ช่องทางการจำหน่ายผ่านโฮมช้อปปิ้งในเกาหลีใต้ประสบปัญหากำไรลดลง

(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Times ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม 2566)

ผู้เกี่ยวข้องในวงการกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคมว่า ช่องทางการจำหน่ายผ่านโฮมช้อปปิ้งในเกาหลีใต้กำลังต่อสู้กับการตกต่ำของธุรกิจที่ยืดเยื้อ เนื่องจากจำนวนคนดูโทรทัศน์ลดลง และผู้บริโภคระดับกลางใช้จ่ายน้อยลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

จากข้อมูลของคณะกรรมการการสื่อสารของเกาหลี ในช่วงที่เกิดโรคระบาด เวลาเฉลี่ยในการดูโทรทัศน์ของชาวเกาหลีในแต่ละวันเพิ่มขึ้นเป็น 3 ชั่วโมง 9 นาทีในปี 2563 อย่างไรก็ตาม หลังจากโรคระบาดโควิด 19 ได้รับการประกาศเป็นโรคท้องถิ่น เวลาเฉลี่ยในการรับชมโทรทัศน์กลับมาลดลงอีกครั้งเป็น 3 ชั่วโมง 3 นาทีในปี 2564

เจ้าหน้าที่ของบริษัทโฮมช้อปปิ้งในเกาหลีแห่งหนึ่งกล่าวว่า “เพื่อให้บริษัทโฮมช้อปปิ้งเติบโตต่อไป สิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือการที่ผู้คนยังคงดูโทรทัศน์อยู่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่าการบริโภครายการโทรทัศน์ลดลง ไม่เพียงแค่ลดลงในส่วนของช่องโฮมช้อปปิ้งเท่านั้น แต่รวมถึงช่องรายการโทรทัศน์ทั่วไปด้วย”

Hmall แพลตฟอร์มโฮมช้อปปิ้งของ Hyundai มียอดขายในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.3% เป็นมูลค่า 2.1 ล้านล้านวอน (1.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่กำไรจากการดำเนินงานลดลง 20.5% คิดเป็น 1.114 แสนล้านวอน ในขณะที่โฮมช้อปปิ้ง CJ OnStyle มีรายรับและกำไรจากการดำเนินงานของลดลง 1.7% และ 39.7% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีรายรับ 1.3 ล้านล้านวอน และมีกำไร 7.24 หมื่นล้านวอน ในส่วนของ Lotte Homeshopping ในปี 2565 ยอดขายและกำไรจากการดำเนินงานของก็ลดลง 2.3% และ 23.5% ตามลำดับ โดยมียอดขาย 1.7 ล้านล้านวอน และกำไร 7.8 หมื่นล้านวอน

ในส่วนของปีนี้ ผลการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัททีวีโฮมช้อปปิ้ง 3 อันดับแรกในไตรมาสแรกยังไม่ได้ประกาศ แต่มีการกล่าวกันว่า จะมีผลขาดทุนเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และค่าครองชีพที่สูงขึ้น

เจ้าหน้าที่บริษัททีวีโฮมช้อปปิ้งอีกรายได้กล่าวว่า “ในปีนี้แนวโน้มของอุตสาหกรรมทีวีโฮมช็อปปิ้งในเกาหลีใต้ก็ดูตกต่ำเช่นเดียวกัน โดยบางบริษัทกำลังมองหาทางแก้ปัญหาด้วยช่องทางบริการแพลทฟอร์มสด (ไลฟ์คอมเมิร์ช) แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอ”

อนึ่ง อุตสาหกรรมทีวีโฮมช้อปปิ้งได้เรียกร้องมากขึ้นให้ลดค่าธรรมเนียมค่าส่งสัญญาณที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทออกอากาศ ซึ่งมีการปรับราคาขึ้นทุกปี โดยสัดส่วนของค่าธรรมเนียมการส่งสัญญาณสำหรับธุรกิจการออกอากาศนั้นเพิ่มขึ้นจาก 36.6% ในปี 2559 เป็น 58.9% ในปี 2564 บริษัททีวีโฮมช้อปปิ้งกล่าวว่า ในขณะที่ต้องเผชิญกับสภาพธุรกิจที่แย่ลง บริษัทออกอากาศไม่ควรเพิ่มค่าธรรมเนียมการส่งสัญญาณอีกต่อไป

เจ้าหน้าที่บริษัททีวีโฮมช้อปปิ้งกล่าวเสริมว่า “เนื่องจากบริษัทผู้ออกอากาศต้องพึ่งพาบริษัทโฮมช้อปปิ้งเป็นอย่างมากในธุรกิจของพวกเขา พวกเขาจะต้องพิจารณาสถานการณ์ของเราอย่างลึกซึ้ง และลดค่าธรรมเนียมการส่งสัญญาณ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะพบกันเพื่อหารือในเดือนสิงหาคมอย่างเร็วที่สุด”

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า ในอดีตช่องทางการขายผ่านโฮมช้อปปิ้งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบัน การพัฒนาของเทคโนโลยีส่งผลให้ผู้คนรับชมโทรทัศน์น้อยลง และช่องทางการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะการช้อปปิ้งทางออนไลน์ หรือแพลทฟอร์มไลฟ์คอมเมิร์ชในปัจจุบัน

ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจำหน่ายและส่งออกสินค้ามาเกาหลีใต้ อาจจะต้องหาบริษัทคู่ค้าในเกาหลีใต้ที่มีศักยภาพและมีช่องทางกระจายสินค้าที่หลากหลาย โดยอาจมุ่งเน้นไปยังช่องทางการกระจายสินค้าผ่านแพลทฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ หรือแพลทฟอร์มไลฟ์คอมเมิร์ช ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะช่วยนำเสนอสินค้าได้อย่างดี มีประสิทธิภาพมาก และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น

********************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล

thThai