Sri Mulyani Indrawati รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย กล่าวย้ำว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ที่แตะระดับขยายตัวติดต่อกัน 19 เดือน หรือ 51.9 ในเดือนมีนาคม
ตั้งแต่ต้นปี 2566 PMI ภาคการผลิตของอินโดนีเซียยังคงแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการบริโภคก่อนช่วงเทศกาลถือศีลอด นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากด้านการผลิตอันแสดงจากการเติบโตของปริมาณการใช้ไฟฟ้า โดยการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบปีต่อปี (yoy) “โลกยังคงประสบกับความท้าทายมากมาย แต่เศรษฐกิจอินโดนีเซียอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างดี จากมุมมองของดัชนี PMI ซึ่งอินโดนีเซียอยู่ที่ระดับ 51.9 ซึ่งหมายความว่ามีการขยายตัว ด้วยความเร่งและแข็งแกร่งขึ้น”
ขณะที่ด้านการบริโภค ปริมาณการขายรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 yoy ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2562 (ก่อนการระบาดของ Covid-19) เช่นเดียวกัน ยอดขายรถจักรยานยนต์ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2562 โดยเติบโตค่อนข้างสูงที่ร้อยละ 40.5 “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (IKK) ยังแข็งแกร่งมากที่ 123.3 โดยมีปัจจัยหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ควบคุมได้และกำลังซื้อของประชาชนที่ค่อยๆ ดีขึ้น” Sri Mulyani กล่าว
ดัชนียอดค้าปลีกยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ร้อยละ 4.8 (yoy) ในช่วงรอมฎอนและก่อนวันถือศีลอด “รัฐบาลมองในแง่ดีว่าเดือนเมษายนจะยังคงมีสถานการณ์เดียวกัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะยังคงอยู่ในระดับสูง” เธอกล่าว
ทั้งนี้ปัจจัยบวกทั้งหลายได้รับอิทธิพลจากประสิทธิภาพของงบประมาณของรัฐ (APBN) “เรายังคงดูแลงบประมาณของรัฐบาลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นั่นคือสิ่งที่เราต้องดูแลและเรารู้สึกขอบคุณ” Sri Mulyani กล่าว
แม้ว่าภาพรวมทั่วโลกจะชะลอตัวลงแต่เรายังเดินหน้าต่อไป โดยคาดว่าอินโดนีเซียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในปี 2566 ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะเติบโตที่ร้อยละ 5.0 yoy ในปี 2566 เศรษฐกิจทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคยังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งของงบประมาณของรัฐ
วิเคราะห์ผลกระทบ โอกาส/แนวทางการปรับตัวของภาครัฐ/ภาคเอกชน/ผู้ประกอบการไทย
อินโดนีเซียฟื้นตัวหลังจากการระบาดของโควิด-19 อย่างสมบูรณ์ ซึ่งธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5 – 5.3 ขณะที่ IMF ประเมินที่ร้อยละ 5.0
โดยภาคการผลิตภายในประเทศ มีดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ที่แตะระดับขยายตัวติดต่อกัน 19 เดือน หรือ 51.9 ส่วนการค้าระหว่างประเทศ ในเดือนมีนาคม ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.89
เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.33 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.33 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ และลดลงร้อยละ 6.26 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้ดุลการค้าระหว่างประเทศ 4,580 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ระหว่าง ม.ค.-มี.ค.2566 อินโดนีเซียมีส่วนเกินดุลการค้ารวม 12,250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในช่วงเดียวกันไทยส่งสินค้ามายังอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.32 และนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.16 โดยได้ดุลการค้าจากอินโดนีเซียมูลค่า 530 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นโอกาสดีต่อผู่ส่งออกไทยในการขยายการส่งออกมายังอินโดนีเซีย