ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ชาวสเปนต้องกลับมาจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับค่าไฟฟ้าในอัตราร้อยละ 21 อีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลสเปนได้มีมาตรการแบ่งเบาภาระผู้บริโภคและควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยการลด VAT สำหรับค่าไฟจาก ร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 5 และ ร้อยละ 10 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
การกลับมาของ VAT สำหรับค่าไฟเป็นร้อยละ 21 นี้ เป็นการสิ้นสุดมาตรการแบ่งเบาภาระผู้บริโภคซึ่งมาถึงเร็วกว่าที่คาดไว้ จึงทำให้ประชาชนเกิดความตระหนก ส่วนสมาคมผู้บริโภคและนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าจะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของสเปน โดยเฉพาะการใช้จ่ายในครัวเรือนและการชำระเงิน ซึ่งอาจประสบกับความท้าทายที่จะต้องปรับตัวอย่างกะทันหันนี้
หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อของสเปนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2565 เป็นปีที่อัตราเงินเฟ้อสูงที่สุด ถึงร้อยละ 8.40 และชะลอตัวลงในปี 2566 ที่ร้อยละ 3.56 ส่วนสถิติล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ระดับอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือร้อยละ 2.8 จากร้อยละ 3.4 ในเดือนมกราคม โดยหมวดที่อัตราเงินเฟ้อสูง ได้แก่ อาหาร ร้อยละ 34.1 เสื้อผ้าและรองเท้า ร้อยละ 25.8 โรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้อยละ 20.2 และ การคมนาคมขนส่ง ร้อยละ 18.1 ซึ่งหากในปี 2567 นี้รัฐบาลกลับมาใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าไฟอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง คาดว่าจะส่งผลต่อระดับอัตราเงินเฟ้อของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อนึ่ง ในปี 2566 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสเปนเติบโตร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นอัตราที่ดีกว่าที่ถูกคาดการณ์ไว้กว่าเท่าตัว อีกทั้งยังเติบโตกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจอื่นๆ ในยุโรป เป็นผลจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตพลังงานเริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสเปนในภาคต่างประเทศทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออกนำเข้า
สำหรับปี 2567 งานวิจัยของธนาคาร Caixa ชี้ให้เห็นว่าสเปนน่าจะยังคงเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในเดือนมกราคม มีสัญญาณบวกมาจากกำลังการซื้อในภาคอุตสาหกรรม และแนวโน้มการฟื้นตัวของกำลังการซื้อในครัวเรือน ตลอดจนการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อาจกระทบต่อการเติบโตคือเรื่องการเมืองในประเทศและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
ข้อคิดเห็นของ สคต.
ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของสเปนมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจยุโรปอื่นๆ โดยเฉพาะภาคต่างประเทศและการลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2024 มีการคาดการณ์ว่าจะพัฒนาไปในแนวโน้มที่ดี สะท้อนถึงความเข้มแข็งของตลาดและความเชื่อมั่นของภาคการผลิตและการบริโภค จึงเป็นโอกาสของประเทศไทย ทั้งด้านสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเติมเต็มระบบนิเวศน์ของตลาดสเปนให้หลากหลายสากลยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคท้องถิ่น สคต. เห็นว่า แม้ผู้บริโภคจะเปิดกว้างและมีความเชื่อมั่นพร้อมจับจ่ายมากขึ้น แต่กลยุทธ์ด้านราคายังมีความสำคัญสูงสุด ผู้บริโภคยุคใหม่อ่อนไหวต่อการตลาดการลดราคา ส่งผลให้ไม่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์นัก
ประเด็นสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการรุกตลาดสเปนในจังหวะนี้ คือ การศึกษาตลาดให้ถ่องแท้ ทั้งคู่ค้า คู่แข่ง และพฤติกรรมผู้บริโภค โดยควรพิจารณากลยุทธ์ด้านราคา การตลาดออนไลน์ การตลาด Influencer การสร้างเรื่องราว (story telling) และการสร้างแบรนด์ (branding) เพื่อสร้างความแตกต่าง โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านภาพลักษณ์อันดีดีของประเทศไทยในกลุ่มชาวสเปน แต่มีจุดอ่อนคือขาดการสื่อสารใกล้ชิดระหว่างกัน สคต. จึงกำหนดแผนดำเนินการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมสินค้าและบริการไทยเชิงรุกอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายเครือข่าย เจาะผู้เล่นสำคัญ ตลอดจนสร้างความนิยมในกระแสหลักอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2567
马德里国际贸易促进办公室
มีนาคม 2567