บริษัท Schwarz Gruppe ซึ่งเจ้าของ Lidl ต้องการให้ตัวเองเป็นผู้นำด้านการใช้ขวดพลาสติกแบบยั่งยืน โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ใช้พลาสติกเก่าถึง 100% กับเครื่องดื่ม Private Label ของบริษัท Lidl และ Kaufland (ทั้งสองเป็นบริษัทลูกของบริษัท Schwarz) ซึ่งไม่มีบริษัทไหนในเยอรมนีที่สามารถทำได้อย่างนี้ บริษัทฯ ได้ลงทุนกับระบบรีไซเคิลพลาสติกเก่าหลายร้อยล้านยูโร ซึ่งนาย Jörg Aldenkott, CEO ด้านการผลิตในเครือ Schwarz ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า “หลายปีที่ผ่านมา เราได้พัฒนาระบบรีไซเคิลขวดพลาสติกที่มีความยั่งยืน จนนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งนับว่าเราได้สร้างความสมดุลในระบบนิเวศ และลดการพึ่งพิงการซื้อพลาสติกให้แก่บริษัทได้มากขึ้น” อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะออกมาตรการบังคับให้บริษัทเพิ่ม “ระบบการนำกลับมาใช้ใหม่” เข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านยูโร
ปัจจุบันสหภาพยุโรป (EU) วางแผนจะใช้ข้อบังคับฉบับใหม่ ที่จะกำหนดโควตา (ปริมาณขั้นต่ำ) ของการใช้บรรจุภัณฑ์ (ขวด) ที่ได้จากการรีไซเคิล โดยเรื่องนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในร่างข้อบังคับที่ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2030 ผู้ค้าปลีกจะต้องใช้ขวดเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์แบบที่เป็นขวดรีไซเคิล 10% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 45% ในปี 2040 ซึ่งร่างข้อบังคับฉบับนี้ ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมจึงระบุเวลาและสัดส่วนดังกล่าว โดยวัตถุประสงค์หลักของ EU ก็คือที่จะปรับระดับการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลในประเทศสมาชิกต่าง ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้านนาย Aldenkott ได้ออกมาเรียกร้องว่า “บริษัทฯ ไม่ได้ต่อต้านมาตรการรีไซเคิลฉบับใหม่ที่ EU จะนำมาใช้ แต่บริษัทฯ ต้องการให้มีการหารือกันอย่างเปิดเผยตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดของบรรจุภัณฑ์” ซึ่งบริษัท Schwarz ด้พัฒนาระบบรีไซเคิลระดับภูมิภาคขึ้นซึ่งสามารถนำขวดเก่ากลับมารีไซเคิลได้ถึง 100% และเห็นว่า “เมื่อเรามีหรือใช้ระบบที่ดีอยู่แล้ว มีเหตุผลใดที่จะต้องออกมาตรการใหม่หรือควบคุมเรามากขึ้น”
ซึ่งจากประเด็นข้างต้นทำให้บริษัท Schwarz จ้างสถาบันวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน (Ifeu – Institut für Energie- und Umweltforschung) ในเมือง Iserlohn ทำการตรวจสอบระบบดังกล่าว โดยใน “การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์” (LCA – Life Cycle Analysis) ของ Ifeu แสดงให้เห็นว่า น้ำแร่สำหรับดื่มยี่ห้อ Saskia (เป็น Private Label ของบริษัทลูก Lidl) บรรจุขวดขนาด 1.5 ลิตร นั้น ในการบรรจุน้ำแร่ 1,000 ลิตร/ครั้ง มีการสร้างค่า CO2 อยู่ที่ 33 กิโลกรัม และจากการประเมิน LCA ของการบรรจุน้ำขวดขนาด 1 ลิตรผ่านระบบ PET แบบระบบนำกลับมาใช้ใหม่จากสมาคมผู้ผลิตน้ำแร่เยอรมัน (Genossenschaften Deutscher Brunnen) พบว่า มีการสร้างค่า CO2 อยู่ที่ 41 กิโลกรัม และหากเป็นการบรรจุในขวดขนาด 0.7 ลิตร จะสร้างค่า CO2 อยู่ที่ 61 กิโลกรัม โดยในการตรวจสอบ LCA จะประเมินตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตขวด ไปจนถึงการบรรจุขวด การส่งสินค้าสู่ร้านค้า การคืนขวด และการีไซเคิล
สำหรับเป้าหมายหลักของภาคการเมือง ก็คือ ต้องการลดขยะที่เป็นบรรจุภัณฑ์ลง และด้วยเหตุนี้เองทำให้กฎหมายด้านบรรจุภัณฑ์ในเยอรมันจึงใช้ข้อบังคับในลักษณะเดียวกันกับ EU และตั้งใจว่า จะสามารถผลักดันให้มีการใช้งานขวดแบบระบบนำมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) มากถึง 70% จากข้อมูลของกรมสิ่งแวดล้อมล่าสุด เปิดเผยว่า สัดส่วนการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลในเยอรมนีอยู่ที่ 41.3% เท่านั้น จึงทำให้กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันใช้มาตรการที่เข้มงวดให้มากขึ้น