หลังจากสถานการณ์ COVID-19 การจัดงานแสดงหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้ดอกไม้เป็นส่วนประกอบหลัก ก็ได้ปรับมาเป็นรูปแบบออฟไลน์ดังเดิม ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าจำหน่ายดอกไม้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และการบริโภคดอกไม้ต่อคนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เช่นกัน โดยเฉพาะ มูลค่าจำหน่ายของพืชไม้กระถางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการนิยมนำมาตกแต่งภายในที่พักอาศัยและการเพาะปลูกตามความชอบ
ภาพรวมอุตสาหกรรมดอกไม้เกาหลีใต้
อุตสาหกรรมการผลิตดอกไม้ของเกาหลีใต้อยู่ในสภาวะชะลอตัว โดยเมื่อเปรียบเทียบปี 2565 กับปี 2560 พื้นที่เพาะปลูกในประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด จำนวนฟาร์มที่ผลิตลดลง ในขณะที่มูลค่าการจำหน่ายลดลงเล็กน้อย
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงมองว่า ดอกไม้เป็นสินค้าที่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงมักสงวนไว้สำหรับโอกาสพิเศษ อาทิ งานแต่งงาน พิธีสำเร็จการศึกษา รวมถึงใช้แสดงความยินดีในการเปิดกิจการใหม่ มากกว่าจะเป็นสินค้าที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน มีกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมให้ดอกไม้กันและกันในวันสำคัญและเทศกาลต่างๆ ซึ่งถือเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเกาหลีได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายอุตสาหกรรมการผลิตดอกไม้ให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในช่วงห้าปี เริ่มตั้งแต่ปี 2565-2569 เพื่อขยายอัตราการเติบโตจาก 5.3 แสนล้านวอน ณ ปี 2564 ไปสู่ 7 แสนล้านวอน
สถานะการผลิตและจำหน่ายของอุตสาหกรรมดอกไม้เกาหลีใต้
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในอุตสาหกรรมดอกไม้ อาทิ จำนวนฟาร์มดอกไม้ท้องถิ่น พื้นที่เพาะปลูก มูลค่าการจำหน่าย และการบริโภคดอกไม้ต่อคน ในปี 2565 มีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564
กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบทเกาหลีใต้ ประกาศว่า ปริมาณการจำหน่ายดอกไม้เพิ่มขึ้นถึง 740 ล้านต้น หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2564 และมูลค่าการจำหน่ายก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จาก 5.382 แสนล้านวอนเป็น 5.651 แสนล้านวอน
ในปี 2565 จำนวนฟาร์มปลูกดอกไม้มีทั้งหมด 7,134 แห่ง เพิ่มขึ้นถึง 125 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.8 และมีพื้นที่ปลูกดอกไม้ทั่วประเทศถึง 4,229 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้นถึง 11 เฮกตาร์
-
- จังหวัดคยองกีมีพื้นที่การเพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุดจำนวน 856.8 เฮกตาร์ หรือฟาร์ม 2,204 แห่ง ตามมาด้วย จังหวัดชอลลาใต้ที่มีพื้นที่ขนาด 818.9 เฮกตาร์ หรือ 1,248 ฟาร์ม และจังหวัดคยองซังใต้ที่มีพื้นที่ 661 เฮกตาร์ หรือ 868 ฟาร์ม
- ไม้ตัดดอก (Cut flowers) มีจำนวนเกษตรกรมากที่สุดถึง 2,480 ราย (ร้อยละ 34.8) รองลงมาคือไม้กระถาง (Potted flowers) ที่ 2,409 ราย (ร้อยละ 33.8) และไม้ดอก (Flowering trees) 1,323 ราย (ร้อยละ 18.5)
