บทบาทของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ - สคต. ชิคาโก

“สินค้าที่มีเจ้าของเป็นชาวเอเชียที่ได้รับการสนับสนุนจากห้าง Target รวมถึงสินค้าแบรนด์ “dang” ซึ่งมีคนไทยเป็นเจ้าของ”

 

เดือนพฤษภาคมของทุกปีจะเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองมรดกทางวัฒนธรรมของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและชาวหมู่เกาะแปซิฟิกที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ Asian American and Pacific Islander Heritage Month (AAPI) โดยการเฉลิมฉลองดังกล่าวในสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เมื่อสภาครองเกรสสหรัฐฯ ผ่านการพิจารณาและประกาศให้เดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรำลึกถึงชาวเอเชียและชาวหมู่เกาะแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ จากสองเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ 1) ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่เดินทางมาถึงสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ปีพ.ศ. 2386 และ 2) ผู้อพยพชาวจีนซึ่งมีบทบาทความสำคัญในการสร้างทางรถไฟข้ามทวีปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2412

 

โดยทั่วไปการเฉลิมฉลองเดือน AAPI ในสหรัฐฯ จะค่อนข้างหลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชนมักจะมีการจัดประชาสัมพันธ์เฉลิมฉลองผ่านการจัดงานกิจกรรมและผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อกระตุ้นให้ชาวอเมริกันตระหนักถึงกลุ่มชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกซึ่งมีบทบาทสำคัญภายในประเทศ อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ชาวอเมริกันกลุ่มดังกล่าวจะได้แสดงออก สร้างการรับรู้ประวัติศาสตร์ วัฒธรรมและผลงานของเชื้อสายตนในกลุ่มชาวอเมริกัน นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมยังรวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจของชาวเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย เช่น การเลือกไปรับประทานอาหารตามร้านอาหารที่มีเจ้าของเป็นชาวเอเชีย และการเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์จากเอเชีย เป็นต้น

 

จากข้อมูลรายงานล่าสุดโดยสำนักสำมะโนประชากรสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau) ระบุว่า ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 333 ล้านคนซึ่งประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีกลุ่มผิวขาวมากที่สุด (ร้อยละ 59.3) รองลงมา ได้แก่ กลุ่มฮิสแปนิก (ร้อยละ 18.9) กลุ่มผิวดำ (ร้อยละ 13.6) กลุ่มเอเชีย (ร้อยละ 6.4) ตามลำดับ ในส่วนของประชากรชาวเอเชียในสหรัฐฯ มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณประมาณ 24 ล้านคน แบ่งเป็นชาวจีน (ยกเว้นชาวไต้หวัน) ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 5.2 ล้านคน รองลงมา ได้แก่ ชาวอินเดีย  (4.8 ล้าน) ชาวฟิลิปปินส์ (4.4 ล้าน) ชาวเวียดนาม (2.3 ล้าน) ชาวเกาหลี (2 ล้าน) และชาวญี่ปุ่น (1.6 ล้าน) ตามลำดับ ส่วนชาวไทยในสหรัฐฯ มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.1 แสนคน

 

ทั้งนี้ แม้ว่า กลุ่มชาวเอเชียในสหรัฐฯ จะมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรอื่นแต่พบว่า กลุ่มดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคิดเป็นอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 3 อีกทั้ง ยังมีประชากรเชื้อสายเอเชียที่เป็นเจ้าของธุรกิจในสหรัฐฯ มากถึง 6.12 แสนรายอีกด้วย

 

ตัวอย่างการให้การส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีเจ้าของเป็นชาวเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก (AAPI Owned) เช่น ห้างค้าปลีก Target ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ได้ประกาศการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง AAPI ตลอดปี 2566 (ไม่เฉพาะเดือนพฤษภาคม) โดยจะดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมแบรนด์สินค้ามีเจ้าของเป็นชาวเอเชียทั้งผ่านช่องทางร้านค้าและช่องทางออนไลน์ ภายใต้แคมเปญ “Celebrating Asian founders & creators : Target Finds” ซึ่งได้รวบรวมสินค้าที่มีเจ้าของเป็นชาวเอเชียกว่า 200 รายการเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ ทั้งนี้ พบสินค้าขนมขบเคี้ยวจากมะพร้าวไทย แบรนด์ “dang” ของคุณ Vincent  Kitirattragram วางจำหน่ายภายใต้แคมเปญดังกล่าวด้วย

 

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

 