เพื่อต้องการให้เยอรมนีสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และเป็นที่แน่นอนว่าเป้าการใช้มาตรการกำหนดสัดส่วนการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลนี้ จะกระทบต่อบริษัท Aldi และ Lidl ที่สัดส่วนการใช้ขวดแบบระบบนำมาใช้ใหม่ที่อยู่ที่ 0% โดยกลุ่มพันธมิตรผู้สนับสนุนระบบนำมาใช้ใหม่ (Mehrweg-Allianz) ที่ประกอบไปด้วยสมาคมผู้ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของเยอรมัน (Deutsche Umwelthilfe) และสมาพันธ์ผู้ค้าส่งเครื่องดื่มเยอรมนี (Bundesverband des Deutschen Getränkefachgroßhandels) กล่าวว่า “การปฏิเสธการใช้ขวดแบบระบบนำมาใช้ใหม่ของ Aldi และ Lidl นั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป” กลุ่มพันธมิตรฯ ต่างได้ออกมาเรียกร้องว่า “เพื่อผลัดดันให้มีการใช้งานขวดแบบระบบนำมาใช้ใหม่ให้มากขึ้น จะต้องเพิ่มค่าขวดใช้แล้วทิ้ง ขึ้นไปอีกขวดละ 20 ยูโรเซ็นต์ โดยกรมสิ่งแวดล้อม (UBA – Umweltbundesamt) ออกมาย้ำว่า “บรรจุภัณฑ์แบบนำมาใช้ใหม่นั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่สำคัญในการช่วยลดขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์”
จนถึงปัจจุบันหลายฝ่ายเริ่มเห็นว่า การใช้ระบบรีไซเคิลมีความยั่งยืนกว่าการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งจากการสอบถามของบริษัท Forsa ที่ได้รับมอบหมายจาก Schwarz Gruppe พบว่า กว่า 36% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ยังนิยมขวดแบบนำมาใช้ใหม่แม้ว่า ค่า LCA ของขวดใช้แล้วทิ้งจะดีกว่าก็ตาม งานวิจัยจะแสดงให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยแล้วขวดแบบนำกลับมาใช้ใหม่จะมีค่า LCA ดีกว่า แต่สิ่งนี้เองก็ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยอย่างเช่น ปริมาณบรรจุภัณฑ์ น้ำหนัก จำนวนรอบในการใช้งาน ระยะทางขนส่ง และ โดยเฉพาะสัดส่วนของวัสดุรีไซเคิลในวัสดุ เป็นต้น โดย Schwarz Gruppe ได้พยายามอย่างหนักในการลดค่าการปล่อย CO2 จากบรรจุภัณฑ์ขวด ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาน้ำหนักของขวดขนาด 1.5 ลิตรก็ลดลง 35% อีกทั้งยังมีการปรับโครงสร้างระบบขนส่งเสียใหม่ทำให้ระยะทางการขนส่งโดยเฉลี่ยลดลงจาก 300 กิโลเมตร เหลือเพียง 180 กิโลเมตร และนอกจากสลากและฝาขวดแล้ว ขวด 1.5 ลิตรของ Lidl เป็นขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% และสามารถนำมารีไซเคิล 100% เช่นกัน ซึ่งเป็นระบบที่เรียกว่า วงจรวัสดุแบบปิดที่สมบูรณ์แบบ นาย Aldenkott กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “เราได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องในการค้นคว้า วิจัย และ พัฒนาระบบการรีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังลงทุนจำนวนมหาศาลกับกับโรงงานรีไซเคิล และระบบการรวบรวมอีกด้วย”
สำหรับบริษัท Aldi ปัจจุบันได้ลงทุนจำนวนมากในเรื่องด้านความยั่งยืนกับสินค้า Private Label ของบริษัท และใช้พลาสติกรีไซเคิลกว่า 50% กับบรรจุภัณฑ์ขวดเครื่องดื่มแล้ว และในบางเครื่องดื่ม Aldi ก็ใช้พลาสติกรีไซเคิลกว่า 100% แล้วด้วย ซึ่งหาก EU บังคับให้พวกเขาใช้งานระบบแบบนำกลับมาใช้ใหม่ พวกเขาก็ต้องเตรียมจำนวนมหาศาลในการรับมือกับข้อบังคับดังกล่าว สถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจเยอรมนี (DIW – Deutscher Institut für Wirtschaftsforschung) คาดการณ์ว่า “หากพวกเขาต้องปฏิบัติตามข้อบังคับนี้จริงพวกเขาจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการปรับตัวมากถึง 1.5 พันล้านยูโร” และหากสัดส่วนการใช้ขวดแบบนำกลับไปใช้ใหม่ได้มากถึง 70% จะมีค่าใช้จ่ายในการปรับตัวสูงถึง 11.2 พันล้านยูโร โดยผู้ค้าปลีกจะต้องขยายศูนย์ลอจิสติกส์ ปรับปรุงเครื่องรับฝากขวด และตั้งค่าระบบคัดแยก และทำความสะอาดใหม่ขึ้นมา นอกจากนี้ ในสถานการณ์สมมติหากต้องมีสัดสวนขวดแบบนำกลับมาใช้มากถึง 70% จะต้องใช้รถบรรทุกเพิ่มขึ้นมากกว่า 9,000 คัน ท้ายที่สุดแล้ว ขวด PET แบบใช้แล้วทิ้งที่ถูกบีบอัดแล้วรถบรรทุกสามารถขนส่งขวดเหล่านี้ได้มากถึง 400,000 ขวดต่อคัน แต่ขวดแก้วแบบส่งคืนได้เพียง 15,000 ขวดเท่านั้น
จาก Handelsblatt 8 พฤษภาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)