- ดอกไม้กระถางมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นที่สุดและส่งผลให้จำนวนฟาร์มไม้กระถางเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.3 ซึ่งกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบทวิเคราะห์ว่า ผู้บริโภคเลือกซื้อดอกไม้กระถางเป็นพืชเลี้ยงเสมือนสัตว์เลี้ยงและนิยมมาตกแต่งภายในที่พักอาศัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในการปลูกพืชอวบน้ำและต้นกระบองเพชรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อุตสาหกรรมดอกไม้ที่ปัจจุบันอัตราการเติบโตได้ลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2548 กำลังแสวงหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อที่จะขยายการบริโภคอย่างยั่งยืนและสร้างเสถียรภาพของอุตสาหกรรม รวมถึงการนำเทคโนโลยี Smart Farming มาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเกษตรกรรุ่นใหม่ในภาคเกษตรกรรมของเกาหลี
การนำเข้าดอกไม้มายังเกาหลีใต้
ในปี 2565 เกาหลีใต้นำเข้าดอกไม้ทุกชนิดจำนวน 23,000 ตัน ซึ่งมีมูลค่า 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สามารถแบ่งเป็น
-
- ดอกไม้ชนิดอื่นๆ จำนวน 7,200 ตัน ดอกเบญจมาศ (ชนิดไม้ตัดดอก) 6,830 ตัน ดอกคาร์เนชั่น (ชนิดไม้ตัดดอก) 1,710 ตัน ดอกกล้วยไม้ 1,450 ตัน ดอกทิวลิป (ชนิดไม้ดอกประเภทหัว) 1,145 ตัน และดอกกุหลาบ 877 ตัน
- ดอกลิลลี่ มีเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ตามมาด้วย โคลอมเบียจำนวน 510 ตัน และเอธิโอเปียจำนวน 326 ตัน
- ดอกกุหลาบ โคลอมเบียส่งออกจำนวน 1,277 ตัน และดอกคาร์เนชั่นจากจีนจำนวน 432 ตัน
อัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของดอกไม้นำเข้าในเกาหลี เป็นผลจากราคาไม้ตัดดอกในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนของผลผลิตภายในประเทศ จึงส่งผลให้ราคาประมูลไม้ตัดดอกปรับตัวสูงขึ้นตาม สัดส่วนของการนำเข้าดอกไม้จึงเพิ่มขึ้นแทน โดยสัดส่วนดอกไม้นำเข้า เช่น ไม้ตัดดอก ไม้ดอกประเภทหัว และดอกไม้สดอื่นๆ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โคลอมเบีย จีน และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในตลาดเกาหลีอย่างมาก
การกระจายสินค้าและจำหน่าย
จากการผลิตดอกไม้ทั้งหมด ประมาณร้อยละ 62.6 ถูกจัดจำหน่ายผ่านตลาดเอกชนซึ่งเป็นตลาดค้าส่งและค้าปลีกที่มีความเชี่ยวชาญด้านดอกไม้ เช่น Express Bus Terminal Wholesale Flower Market ในกรุงโซล และอีกร้อยละ 37.4 ที่เหลือจะถูกจัดจำหน่ายผ่านตลาดดอกไม้ในประเทศ 6 แห่ง ได้แก่
-
- Yangjae Flower Market
- Busan Flower Market
- Bukyeong Horticultural Agricultural Cooperative
- Yeongnam Flower Agricultural Cooperative
- Gwangju Horticultural Cooperative
- Korea Flower Agricultural Cooperative
นอกจากนี้ จากรายงานของ MAFRA ยังประกาศว่า จะมีการนำธุรกรรมออนไลน์มาทดลองใช้ โดยมีแผนที่จะส่งเสริมการประมูลออนไลน์ทั่วประเทศ เพื่อขยายการทำธุรกรรมแบบออนไลน์และการลดค่าใช้จ่ายการจัดจำหน่าย ซึ่งคาดว่าแผนการนี้จะขยายไปทั่วประเทศภายในปี 22568 หลังจากปฏิบัติการนำร่องในช่วงปี 2566-2567
กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าดอกไม้
- ผู้ที่ต้องการนำเข้าดอกไม้จะต้องยื่นใบรับรองการกักกัน ที่ออกโดยหน่วยงานรัฐบาลของประเทศผู้ส่งออก ตามพระราชบัญญัติกักพืช อีกทั้งต้องระบุสถานที่ผลิตบนผลิตภัณฑ์
- เมื่อมาถึงประเทศเกาหลี ดอกไม้จะต้องผ่านการกักกันพืชโดยสำนักงานใหญ่ของกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท
-
