มาตราการลดการใช้ภาชนะพลาสติกในฮ่องกงที่จะมีผลบังคับตั้งแต่ 22 เมษายนนี้
รัฐบาลประกาศมาตรการลดการใช้ภาชนะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (One Time Use) มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2567 ซึ่งอาจจะทำให้ราคาอาหารแบบสั่งกลับบ้าน (Take Away) มีราคาสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ผู้ผลิตอุปกรณ์ภาชนะพลาสติกบางรายให้ข้อคิดเห็นว่าภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีราคาใกล้เคียงกับกับภาชนะที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แม้ว่าการสั่งห้ามอย่างเป็นทางการจะก่อให้เกิดความกังวลแก่เจ้าของร้านอาหารต่างๆ ที่จะเพิ่มราคาอาหารแบบซื้อกลับบ้านหลังจากผลบังคับให้เปลี่ยนมาใช้ภาชนะใช้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในบางกรณีภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งมีจำนวนมากอาจมีราคาถูกกว่า
นอกจากนี้ Sing Tao Daily สื่อฮ่องกงได้รายงานจากการเปรียบเทียบราคาจากผู้ผลิต 50 ราย ราคาของเครื่องใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกับวัสดุทดแทนที่ทำจากกระดาษหรือไม้ โดยพบว่ามีราคาใกล้เคียงกัน เช่น มีด ส้อม และช้อนไม้ มีราคาอยู่ที่ 0.10 เหรียญฮ่องกงต่อชิ้นสูงกว่าราคาพลาสติกเพียง 0.04 เหรียญฮ่องกง
บรรจุภัณฑ์ที่ทำจาก Expanded Polystyrene ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่การประกาศมาตรการลดการใช้ภาชนะพลาสติก
ในวันที่ 22 เมษายน 2567 จะมีผลให้ลดการใช้วัสดุที่ทำจาก Expanded Polystyrene และผู้ประกอบการสามารถหันไปใช้วัสดุทดแทน หรือแต่ละร้านอาหารสามารถเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบอื่นได้ในราคาสูงกว่าเพียงเล็กน้อย ตัวอย่างจะเห็นได้จากตารางเปรียบเทียบด้านล่าง
บริษัท Sun Cheong Hong Stationery & Paper ระบุว่า จีนได้สั่งห้ามใช้ภาชนะที่ทำจาก Polystyrene ตั้งแต่ปลายปี 2563 รวมถึง มาเก๊า สหภาพยุโรป และบางรัฐในออสเตรเลียออกคำสั่งห้ามในลักษณะเดียวกันนี้เมื่อหลายปีก่อน เพื่อจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและการผลิตเครื่องใช้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ส่งผลให้ราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ เช่น อุปกรณ์ที่ทำจากไม้ ไม้ไผ่ หรือกระดาษ สามารถกักเก็บอาหารที่ทนต่อน้ำ น้ำมัน หรือความร้อนได้ หลอดกระดาษขนาดกว้างที่ใช้ดื่มชานมไข่มุกและเครื่องดื่มอื่น ๆ รวมทั้งมีดที่สามารถหั่นสเต็กได้อีกด้วย
นอกจากนี้ นาย Eric Kai Fung-Sze ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตนวัตกรรม Galaxy Paper กล่าวว่าภาคบริการจัดเลี้ยงควรร่วมกันรับผิดชอบในการลดขยะพลาสติก ปริมาณขยะในระยะยาว โดยฮ่องกงพบปัญหาพื้นที่ฝังกลบขยะมีไม่เพียงพอในขณะเดียวกันธุรกิจในภาคบริการส่วนนี้ ร้อยละ 99 พร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรการลดปริมาณการใช้พลาสติกก่อนการบังคับใช้ และนาย Kai ยังให้ความมั่นใจว่าภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มีราคาเท่ากับภาชนะพลาสติก และลูกค้าไม่ต้องกังวลกับผลกระทบเรื่องราคาของอาหารแบบซื้อกลับบ้าน
หน่วยงานที่รับผิดชอบแจ้งลดขยะพลาสติกใน 2 ระยะ โดยระยะแรกเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนนี้ จะแบนเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ทำจาก Polystyrene เช่น หลอด ไม้คน ส้อม มีด ช้อน และจาน นอกจากนี้ ในช่วงแรกร้านอาหารจะถูกห้ามการใช้ถ้วยพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร และฝาปิดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งให้กับผู้ที่มารับประทานอาหาร ในขณะที่น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกฟรีในห้องพักในโรงแรมและห้องพักจะถูกแบนเช่นกัน ขณะที่ระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นในปี 2568 เครื่องใช้พลาสติกทั้งหมดจะถูกห้ามใช้บริการรับประทานที่ร้านและนำกลับบ้าน โดยผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอาจถูกปรับสูงสุด 100,000 เหรียญฮ่องกง หรือเจ้าหน้าที่สามารถใช้บทลงโทษให้จ่ายค่าปรับ 2,000 เหรียญฮ่องกงได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ชาวฮ่องกงใช้ชีวิตแบบเร่งรีบและเน้นความสะดวกสบาย โดยเฉพาะพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารกลับบ้าน (ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์ในฮ่องกงคาดว่าจะมีรายได้ 4.01 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 และการเข้าถึงผู้ใช้ในตลาดบริการส่งอาหารในฮ่องกงจะอยู่ที่ 42.1% ในปี 2567) จึงทำให้อุตสาหกรรมภาชนะวัสดุทดแทนที่ทำด้วยกระดาษหรือไม้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จาน ถ้วย หลอด ช้อนและซ้อม ถุงหิ้วใส่อาหารกลับบ้าน รวมถึงตลาดฮ่องกงต้องการผู้ผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดคุณภาพและราคาที่สามารถแข่งขันได้
ข้อคิดเห็นของสคต. ณ เมืองฮ่องกง
นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2567 รัฐบาลฮ่องกงประกาศมาตรการลดการใช้ภาชนะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ทำให้ผู้ประกอบการในหลายภาคส่วนโดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจำเป็นต้องปรับตัว และเลือกใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้มีความต้องการซื้อวัสดุทดแทนที่มีคุณสมบัติดี สามารถบรรจุน้ำ และความร้อนได้ใกล้เคียงกับพลาสติกเพิ่มขึ้น และในช่วงปี 2567 นี้ ผู้ประกอบการอาจมีการทดลองซื้อวัสดุทดแทนจากผู้ผลิตหลายเจ้าเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพและราคา จึงเป็นโอกาสที่ดีแก่ผู้ประกอบการไทยในการนำเสนอสินค้าในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ตลาดฮ่องกง