รัฐบาลบัลแกเรียปรับนโยบาย ตั้งเป้าเข้ายูโรโซนภายในปี 2568

Weekly News ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
สัปดาห์ที่ 8-12 พฤษภาคม 2566

 

 

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 กระทรวงการคลังของบัลแกเรียแถลงว่า รัฐบาลบัลแกเรียปรับเป้าหมายการเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซนเป็นภายในวันที่ 1 มกราคม 2568 จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 หลังรัฐมนตรีกระทรวงการคลังบัลแกเรียหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังทั้ง 20 ประเทศในยูโรโซน (Eurogroup) เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ปัจจุบัน บัลแกเรียกำลังเผชิญความท้าทายหลายประการในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) เพื่อจะเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างมาก (HICP บัลแกเรียปี 2565 อยู่ที่ระดับ 13%) การขาดเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงสองปีที่ผ่านมา ตลอดจนการไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ทำให้ยังไม่สามารถรับร่างกฎหมายที่สำคัญต่อการเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน ได้แก่ กฎหมายการล้มละลาย ต่อต้านการฟอกเงิน รวมถึงกลไกอัตราแลกเปลี่ยนยุโรป (Exchange Rate Mechanism: ERM II) เพื่อกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ระหว่างเงินเลฟของบัลแกเรียและเงินยูโร

 

นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลรักษาการของบัลแกเรียเพิ่งเสนอร่างงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2566 โดยรัฐบาลประมาณการรายได้สุทธิไว้ที่ ประมาณ 1.2407 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ ประมาณ 1.4655 ล้านล้านบาท สรุปน่าจะขาดดุลประมาณ 2.244 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.4% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ส.ส. พรรคฝ่ายค้านต่างไม่เห็นด้วยกับร่างงบประมาณดังกล่าว เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องจะทำให้รัฐบาลมีหนี้สินมหาศาล กระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซนได้ตามกำหนด จึงเสนอให้ลดการขาดดุลงบประมาณลงให้อยู่ในช่วง 3-4% ของ GDP ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และเพิ่มรายได้ของภาครัฐผ่านการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

การเปลี่ยนไปใช้เงินสกุลยูโรเป็นสกุลหลักของบัลแกเรีย อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจบัลแกเรีย โดยข้อดีของการเปลี่ยนไปใช้เงินสกุลยูโร คือการลดต้นทุนการทำธุรกรรมของธุรกิจ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธุรกิจในบัลแกเรียจำเป็นต้องแปลงสกุลเงินท้องถิ่นของตน (เลฟ) เป็นยูโร เมื่อทำการค้ากับประเทศอื่นๆ ทั้งในสหภาพยุโรปและนอกสหภาพยุโรป ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมและค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนสกุลเงินเพิ่มเติม ฉะนั้น การนำสกุลเงินยูโรมาใช้ ก็จะไม่ต้องแลกเปลี่ยนสกุลเงินข้ามไปมา ช่วยลดต้นทุนสำหรับภาคธุรกิจในระยะยาว

 

ข้อดีอีกประการหนึ่ง คือการลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจุบัน สกุลเงินเลฟของบัลแกเรียประสบปัญหาความผันผวนในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยภายนอก เช่นการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันดิบ มาตรการกีดกันการค้า และปัจจัยภายใน อาทิ การขาดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าของเงินเลฟ และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมูลค่าของสินค้าและบริการในการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น การนำกลไก ERM มาใช้ เพื่อตรึงอัตราคงที่ไว้กับสกุลเงินยูโร ปูทางสู่การใช้เงินยูโรเป็นเงินสกุลหลัก สกุลเงินเลฟของบัลแกเรียก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การใช้เงินยูโรก็มีความเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่ง คือการสูญเสียการควบคุมนโยบายการเงิน เนื่องจากประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นสกุลหลักต้องปฏิบัติตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เสมอไป ทั้งนี้ ก่อนที่จะได้สถานะสมาชิกยูโรโซนอย่างเป็นทางการ บัลแกเรียจำเป็นต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของยูโรโซนอย่างเคร่งครัด เช่น การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP และการขาดดุลงบประมาณ ดังนั้น รัฐบาลบัลแกเรียจึงจำเป็นต้องเร่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเมืองอย่างจริงจัง ทว่าปัจจุบันบัลแกเรียกำลังเผชิญกับหนี้สาธารณะและอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก อาจไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายในประเทศไปได้มากกว่านี้ และอาจต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดระดับหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสวัสดิการของประชาชนบัลแกเรีย จึงคาดว่าข้อจำกัดเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความสามารถของรัฐบาลบัลแกเรียในการจัดการเศรษฐกิจและปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงิน

 

ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับบัลแกเรีย การใช้เงินสกุลยูโรมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ด้วยเหตุผลสำคัญสองประการ ได้แก่

 

