สำรวจโมเดลธุรกิจร้านกาแฟเจาะตลาดในสิงคโปร์

ตลาดร้านกาแฟสิงคโปร์แข่งขันกันอย่างดุเดือดมากขึ้น โดยข้อมูลจาก Statista ระบุว่า การบริโภคกาแฟในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเกือบ 6% เป็น 5.7 ล้านกิโลกรัมระหว่างปี 2564-2565 โดยการเติบโตดังกล่าวนั้นมาจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจร้านกาแฟทั้งในและต่างประเทศต่างเข้ามาเปิดสาขาในสิงคโปร์ โดยล่าสุด เชนกาแฟรายใหญ่ที่สุดของจีน Luckin Coffee หรือ Starbucks แห่งเมืองจีน ได้เข้ามาเปิดสองสาขาแรกในสิงคโปร์ในเดือนมีนาคม 2566 โดยสิงคโปร์เป็นตลาดแรกในการขยายสาขาในต่างประเทศ และมีแผนที่จะขยายสาขาอีก 8 แห่ง ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2566 นอกจากนี้ ยังมีร้านกาแฟใหญ่จากแคนาดา Tim Hortons ที่โด่งดังในเรื่องกาแฟและโดนัท กำลังจะเปิดตัวในเดือนเมษายน 2566 และมีแผนที่จะขยายไปหลายร้อยแห่งทั่วสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ถึงแม้ว่าร้านกาแฟอย่าง Luckin และ Tim Hortons จะประสบความสำเร็จในประเทศของตนเองเป็นอย่างมาก แต่การลงทุนขยายสาขาในสิงคโปร์นั้นอาจจะเผชิญกับอุปสรรคอย่างค่าใช้จ่ายที่สูงทั้งด้านค่าเช่า และค่าแรงคน ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมองว่า ชาวสิงคโปร์จะมีความต้องการแบรนด์ใหม่ในตลาดอยู่ตลอดเวลา แต่ยอดขายของธุรกิจ F&B ควรมากกว่าค่าเช่าอย่างน้อยสี่เท่า ถึงจะคุ้มทุนกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในร้าน ในขณะที่ที่ปรึกษาด้านอาหารและเครื่องดื่ม มองว่า บริษัทต่างๆ ที่จะเจาะตลาดสิงคโปร์จะต้องมีกลยุทธ์และเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดค่าใช้จ่าย เช่น โมเดลธุรกิจของร้าน Luckin มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ชัดเจนในการลดกำลังคนให้มากที่สุด ด้วยการใช้งานผ่านแอพฯ ดิจิทัล และกำหนดให้ร้านกาแฟมีขนาดเล็ก ในขณะที่โมเดลธุรกิจของร้าน Tim Hortons จะมองหาขนาดร้านค้าที่ใหญ่ เพราะต้องใช้โซฟา และที่นั่งที่สะดวกสบายให้กับลูกค้าสำหรับการสังสรรค์ แต่ด้วยค่าเช่าที่สูงของสิงคโปร์จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับทางร้านเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่องในสิงคโปร์ รวมไปถึงรูปแบบค่าจ้างแบบก้าวหน้าสำหรับพนักงานด้าน F&B ส่งผลให้ต้นทุนพนักงานในสิงคโปร์สูงขึ้นเช่นกัน หลังจากที่มีการประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คนงานในอุตสาหกรรมบริการอาหารจะได้รับการขึ้นค่าจ้างรายปีเป็นเวลาสามปี โดยพนักงานสิงคโปร์ระดับเริ่มต้นจะได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 1,750 เหรียญสิงคโปร์

การดึงดูดความสนใจของลูกค้า แต่อาจจะเป็นเรื่องยาก หากงบประมาณการตลาดในการให้ส่วนลดได้หมดไป เพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาดต่อไปได้ ผู้เล่นใหม่อาจจะต้องมองหาวิธีการที่ทำให้แตกต่างจากคู่แข่ง เนื่องจากผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ค่อนข้างจุกจิกในรายละเอียด ดังนั้นพวกเขาจึงคาดหวังและต้องการคุณภาพบางอย่าง ร้านกาแฟจึงจำเป็นต้องปรับปรุงและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อเป็นการดึงดูดใจผู้บริโภค เพราะหากประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ การขยายตลาดไปยังภูมิภาคจะง่ายขึ้น เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการแข่งขันสูงและรุนแรง ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์เหมาะในการเป็นก้าวแรกในการเข้าสู่ตลาดภูมิภาค ในการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

วัฒนธรรมการบริโภคกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของชาวสิงคโปร์ ซึ่งกาแฟก็มีการนำเข้ามาจากแหล่งปลูกดังๆ ทั่วโลก รวมไปถึงแหล่งปลูกในเอเชียอย่างไทยสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจากไทยทุกรายการไม่เก็บภาษีนำเข้ากับประเทศอาเซียน ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) จึงเป็นโอกาสดีกับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดการส่งออกมายังสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรติดตามข่าวสารและกฎระเบียบในการนำเข้าจากสำนักงานอาหารสิงคโปร์ หรือ SFA เพื่อจะได้นำไปพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาดต่อไป

แหล่งที่มาภาพ/ข้อมูล :

CNA :- https://www.channelnewsasia.com/singapore/

thThai