ปี 2566 ผู้บริโภคออสเตรเลียได้รับความกดดันอย่างมากจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การใช้จ่ายในการซื้อสินค้าจะเน้นที่ความคุ้มค่าของเงินเป็นหลัก

  • ปี 2565 ที่ผ่านมา การเติบโตของ GDP ออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยมีการค้าระหว่างประเทศเป็นแรงขับเคลื่อน จากการส่งออกสินค้าทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และการนำเข้าสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 4.3
  • ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 (สูงสุดตั้งแต่ปี 2533) แม้ว่าจะลดลงที่ร้อยละ 7 ในช่วงไตรมาสแรกปี 2566 แต่ยังอยู่ในระดับสูง คาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 2.1 จากการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานเพื่อดึงดูดแรงงาน เนื่องจากแรงงานในตลาดมีจำกัด (อัตราว่างงานลดลงที่ร้อยละ 3.5) แล้วผลักภาระให้ผู้บริโภคแบกรับต่อไป (ราคาสินค้าและค่าบริการแพงขึ้น) มีผลให้ชาวออสเตรเลียใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้นและลดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยลง ทำให้ยอดค้าปลีก (เชิงปริมาณ) ลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน
  • การลงทุนในธุรกิจที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ฟื้นตัวจากที่ลดลงร้อยละ 4.2 แต่การลงทุนโดยภาคธุรกิจในโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องจักรลดลง
  • ผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขยายตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน โดยเฉพาะการผลิตสินแร่เหล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และส่งออกถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 แต่อุตสาหกรรมผลิตในประเทศหดตัวลงร้อยละ 1.8

  • การส่งออกภาคบริการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 แต่การนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 3.8 โดยเป็นการลดลงของการนำเข้าสินค้าทุน (Capital goods) ที่ใช้ในภาคการผลิต สินค้าอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ยาสูบ

  • ภาครัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 (จากการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ  7.4 รายได้จากภาษี Excise taxes เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.2 โดยเฉพาะภาษีน้ำมัน) ออสเตรเลียมียอดบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมูลค่าสูงถึง 40,900 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

………………………………………………………………………..

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: www.abs.gov.au

thThai