- กรณีดอกไม้เป็นพืชต้องห้ามตามกฎหมายหรือมีศัตรูพืช หรือดินติดกับรากจะไม่สามารถนำเข้ามายังเกาหลีได้
-
- ดอกไม้เป็นสินค้าที่มีอัตราภาษีค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรายการสินค้าอื่นๆ โดยมีอัตราภาษีขั้นพื้นฐานถึงร้อยละ 25 อย่างไรก็ดี เกาหลีได้ได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศแคนาดา ชิลี เปรู สหรัฐอเมริกา เวียดนาม โคลอมเบีย เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว
- สำหรับผู้ส่งออกไทย จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีเกาหลี-อาเซียนในการส่งออกดอกไม้มายังเกาหลีเช่นกัน แต่สินค้าบางรายการยังคงต้องเสียภาษีร้อยละ 5-20
มาตรการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกดอกไม้โดยรัฐบาลเกาหลี
- กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบทได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาอุตสาหกรรมดอกไม้และส่งเสริมวัฒนธรรมดอกไม้ในปี 2562 ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีการกำหนดและส่งเสริมแผนพัฒนาอุตสาหกรรมดอกไม้ทุก 5 ปี ซึ่งรวมการส่งเสริมทิศทางการพัฒนาด้านการผลิต การกระจายสินค้า และการบริโภค รวมถึงการวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมนโยบายให้มีประสิทธิภาพต่ออุตสาหกรรม
- แผนการพัฒนาประกอบด้วย
- การตั้งเป้าหมายและแนวทางพื้นฐานในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดอกไม้และส่งเสริมวัฒนธรรมดอกไม้
- การควบคุมการผลิตและจำหน่ายดอกไม้ เพื่อสนับสนุนการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ
- การส่งเสริมการบริโภคและการสนับสนุนการกระจายสินค้า
- การทำแบบสำรวจที่เกี่ยวข้อง การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี สถิติและการสนับสนุนด้านสารสนเทศ
- การพัฒนาและการกระจายการศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพ และกิจกรรมสวนบำบัด
- การจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดอกไม้
- การส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมการบริโภคดอกไม้
แนวโน้มของผู้บริโภคเกาหลี
อ้างอิงจากแบบสำรวจวัตถุประสงค์ในการเลือกซื้อดอกไม้ของผู้บริโภคชาวเกาหลี พบว่า ผู้บริโภคเกาหลีซื้อดอกไม้สำหรับเป็นของขวัญร้อยละ 43.5 สำหรับตกแต่งภายในร้อยละ 28.4 และสำหรับแสดงความยินดีหรือแสดงความเสียใจร้อยละ 14.4
-
- ไม้ตัดดอกนำมาเป็นของขวัญแสดงความยินดีและแสดงความเสียใจในรูปแบบช่อดอกไม้
- ไม้ดอกและไม้ประดับนำมาเป็นของขวัญแสดงความยินดีในการเปิดกิจการหรือย้ายกิจการ
- ไม้กระถางนำมาเป็นของขวัญแสดงความยินดีในการเลื่อนตำแหน่ง การเลือกตั้ง การเข้ารับตำแหน่ง
ในปี 2565 การบริโภคดอกไม้ต่อคนใน 1 ปีได้เพิ่มขึ้นเป็น 13,764 วอน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 จากปี 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตติดต่อกันเป็นปีที่สาม
ปัจจุบัน ผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปีมองหาความหลากหลายและสีสันใหม่ๆ เป็นหลัก ซึ่งหาได้ยากจากตลาดในท้องถิ่น โดยดอกไม้ที่นิยม ได้แก่ ดอกกุหลาบ ดอกคาร์เนชั่น และดอกเบญจมาศ นอกจากนี้ ยังมีการบริโภคพืชและดอกไม้กระถางเพิ่มขึ้นสำหรับปลูกในที่ร่ม
ในประเทศเกาหลี จะมีช่วงเวลาที่ดอกไม้นำเข้ามีอัตราการบริโภคเป็นอย่างมาก ได้แก่ เดือนพฤษภาคม เดือนมีนาคม และเมษายน ในบรรดานำเข้าดอกไม้ในเดือนเมษายน 2566 คาร์เนชั่นนำเข้ามากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 57.6 รองลงมาคือ ดอกเบญจมาศ ดอกกุหลาบ และดอกเดนโดรเบียม