  1. การที่บัลแกเรียใช้สกุลเงินยูโร จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศบัลแกเรียและไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นและสามารถคาดการณ์ได้ ช่วยลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจในบัลแกเรียหรือกับบริษัทที่ตั้งอยู่ในบัลแกเรีย เช่น หากบริษัทไทยส่งออกสินค้าไปยังบัลแกเรีย บริษัทฯ จะทราบรายได้ที่ชัดเจนในสกุลยูโรโดยไม่ต้องคอยแปลงค่าเงินรายวัน อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกต่อการวางแผนทางการเงินและการลงทุน
  2. การที่บัลแกเรียใช้สกุลเงินยูโรจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงตลาดการเงินในยุโรปผ่านบัลแกเรียได้ง่ายขึ้น กล่าวคือ เมื่อบัลแกเรียใช้สกุลเงินยูโรเป็นสกุลเงินหลัก บัลแกเรียจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซน ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้น 20 ประเทศที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายการเงินแบบเดียวกัน ปัจจัยนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการในการสร้างโอกาสใหม่สำหรับการลงทุนและการเติบโตในยูโรโซน เช่น การลงทุนข้ามพรมแดน การประสานงานด้านนโยบายทางการเงิน การระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Fundraising through the Debt Capital Market) เป็นต้น

 

ในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการค้ากับบัลแกเรียอยู่ที่ 6,478.82 ล้านบาท ขยายตัว 17.91% จากปี 2564 โดยไทยส่งออกไปบัลแกเรียเป็นมูลค่า 3,547.32 ล้านบาท และนำเข้าจากบัลแกเรียเป็นมูลค่า 2,931.50 ล้านบาท โดยรวมแล้วไทยได้ดุลการค้ากับบัลแกเรีย 615.82 ล้านบาท สินค้าส่งออกหลักจากไทยไปยังบัลแกเรียส่วนมากเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องปรับอากาศ หม้อแบตเตอรี่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ส่วนสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปบัลแกเรีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงคาดว่าเมื่อบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซนได้สำเร็จ การส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพทั้งภาคอุตสาหกรรมและด้านการเกษตรก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้น จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการค้าระหว่างประเทศ

 

สำหรับการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบไทยสำรวจตลาดและอาจส่งผลต่อการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการบัลแกเรีย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ ขอนำเสนองานแสดงสินค้าและบริการนานาชาติที่สำคัญในบัลแกเรียในช่วงปี 2566-2567 ดังต่อไปนี้

  1. BULMEDICA, BULDENTAL และ DERMA & AESTHETICS ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566 ณ Inter Expo Center กรุงโซเฟีย แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการแพทย์ สุขภาพ และธุรกิจความงาม เครื่องมือแพทย์ ดิจิทัลเฮลท์ เทเลเมดิซีน และยารักษาโรค มีกำหนดจัดงานทุกปี
  2. AUTOMOTIVE EXPO SOFIA ระหว่างวันที่ 15-17 มิถุนายน 2566 ณ Inter Expo Center กรุงโซเฟีย แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์ตกแต่ง มีกำหนดจัดงานทุกปี
  3. International Technical Fair ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 1 ตุลาคม 2566 ณ International Fair Plovdiv เมืองพลอฟดิฟ แสดงสินค้าและบริการจากหลายภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ วิศวกรรมไฟฟ้า ICT การเงิน เครื่องใช้ไฟฟ้า การก่อสร้าง และการขนส่ง มีกำหนดจัดงานทุกปี
  4. MACHTECH & INNOTECH EXPO ระหว่างวันที่ 3-6 ตุลาคม 2566 ณ Inter Expo Center กรุงโซเฟีย แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับเครื่องมือและเทคโนโลยีการผลิตภาคอุตสาหกรรม มีกำหนดจัดงานทุกปี
  5. MEDICUS, DENTO และ GALENIA 2023 ระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม 2566 ณ International Fair Plovdiv เมืองพลอฟดิฟ แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการแพทย์ สุขภาพ และธุรกิจความงาม เครื่องมือแพทย์ ดิจิทัลเฮลท์ เทเลเมดิซีน และยารักษาโรค มีกำหนดจัดงานทุกปี
  6. INTERFOOD & DRINK, WINE & SPIRIT SHOW, MEATMANIA, BULPEK และ WORLD OF MILK ระหว่างวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2566 ณ Inter Expo Center กรุงโซเฟีย แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม มีกำหนดจัดงานทุกปี
  7. Holiday & Spa Expo – International Tourist Fair ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ณ Inter Expo Center กรุงโซเฟีย แสดงสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะ มีกำหนดจัดงานทุกปี
  8. FOODTECH, AGRA, VINARIA และ SAPORI D’ITALIA ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ณ International Fair Plovdiv เมืองพลอฟดิฟ แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม มีกำหนดจัดงานทุกปี
  9. ARCHITECTURAL BUILDING WEEK ช่วงเดือนมีนาคม 2567 ณ Inter Expo Center กรุงโซเฟียแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับของตกแต่งบ้าน เครื่องมือก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และเทคโนโลยีการก่อสร้าง มีกำหนดจัดงานทุกปี

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบไทยที่ต้องการเข้าร่วมงานต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น สามารถติดต่อสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ (http://thaitradebudapest.hu/ และ https://www.facebook.com/ThaiTradeBudapest/) เพื่อประสานงานและอำนวยความสะดวกต่อไป

 

ที่มาของข้อมูล:

thThai