การนำเข้าทุเรียนไทยของประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในช่วงไตรมาสแรกปี 2566

ช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนจากต่างประเทศมูลค่า 3,500 ล้านหยวน เติบโต 144% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา รวมเป็นปริมาณ 91,360 ตัน เติบโต 154%  ทุเรียนที่นำเข้าทั้งหมดมาจาก 2 ประเทศ ได้แก่ ไทยและเวียดนาม โดยมีรายละเอียดดังนี้

มูลค่านำเข้า

ประเทศ มูลค่า (ล้านหยวน) เติบโต (%) สัดส่วน (%)
ไทย 2,581 +79.6% 73.7%
เวียดนาม 919 / 26.3%

ปริมาณนำเข้า

ประเทศ ปริมาณ (ตัน) เติบโต (%) สัดส่วน (%)
ไทย 63,986 +78.1% 70%
เวียดนาม 27,374 / 30%

ทุเรียนเวียดนามได้รับอนุญาตการนำเข้าสู่ตลาดจีนจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาตจีน (GACC) ในเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 และทุเรียนล็อตแรกที่ได้นำเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565  โดยนำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ช่วง     ไตรมาสแรกกำลังเป็นช่วงฤดูกาลของทุเรียนเวียดนามซึ่งผลผลิตออกสู่ตลาดก่อนทุเรียนไทย ชนิดของทุเรียนที่นำเข้าส่วนใหญ่ คือพันธุ์ ก้านยาว และ หมอนทอง จากตัวเลข พบว่า ในช่วงนี้ ทุเรียนเวียดนามมีสัดส่วนคิดเป็น 30% ของปริมาณทุเรียนนำเข้าทั้งหมดของตลาดจีน และสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ว่า มีทุเรียนเวียดนามเข้ามาแข่งขันในตลาดทุเรียนจีน แต่ก็ไม่ได้ทำให้มูลค่าการนำเข้าทุเรียนไทยลดลง กลับเพิ่มขึ้น 78.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ทุเรียนไทยยังคงเป็นที่นิยมอันดับหนึ่งในจีน

มณฑลที่นำเข้า

มณฑล มูลค่า (ล้านหยวน) สัดส่วน (%)
มณฑลเจ้อเจียง 744 21.30%
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง 732 20.90%
เมืองฉงชิ่ง 642 18.30%
มณฑลยูนนาน 467 13.30%
มณฑลกวางตุ้ง 430 12.30%
มณฑลเจียงซู 138 3.90%
มณฑลหูหนาน 131 3.70%
มณฑลซานตง 107 3.10%
มณฑลเสฉวน 49 1.40%
นครเซี่ยงไฮ้ 30 0.80%
กรุงปักกิ่ง 17 0.50%
เมืองเทียนจิน 7 0.20%
มณฑลกุ้ยโจว 4 0.10%
มณฑลอานฮุย 2 0.05%
มณฑลเหอหนาน 0.3 0.008%

สคต.ขอเพิ่มเดิมข้อมูลเกี่ยวกับมณฑลที่นำเข้า ว่า ช่วงไตรมาสแรก มณฑลเจ้อเจียงเป็นมณฑลที่มีมูลค่านำเข้าทุเรียนมากที่สุด มณฑลนี้อยู่ภาคตะวันออกของจีน เป็นมณฑลที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจดีและมีกำลังบริโภคสูง สำหรับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีมูลค่านำเข้าทุเรียนอยู่เป็นอันดับที่สอง มณฑลนี้ตั้งอยู่ภาคได้ของจีน เป็น “ประตูที่เปิดสู่อาเซียนของจีน” โดยมีด่านสากลที่สามารถนำเข้าทุเรียนทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ด่านที่มีบทบาทสำคัญคือด่านทางบกโหย่วอี้กวน ช่วงไตรมาสแรก ทุเรียนที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนมีปริมาณ 61,000 ตัน ขยายตัว 633.6% และคิดเป็น 66% ของปริมาณทุเรียนนำเข้าทั้งประเทศจีน จึงกล่าวได้ว่าด่านโหย่วอี้กวนเป็นด่านนำเข้าทุเรียนมากที่สุดของประเทศจีน (มูลค่านำเข้าของมณฑลต่างๆ ดังกล่าว คำนวนตามข้อมูลจดทะเบียนตามรายมณฑลของแต่ละบริษัท ที่ไม่ใช่คำนวนตามมูลค่านำเข้าของแต่ละด่านศุลกากร)