การบริโภคดอกไม้มักจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการตามโอกาสสำคัญในแต่ละเดือน เช่น
-
- เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ สำหรับงานรับปริญญาและวันวาเลนไทน์
- เดือนมีนาคมสำหรับภาคการศึกษาใหม่และ White day
- เดือนพฤษภาคม สำหรับวันพ่อแม่และเป็นเดือนแห่งครอบครัว
- เดือนธันวาคมสำหรับวันคริสต์มาสและเทศกาลวันสิ้นปี
ส่งผลให้มีการปรับราคาขึ้นลงอย่างรุนแรงตามเดือนและฤดูกาลที่ใช้ดอกไม้เพื่อเป็นของขวัญแสดงความยินดี
โอกาสสำหรับผู้ส่งออกดอกไม้จากไทย
รัฐบาลเกาหลีใต้เพิ่มความเข้มงวดต่อการกักกันพืชและดอกไม้มากขึ้น เนื่องจากความหลากหลายและปริมาณของดอกไม้นำเข้าที่เพิ่มขึ้นเกือบประมาณสี่เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในเดือนเมษายน 2566 มีอัตราการนำเข้าดอกไม้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายเดือน ซึ่งร้อยละ 17.5 ของปริมาณการนำเข้าถูกกำจัดทิ้ง เนื่องจากตรวจพบศัตรูพืช
ในการส่งออกดอกไม้มายังเกาหลี ดอกไม้ต้องได้รับการฆ่าเชื้อล่วงหน้าเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชและโรคต่างๆ ผู้ส่งออกจำเป็นต้องระวังการกักเก็บพืชและดอกไม้เป็นอย่างมาก หากพบว่ามีผลหรือดินติดมาด้วยจะถูกกำจัดทิ้งทันที
ความเห็นสำนักงานฯ หลังจากปี 2548 ที่อุตสาหกรรมดอกไม้ในเกาหลีเติบโตอย่างก้าวกระโดด อัตราการเติบโตก็มีความคงที่หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจุดที่ประสบความสำเร็จ เห็นได้ว่ามีการเติบโตที่ลดลงมาประมาณร้อยละ 50 ด้วยสาเหตุหลัก ได้แก่ การจัดงานหรือกิจกรรมอย่างงานแต่งงานที่มีจำนวนลดลง อีกทั้งดอกไม้เป็นสินค้าที่มีราคาสูง ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคมุ่งเน้นการเลือกซื้อสำหรับโอกาสสำคัญแทน ส่งผลให้เสถียรภาพทางด้านราคาไม่คงที่มากนัก
จากการที่ดอกไม้ที่ผลิตในประเทศมีราคาที่สูงและมีจำนวนการผลิตที่ไม่สามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศได้ ส่งผลให้เกิดการพึ่งพิงดอกไม้นำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ที่มีความหลากหลายในด้านชนิดและสีสัน ซึ่งดอกไม้มีการนำเข้าหลักจากประเทศเนเธอร์แลนด์ จีน โคลอมเบีย และเวียดนาม
สำหรับผู้ส่งออกไทย ดอกกล้วยไม้เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดเกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่มีคู่แข่งจำนวนน้อย มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในส่วนของดอกไม้อื่นๆ เช่น ทิวลิป ราคาจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเจาะตลาด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาส่งออกดอกไม้สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีความเฉพาะตัว เพื่อสร้างจุดแข็งและความแตกต่างกับดอกไม้ชนิดอื่น และเจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบความแตกต่างได้
******************************
สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน
首尔海外贸易促进办公室
29 เมษายน 2567
ที่มาข้อมูล:
- The Status of Floriculture Industry in 2022, 2023.08., The Ministry of Agriculture, Food and Rural Affairs
- The 1st Plan for Floriculture Industry Fostering, 2021.12.31 The Ministry of Agriculture, Food and Rural Affairs