• ธนาคารแห่งประเทศอิตาลี เปิดเผยในรายงานเศรษฐกิจว่า ค่า GDP ของอิตาลีในไตรมาสแรกของปี 2566 คิดเป็น +0.5% มีการฟื้นตัวเล็กน้อยหลังจากชะลอตัวลงในปลายปี 2565 กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิต ที่กลับมาตื่นตัวขึ้นอีกครั้งเนื่องจากการลดราคาพลังงานลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังสูงอยู่ก็ตาม และการผ่อนคลายของปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ค่อยๆเข้าสู่ภาวะปกติ การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนผันแปรและอ่อนแอ เมื่อเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง แต่สินค้าและบริการกลับไม่ลดลงมากนัก และนักเศรษฐศาสตร์ได้แสดงความวิตกกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจกลับสูงขึ้นอีกหากราคาพลังงานที่อิตาลียังคงนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ต้องประสบกับการฉวยโอกาสขึ้นราคา
  • การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปีนี้ กลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากลดลงติดต่อกันสองไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ในเดือนธันวาคม ลดลง -1.2%  ขณะที่ในเดือนมกราคม ลดลง -0.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ช่องว่างการเติบโตยังคงกว้างระหว่างการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูงกับในภาคส่วนอื่นๆของการผลิตที่ไม่ต้องพึ่งพลังงานเป็นหลัก หรือได้เปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกแล้ว เช่น แผงโซล่าเซลล์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ถึงมกราคม 2566 กิจกรรมในภาคส่วนที่ใช้พลังงานมากหดตัวลงเกือบ -11% เทียบกับประมาณ -1% ในภาคส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาพลังงาน
  • การบริโภคภาคครัวเรือนคงที่ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 หลังจากที่ลดลงอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 4 (-1.6%) ของปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปีเดียวกัน และยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 สะท้อนถึงผลกระทบด้านลบของอัตราเงินเฟ้อที่มีผลทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นมาก และบั่นทอนการซื้อของภาคครัวเรือน แม้ว่าบางส่วนจะบรรเทาลงได้บ้างจากการแทรกแซงของรัฐบาล ที่มุ่งออกนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการให้เงินโบนัสรูปแบบต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยก็ตาม
  • ค่าจ้างในอิตาลีเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มการเติบโตปานกลาง ซึ่งจะยังคงเป็นเช่นนี้ตลอดทั้งปี 2566 เนื่องจากอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆในสหภาพยุโรป ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 การขึ้นค่าจ้างรายชั่วโมงของภาคเอกชน(ที่ไม่รวมภาคการเกษตร)มีค่อนข้างต่ำ (+1.7% เมื่อเทียบกับปี 2564) แนวโน้มที่เด่นชัดที่เป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยรวม ได้รับแรงสนับสนุนจากการจ่ายเงินก้อนแบบเหมาจ่ายให้ครั้งเดียวเพื่อชดเชยความล่าช้าและความเสียหายในการต่ออายุสัญญาในภาครัฐ และการที่แรงงานในภาครัฐได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น +11,7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ค่าจ้างตามสัญญาในภาคเอกชน(ที่ไม่รวมภาคการเกษตร)เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับในไตรมาสที่แล้ว ทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตเพียงเล็กน้อย (จาก 1.2% เป็น 1.5%)
  • ในช่วงหลายเดือนระหว่างปี 2565 ถึงต้นปี 2566 การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหภาพยุโรป ทำให้สินเชื่อของธนาคารอิตาลี (และยุโรป) ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม จากแถลงการณ์เศรษฐกิจของธนาคารกลางแห่งประเทศอิตาลี ชี้แจงว่า เงินทุนยังคงมีความแข็งแกร่ง และฐานเงินฝากที่ยังมั่นคง ไม่มีปัญหาการสูญเสียเงินลงทุนในพอร์ตของพันธบัตรรัฐบาลอย่างแน่นอน เนื่องจากตัวเลขสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังเน้นย้ำว่า เงินฝากธนาคารทั้งหมดของลูกค้าจะได้รับการคุ้มครองโดยระบบการค้ำประกันของประเทศ
  • อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงต้องระมัดระวัง เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากสงครามที่ต่อเนื่องมาจนบัดนี้และยังคงมีอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังระดับสูง ประกอบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่และยังขี้นลงอย่างคาดการณ์ความแน่นอนไม่ได้ การคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางทั้งหลายมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การชะลอการลงทุนและการนำเข้า

ข้อคิดเห็นของ สคต.มิลาน

  1. ในไตรมาสแรกของปี 2566 เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ความไม่แน่นอนยังส่งผลกระทบต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังผันผวนขึ้นลงอยู่เสมอตามราคาสินค้าพลังงานที่นำเข้า ราคาสินค้าและบริการยังคงสูงอยู่ แม้มีบางรายการได้ปรับลดลงแล้วก็ตาม ผู้บริโภคจึงหันมาใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และเลือกซื้อเท่าที่จำเป็น ที่ราคาถูกลง ที่มีโปรโมชั่น รวมถึงการหาซื้อสินค้ามือสองราคาถูก ที่ไม่เคยให้ความสนใจในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19
  2. สำหรับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ยังไม่มีท่าทีจะจบสิ้นในระยะเวลาอันใกล้ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อทิศทางเศรษฐกิจของอิตาลีไม่น้อย เช่น การแบกรับปัญหาและภาระผู้ลี้ภัยสงครามชาวยูเครนจำนวนมาก รวมถึงผู้อพยพหนีความยากจนและภัยสงครามจากประเทศในแถบแอฟริกาที่พยายามหลบหนีเข้ามาทางเรือจำนวนหลายหมื่นคนในช่วงต้นปีที่ภูมิอากาศอำนวย สร้างความขัดแย้งและตึงเครียดทางสังคม รัฐบาลอิตาลีจำเป็นต้องแบกภาระการรับรองและแก้ปัญหามากมาย จนเป็นประเด็นร้อนของสหภาพยุโรป และสร้างแรงกดดันให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแทบไม่ขยายตัว ความเป็นอยู่ของประชาชนยากลำบาก และการเรียกเก็บภาษีดูเหมือนจะไม่ได้เบาลงเหมือนที่ผู้คนรอคอย ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม การติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทย
  3. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงาน ยังสามารถทำตลาดได้ดีในช่วงนี้ โดยเฉพาะสินค้าเครื่องปรับอากาศ ที่อากาศร้อนมาเร็วและยาวนานกว่าปกติ ทำให้ความต้องการเครื่องปรับอากาศในช่วงนี้มีเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ มีแผงโซล่าร์เซลล์ ที่ครัวเรือนมากมายต้องการติดตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาค่าไฟฟ้า ที่ขึ้นราคาสูงสุดเมื่อปีที่ผ่านมา และก่อความเสียหายถ้วนหน้าแก่ผู้บริโภคและอุตสาหกรรม ส่วนสินค้าอื่นๆที่แนวโน้มดี ได้แก่จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังความผันผวนของปัจจัยการส่งออก ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ราคาและระยะเวลาการขนส่ง ภาษีนำเข้า ฯลฯ รวมถึงควรวางแผนการค้ากับคู่ค้าและผู้นำเข้าในอิตาลีล่วงหน้าเป็นเวลานานและทำการค้าอย่างรอบคอบ
thThai