การนำเข้าทุเรียนจากประเทศฟิลิปปินส์

ทุเรียนฟิลิปปินส์ ได้รับอนุญาตนำเข้าสู่ตลาดจีนจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาตจีน (GACC) ในเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 และทุเรียนล็อตแรกเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ทั้งนี้ ทุเรียนฟิลิปปินส์จะเป็นคู่แข่งอีกรายที่เพิ่มขึ้นของไทยในตลาดจีน

ราคาทุเรียนในตลาดจีน

ราคานำเข้าทุเรียนไทยโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 40.3 หยวน/กก. ส่วนราคานำเข้าทุเรียนเวียดนามโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 33.6 หยวน/กก. ซึ่งต่ำกว่าราคาไทยประมาณ 6.7 หยวน/กก.    ราคาทุเรียนในตลาดจีน ณ วันที่ 26 เมษายน 2566

  • ทุเรียนไทย 40-45.5 หยวน/กก.
  • ทุเรียนเวียดนาม 38.8-41.6 หยวน/กก.
  • ทุเรียนฟิลิปปินส์ 43-45 หยวน/กก.

เมื่อเร็วๆ นี้ (เริ่มช่วงกลางเดือนเมษายน) Topic “ ราคาทุเรียนไทยลดลง 30 หยวน/กก.”ขึ้นเป็น Topic ฮอตฮิตระหว่างชาวเน็ตจีน ราคาขายส่งทุเรียนจาก 55.5-77.7 หยวน/กก.ของต้นเดือนมีนาคมลดเหลือ 40-45.5 หยวน/กก. ของสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งมากสุดลดลงประมาณ 30 หยวน/กก. ข้อมูลจากตลาดขายส่งผลไม้รายใหญ่ในมณฑลเจ้อเจียง ประเมินสาเหตุที่ทำให้ราคาจำหน่ายทุเรียนไทยลดลง มีดังนี้

  1. ปริมาณทุเรียนเพิ่มขึ้น
  • เดือนเมษายน กำลังก้าวสู่ช่วงกลางของฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออกของไทย โดยมีปริมาณทุเรียนที่นำเข้าเพิ่มขึ้นตามจำนวนผลผลิตที่ออกมาในช่วงพีค ทำให้ราคาจำหน่ายลดลง
  • ส่งผลให้ราคานำเข้าทุเรียนไทยลดลง และการเข้ามาของทุเรียนฟิลิปปินส์ รวมถึงมีข่าวทางการประกาศทุเรียนไหหลำจะเริ่มออกตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ดังนั้น คู่แข่งที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้ราคาทุเรียนมีการปรับลดลง
  1. ความต้องการทางตลาดลดลง

อากาศของประเทศจีนร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุเรียนเป็นผลไม้แคลอรี่สูง รับประทานมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการร้อนใน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคบางส่วนลดจำนวนครั้งในการสั่งซื้อเนื่องจากคำนึงถึงปัจจัยด้านสุขภาพ

  1. ช่วงเมษายนเป็นช่วงฤดูกาลผลไม้

ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลของผลไม้ ทำให้ทางเลือกในการบริโภคผลไม้มีความหลากหลายขึ้น เนื่องจากมีผลไม้ให้เลือกรับประทานหลากหลายประเภท รวมถึงผลไม้หลายอย่างที่มีราคาจำหน่ายต่ำกว่าราคาของทุเรียน รวมทั้งอากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้ผู้บริโภคนิยมบริโภคผลไม้ที่ให้ความสดชื่น เช่น แตงโม

ความเห็นสคต.หนานหนิง ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นฟูและมีการเติบโตมากขึ้น กำลังจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจีนก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทำให้ผลไม้นำเข้าได้รับความนิยมในตลาดจีนสูงขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ทุเรียนกลายเป็นผลไม้นำเข้าที่มีมูลค่ามากที่สุดของจีน ดังนั้น แนวโน้มการนำเข้าและบริโภคทุเรียนของประเทศจีนยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ประเทศที่ได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนสดเข้าตลาดจีนเป็นจำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ดูจากผลผลิตทุเรียนของแต่ละประเทศดังกล่าวแล้ว ผลผลิตทุเรียนไทยอยู่ที่ 1,480,000 ตัน ผลผลิตทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 700,000 ตัน และผลผลิตทุเรียนฟิลิปปินส์อยู่ที่ 100,000 ตัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรรักษาคุณภาพของทุเรียนให้ได้มาตรฐานให้คงภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อรักษาและขยายตลาดทุเรียนไทยในจีนต่อไป

 แหล่งที่มา https://mp.w

eixin.qq.com/s/S2gyDrii2Gs8yTCoYal4j

http://stats.customs.gov.cn/

https://mp.weixin.qq.com/s/Vaiz_c7EJrh5cIWEyUTWeQ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

thThai