ร้านสะดวกซื้อ ถือเป็นหนึ่งในช่องทางที่สร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิตประจำวันของชาวไต้หวัน แต่คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้สังเกตว่า ตามตรอกซอกซอยของไต้หวันมีร้านขายยาตั้งอยู่มากมาย โดยจากข้อมูลของกระทรวงการคลังไต้หวันชี้ว่า นับจนถึงสิ้นปี 2566 ทั่วไต้หวันมีจำนวนร้านขายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์มากถึง 16,173 แห่ง โดยมียอดขายรวมมากกว่า 134,363 ล้านบาท และยังเป็นจำนวนสาขาที่มากกว่าร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง 7-ELEVEN ที่มีจำนวนสาขาประมาณเกือบ 7,000 แห่งทั่วไต้หวันด้วย
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ร้านขายยามีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวไต้หวันโดยในช่วงที่น้ากากอนามัยและชุดตรวจ ATK มีปริมาณน้อยและต้องจำกัดปริมาณการซื้อ ร้านขายยาคือจุดบริการที่กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันกำหนดให้เป็นช่องทางในการขายสินค้าทั้งสองชนิด อีกทั้งยังเป็นจุดรับยาตามใบสั่งแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาล ประชาชนทั่วไปจึงมีความคุ้นเคยกับร้านขายยามากขึ้น ปัจจุบัน การจับจ่ายซื้อของชาวไต้หวันกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังผ่านการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เหล่าผู้ประกอบการเห็นโอกาสในการขยายช่องทางการค้าผ่านร้านขายยาเหล่านี้ จึงมีร้านค้าเปิดใหม่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ทำให้ร้านขายยากลายเป็นประเภทธุรกิจที่มีการขยายตัวในระดับสูงมากในไต้หวันนอกเหนือจากร้านอาหาร โดยเชนร้านขายยารายใหญ่ของไต้หวัน ต่างมีแผนขยายสาขากันอย่างพร้อมหน้า ไม่ว่าจะเป็นเป็น Great Tree เชนร้านขายยาที่มีสาขามากที่สุดของไต้หวัน ซึ่งมีแผนจะขยายสาขาในปีนี้ ให้เพิ่มขึ้นจากเดิม 80 สาขา รวมเป็น 423 สาขา และมีเป้าหมายจะขยายสาขาเพิ่มเป็นจำนวน 500 สาขาภายในปี 2568 ในขณะที่แบรนด์รองลงมาต่างก็มีแผนขยายสาขาในสัดส่วนร้อยละ 10-20 ทั้ง medfirst ที่มีสาขามากเป็นอันดับ 2 ก็เตรียมขยายสาขาเพิ่มขึ้น 32 สาขาเป็น 360 สาขา, Your Chance (ขยายเพิ่ม 20 สาขา รวมเป็น 180 สาขา), YES CHAIN (ขยายเพิ่ม 10 สาขา รวมเป็น 117 สาขา) และ Norbel Baby (ขยายเพิ่ม 8 สาขารวมเป็น 100 สาขา และจะขยายเป็น 180 สาขาภายในปี 2571)
ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดในไต้หวันชี้ว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วของร้านขายยา เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งจากการที่ไต้หวันเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะมารับยาที่ร้านขายยาซึ่งสะดวกกว่าการไปรับที่โรงพยาบาลแล้ว ยังมักจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ตามความจำเป็นซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นของแต่ละคนด้วย ในขณะที่ร้านขายยาก็ได้มีการยกระดับบริการของตัวเอง ให้กลายเป็นร้านค้าที่มีสินค้าวางจำหน่ายแบบครอบคลุมมากขึ้น โดยมีความหลากหลายและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น โดยร้านขายยาแต่ละแห่งจะต้องมีเภสัชกรประจำร้าน ทำให้สามารถให้คำปรึกษา/แนะนำที่น่าเชื่อถือทั้งในด้านสรรพคุณและวิธีการใช้งานของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคสนใจได้
ที่มา: Economic Daily News / Yahoo! News / Global Vision Monthly (April 16-25, 2567)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
การขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของร้านขายยา ทำให้ร้านขายยาเหล่านี้ กลายเป็นช่องทางการค้าที่มีศักยภาพ สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในไต้หวันได้อย่างกว้างขวาง โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสในการวางจำหน่ายในร้านขายยาเหล่านี้คือ สินค้าในกลุ่มอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ รวมถึงของใช้ส่วนตัว เช่น ยาสีฟันและยาดม ยาหม่อง ยากันยุง เป็นต้น นอกจากร้านขายยาแล้ว Personal Care Store ก็เป็นช่องทางการตลาดที่มีจำนวนสาขาในไต้หวันสูงมากเช่นกัน เช่น ร้าน Watsons’ , Cosmed , J-Mart , POYA เป็นต้น และถือเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ได้รับความนิยมจากชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก ซึ่งการที่ภูมิอากาศของไทยและไต้หวันมีความคล้ายคลึงกันทำให้ให้สินค้าในกลุ่มนี้ของไทย สามารถใช้งานกับผิวของชาวไต้หวันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งราคาก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก ส่งผลให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภควัยหนุ่มสาวของไต้หวันเป็นอย่างมาก และมีสินค้าแบรนด์ไทยทั้งของใช้ในชีวิตประจำวันและเครื่องสำอาง ไปวางจำหน่ายอยู่ในร้าน Personal Care Store มากกว่า 100 SKU เช่น แป้งตรางู, สบู่มาดามเฮง, BABY BRIGHT, A BONNE, YOKO, SPARKLE และ 2P Original เป็นต้น จึงถือเป็นช่องทางการตลาดที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับเหล่าผู้ประกอบการไทยในสินค้าที่เกี่ยวข้อง