“เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP30 เรื่อง โอกาสทางการตลาดจากภาวะความผันผวนด้านการขนส่งในตลาดโลก

 

การค้าระหว่างประเทศกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งในช่วงที่เกิดภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ผ่านมาส่งผลทำให้เกิดความผันผวนในตลาดอย่างหนัก ราคาสินค้าและค่าระวางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อปีที่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอัตราค่าระวางสินค้าระหว่างประเทศกลับได้รับผลกระทบจากปัจจัยสำคัญในตลาดหลายปัจจัยทำให้อัตราค่าระวางเรือในตลาดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านภาวะความแห้งแล้งในเขตคลองปานามาซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนเรือขนส่งสินค้าที่จะสามารถเดินทางผ่านได้ ปัจจัยด้านการการปิดกั้นเส้นทางเดินเรือและโจมตีเรือขนส่งสินค้าของกลุ่มกบฏฮูตีในเขตทะเลแดง รวมถึงปัจจัยด้านการประท้วงของกลุ่มแรงงานตามท่าเรือสำคัญในเขตตะวันออก และเขตตอนใต้ของสหรัฐฯ

 

ปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าอย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้ โดยส่วนหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนสินค้าดังเช่นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดที่ผ่านมา อีกทั้ง ยังเป็นการควบคุมต้นทุนค่าระวางขนส่งสินค้าที่อาจจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งในช่วงดังกล่าวของทุกปีก็เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ มักจะมีปริมาณนำเข้าสินค้าจำนวนมากเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับจำหน่ายในช่วงเทศกาลปลายปีอยู่แล้ว

 

ทั้งนี้ Mr. Paul Bingham ตำแหน่ง ผู้อำนวยการที่ปรึกษาด้านการขนส่ง บริษัท S&P Global Market Intelligence กล่าวว่า ผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตในสหรัฐฯ ไม่ต้องการที่จะเผชิญกับความเสี่ยงในการสูญเสียยอดจำหน่ายในอนาคต แม้ว่าขณะนี้จะต้องเผชิญกับภาวะราคาสินค้าที่ค่อนข้างสูงจากปัจจัยด้านค่าระวางขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในช่วงที่ผ่านมา

 

ข้อมูลจากบริษัท Xeneta ระบุว่า ราคาค่าระวางขนส่งสินค้าทางเรืองจากทวีปอเชียปลายทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 7,806 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ วันที่ 17 กรกฎาคมทีผ่านมา ซึ่งปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยด้านค่าระวางเรือจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่สหรัฐฯ กลับยังมีปริมาณการนำเข้าสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปริมาณสินค้านำเข้าผ่านท่าเรือเมือง Seattle และท่าเรือเมือง Tacoma รัฐวอชิงตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ในเดือนพฤษภาคม และเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 ในเดือนมิถุนายนซึ่งถือว่าสูงมาก

 

สำหรับท่าเรือเมือง Long Beach รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งหนาแน่นที่สุดในสหรัฐฯ พบว่าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งผ่านท่าเรือดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 848,451 ตู้ หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 จากเดือนที่ผ่านมา นับเป็นปริมาณตู้ขนส่งสินค้าที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ผู้บริโภคชาวอเมริกันใช้จ่ายสูงจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในขณะนั้น นอกจากนี้ ท่าเรือเมืองนิวยอร์ก และท่าเรือเมืองนิวเจอร์ซีย์ ก็พบแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน มีปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2565

 

ทั้งนี้ สินค้าที่สหรัฐฯ มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งพบว่ามีการนำเข้าสูงกว่าช่วง High Season ในช่วงสถานการณ์ปกติ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงฤดูเปิดภาคเรียนไปจนถึงช่วงเทศกาลปลายปี จากข้อมูลของสำนักสำมะโนประชากร (Census Bureau) พบว่า อัตราส่วนสินค้าคงคลังต่อยอดจำหน่ายผู้ค้าปลีก (Ratio of Inventories to sales) ในสหรัฐฯ ขยายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.31 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2563

 

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็มีส่วนสำคัญทำให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เร่งนำเข้าสินค้าในช่วงดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ารองเท้า รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก่อนที่สหรัฐฯ จะเริ่มบังคับเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ด้วย

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

การพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบันส่งผลทำให้การแข่งขันบนเวทีการค้าโลกรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัจจัยบางอย่างที่หลายฝ่ายอาจจะไม่เคยให้ความสำคัญอาจจะส่งผลทำให้ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการดำเนินกิจการได้ เช่นเดียวกันกับปัจจัยด้านการบริหารจัดการการขนส่งและระบบห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่งเพียงเล็กน้อยก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งในตลาดปัจจุบัน

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรพิจารณาให้ความสำคัญและวางแผนการจัดการการผลิตและขนส่งให้เกิดประสิทธิภาพไม่ก่อให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง รวมถึงควบคุมต้นทุนการขนส่งให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ในตลาดเพื่อรักษาสัดส่วนตลาดสินค้าไทยในสหรัฐฯ โดยการพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสมในตลาด เช่น การเลือกทำสัญญาราคาค่าขนส่งแบบ Contract Rate แทนที่จะใช้แบบ Spot Rate ก็น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถควบคุมความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาค่าขนส่งสินค้าในตลาดได้

 

ทั้งนี้ ความผันผวนของอัตราค่าระวางขนส่งสินค้าในปัจจุบัน ประกอบกันนโยบายการตอบโต้ทางการค้าจีนของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการเพิ่มขึ้นในต้นเดือนสิงหาคม ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกในสหรัฐฯ ต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนสินค้าในช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะช่วงเทศกาลปลายปี จึงถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมักจะกำลังความต้องการบริโภคมากขึ้นตามวัฏจักรการบริโภคของผู้บริโภคในสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ ปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลทำให้ราคาค่าระวางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น น่าจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ ยังคงรักษาตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อในตลาดของสหรัฐฯ และอาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภคในตลาดในอนาคตจนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังคงกังวลว่าจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในตลาดภายหลังจากการเลือกตั้งและน่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจ และการบริโภคในภาคประชาชนซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/qVbmVS6DXZM

 

******************************

 

芝加哥国际贸易促进办公室

zh_CNChinese