการค้า เสริมสร้างการรับรู้ในแบรนด์ (Brand Awareness) และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจระยะยาว

thThai