กลุ่มประชากรเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกมีบทบาทสำคัญในสหรัฐฯ ทั้งในด้านของการสนับสนุนความหลากหลายทางเชื้อชาติ (Race Diversity) และความเท่าเทียม (Equality) ซึ่งสหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก รวมถึงการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากลุ่มประชากรชาวเอเชียมีรากฐานเดิมเป็นนักค้าเมื่ออพยพย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ที่ไหนก็มักจะเลือกทำธุรกิจค้าขายจนประสบความสำเร็จมั่งคั่ง จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

 

ในช่วงระหว่างปี 2533 – 2563 ประชากรชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรอื่นๆ จากเดิมที่มีจำนวนเพียงราว 6.6 ล้านคนในปี 2533 เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นกว่า 20 ล้านคนในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นมาราว 13.4 ล้านคนซึ่งคิดเป็นอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 203 อีกทั้ง ประชากรกลุ่มดังกล่าวยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคตด้วย

 

ทั้งนี้ เมื่อจำนวนประชากรชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเพิ่มจำนวนมากขึ้นย่อมส่งผลให้กำลังการซื้อของประชากรกลุ่มดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยเฉพาะกลุ่มประชากรรุ่น 2 หรือ รุ่น 3 ซึ่งมักจะมีอาชีพมั่นคงรายได้สูง ส่งผลให้ปัจจุบันกำลังการซื้อ (Purchasing Power) ของกลุ่มประชากรชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ มีขนาดทั้งสิ้น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ใกล้เคียงกับกลุ่มประชากรผิวดำซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่าเกือบสองเท่า) หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.10 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ของสหรัฐฯ ทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงจึงทำให้ประชากรกลุ่มดังกล่าวเป็นที่หมายปองของผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดปัจจุบัน

 

แม้ว่ากลุ่มประชากรชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายเอเชียรุ่นหลังจะเกิดและเติบโตในสหรัฐฯ และมีนิสัย พฤติกรรม รวมถึงความชอบที่คล้ายคลึงกับชาวอเมริกันโดยทั่วไปก็ตาม แต่ด้วยวัฒนธรรมชาวเอเชียที่มักจะให้ความสำคัญกับครอบครัวและอยู่อาศัยกันอย่างใกล้ชิดแน่นแฟ้นทำให้ประชากรชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียกลุ่มนี้ยังคุ้นเคยกับวัฒนธรรม สินค้า และของใช้ต่างๆ ที่มีรากเหง้าจากเอเชียอยู่ ดังนั้น กลุ่มสินค้าและบริการจากเอเชียมีโอกาสในการเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันแทบจะทุกกลุ่มซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียรุ่นหลังที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ มานานก็มีแนวโน้มที่จะถูกวัฒนธรรมท้องถิ่นครอบงำจนเกิดการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Cultural Assimilation) ได้ ดังนั้น การปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์เอเชียผสมผสานกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สินค้าไทยสามารถรักษาตลาดในสหรัฐฯ ได้ในอนาคต ดังเช่นสินค้าแบรนด์ “dang” ที่ได้นำสินค้าขนมขบเคี้ยวจากมะพร้าวของไทยมาพัฒนาตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดอเมริกันที่ชื่นชอบอรรถประโยชน์ด้านสุขภาพ (Health Consciousness) ความสะดวกสบายในการรับประทาน(Simplicity) และเรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์ (Story) จนสามารถทำตลาดกระแสหลักของสหรัฐฯ ได้

 

 บทบาทของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ - สคต. ชิคาโกบทบาทของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ - สคต. ชิคาโก

“ตัวอย่างสินค้าขนมขบเคี้ยวจากมะพร้าวแบรนด์ dang ที่สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงความต้องการของผู้บริโภคจนสามารถเจาะตลาดผู้บริโภคกระแสหลักในสหรัฐฯ ได้

 

นอกจากนี้ การดำเนินกิจกรรมเฉลิมฉลองประชากรชาวเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกในทุกเดือนพฤษภาคมของทุกปีในสหรัฐฯ ยังเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายในตลาดและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของชาวอเมริกันเชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ อีกทั้ง ยังเป็นช่องทางสำคัญในการส่งออกสินค้ากลุ่มวัตถุดิบการปรุงอาหารไทยในตลาดต่างประเทศด้วย ดังนั้น การพิจารณาดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในสหรัฐฯ อย่างสม่ำเสมอในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีจึงน่าจะช่วยส่งเสริมให้กลุ่มธุรกิจบริการอาหารไทยในตลาดสามารถรักษาจุดแข็งและความสามารถในการแข่งขันได้ในอนาคต

 

ที่มา: ห้าง Target

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

 

thThai