ไต้หวันชูสินค้าเทคโนโลยีช่วยเหลือและการดูแลผู้สูงวัยเป็นอุตสาหกรรมดาวดวงใหม่

งานแสดงสินค้าอุปกรณ์ช่วยเหลือและการดูแลผู้สูงวัย หรือ Assistive Technology for Life 2023 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ช่วยเหลือและการดูแลผู้สูงวัยที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ได้เปิดฉากขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคมนี้ โดย Center for Assistive Technology Resources and Popularization ของไต้หวัน ใช้พื้นที่รวมมากกว่า 530 คูหา ซึ่งมีผู้ร่วมจัดแสดงจากไต้หวันและหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน ฮ่องกง มาเก๊า ญี่ปุ่น อังกฤษ เดนมาร์ก สหรัฐฯ เยอรมี เวียดนาม และไทย

โดยนายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีของไต้หวันได้เข้าร่วมพิธีเปิดของงานและกล่าวเปิดงานว่า ไต้หวันจะเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอดในปี 2025 ซึ่งจากการสำรวจของกรมส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน พบว่า อายุขัยโดยเฉลี่ยของชาวไต้หวันอยู่ที่ประมาณ 80 ปี โดยในช่วงระยะเวลานี้ ประมาณ 10% ของช่วงอายุ (8.4 ปี) จะอยู่ในช่วงสุขภาพไม่ดี อาจต้องนอนติดเตียงหรือต้องมีผู้อื่นคอยดูแลการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งรัฐบาลได้เห็นถึงความจำเป็นจึงได้มีการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ จนทำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 700 กว่าแห่งในปี 2016 เป็น 12,000 กว่าแห่งในปัจจุบัน พร้อมนี้ก็มีการสร้างบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมดูแลผู้สูงอายุเพื่อตอบสนองความต้องการให้มากขึ้น โดยจำนวนแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มจากจำนวน 20,000 กว่าคนในปี 2016 เป็น 90,000 กว่าคนในปัจจุบัน และไม่เพียงแต่จะมีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น หากแต่รายได้ของผู้ดูแลก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยผู้สูงอายุในไต้หวันส่วนใหญ่จะได้รับเงินบำนาญโดยเฉลี่ยประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ทำให้เกิดความต้องการเทคโนโลยีและอุปกรณ์ช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องต่างๆ อุตสาหกรรมสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของไต้หวันจึงมีศักยภาพที่จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเรือธงของไต้หวันได้ในอนาคตอย่างแน่นอน

สินค้าที่จัดแสดงภายในงาน Assistive Technology for Life 2023 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยและผู้ที่มีความต้องการใช้งาน ตามแนวคิดที่ว่า Smart Senior Living and Innovative Long-term Care เช่น เครื่องช่วยเดิน รถเข็นอัจฉริยะ อุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับการทำกายภาพบำบัด เป็นต้น นอกจากนี้ การที่ไต้หวันมีประชากรเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ ทำให้สถานศึกษาของไต้หวันบางแห่งต้องปิดตัวลง แต่มี Social Enterprise เช่น i Long-term Care นำสถานที่มาปรับปรุงดัดแปลงเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ซึ่งก็มีการนำเอาโครงการที่ประสบความสำเร็จและเปิดให้บริการแล้ว มาแนะนำภายในงานด้วย สำหรับในส่วนของผู้ร่วมจัดแสดงจากไทยนั้น สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ได้ประสานกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำเอาผลงานวิจัยของไทยที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดง เช่น รถเข็นที่สามารถขึ้นลงบันไดได้ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้มาเข้าชมงานเป็นจำนวนไม่น้อย และถือเป็นจุดริเริ่มที่ดีของความร่วมมือระหว่างไทย-ไต้หวันในอุตสาหกรรมนี้

ที่มา Commercial Times / Economic Daily News  (May 4, 2023)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

การเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุถือเป็นปัญหาสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย แม้รัฐบาลไต้หวันมีนโยบายด้านการประกันสุขภาพที่ดี แต่จำนวนศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในไต้หวันยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้การสร้างความร่วมมือกับ Business Unit ที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน ในการนำเสนอบริการแบบ Long-Stay สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง ถือเป็นธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพ

นอกจากนี้ การปรับตัวของผู้ประกอบการไต้หวันที่นำเอาสถานศึกษาซึ่งต้องปิดตัวลงไปเนื่องจากจำนวนนักเรียนนักศึกษาไม่พอเพียงมาดัดแปลงใช้เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยให้มีเจ้าหน้าที่และผู้อนุบาลประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุได้ตามความต้องการ ทั้งการอาบน้ำแต่งตัว ขับถ่าย จัดเตรียมและป้อนอาหาร ป้อนยา รวมถึงทำความสะอาด และพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลในละแวกใกล้เคียง นับเป็นการปรับตัวที่ดีที่อาจเป็นแนวทางสำหรับไทยซึ่งกำลังเผชิญภาวการณ์เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน ศึกษาเพื่อไปประยุกต์ใช้ต่อไป

thThai