เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาเครื่องบินบรรทุกทุเรียนสดของประเทศมาเลเซีย จำนวน 100 กล่อง น้ำหนัก 1 ตัน บินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ถึงสนามบินนานาชาติอู๋ซวีในเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน และได้ผ่านการตรวจปล่อยจากศุลกากรอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นทุเรียนสดของมาเลเซียล็อตแรกที่ได้เข้าตลาดเขตฯ กว่างซีจ้วงอย่างเป็นทางการ หลังจากหน่วยงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้อนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมา
ทุเรียนสดล็อตนี้เก็บจากต้นทุเรียนที่มีอายุกว่า 30 ปีทั้งหมด หลังจากที่สุกบนต้นตามธรรมชาติและร่วงหล่นแล้ว จะขนส่งตามเส้นทางการบินระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์มายังเมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นเส้นทางสั้นที่สุดของจีนไปถึงมาเลเซีย โดยผ่านสายการบิน Raya Airways ซึ่งเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า (Air Cargo) โดยเฉพาะและใช้เวลาการขนส่งเพียงแต่ 3.5 ชั่วโมง เวลาจากการเก็บจากต้นถึงปลายทางการจำหน่ายไม่เกิน 24 ชั่วโมง และในช่วงค่ำของวันที่ 31 ผู้นำเข้าได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และจำหน่ายทุเรียนสดล็อตนี้ที่ย่านจตุรัสมินเซิงใจกลางเมืองหนานหนิง ซึ่งได้ดึงดูดชาวหนานหนิงมาลองชิมและสั่งซื้อ ทุเรียนที่จำหน่ายเป็นพันธุ์มูซังคิง ราคาแบ่งเป็น 2 ระดับตามคุณภาพ ตั้งราคาที่ 196 หยวนต่อกิโลกรัม และ 176 หยวนต่อกิโลกรัม โดยเฉลี่ยนหนึ่งลูกจะหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ทุเรียนมูซังคิง ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้จีนอนุญาตให้มาเลเซียส่งออกเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง (Frozen Durian) และผลิตภัณฑ์แปรรูปมายังจีนเท่านั้น ซึ่งรสชาติจะสู้กับทุเรียนสดไม่ได้ ปัจจุบันสวนทุเรียนของประเทศมาเลเซียที่มีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานศุลกากรแห่งชาติจีนมีจำนวน 33 แห่ง ผลผลิตต่อปีของสวนอยู่ที่ประมาณ 17,685 ตัน และผลผลิตทุเรียนทั้งหมดของปี 2566 อยู่ที่ 377,251 ตัน
ประเทศจีนเป็นประเทศที่นำเข้าและบริโภคทุเรียนที่มากที่สุด เมื่อปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนจำนวน 1,425,858 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 มูลค่า 6,720 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วยทุเรียนไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ข้อมูลจากศุลกากรจีน (GACC)
จากตัวเลขการนำเข้าแสดงว่า หลังจากประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์ ได้ส่งออกทุเรียนสดเข้าสู่ประเทศจีน ตลาดทุเรียนของจีนมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งเสริมให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะทุเรียนของเวียดนาม
ตารางเปรียบเทียบทุเรียนนำเข้าจาก 4 ประเทศ ในตลาดจีน
หลังจากประเทศมาเลเซียได้ส่งออกทุเรียนสดเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการ จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคจีนในการสั่งซื้อทุเรียนสดมากอีกช่องทาง โดยเฉพาะเป็นทุเรียนระดับพรีเมี่ยม อันจะเป็นคู่แข่งอีกรายที่เพิ่มขึ้นของทุเรียนไทยในตลาดจีน
ความเห็น สคต. ณ เมืองหนานหนิง: จีนเป็นประเทศที่นำเข้าทุเรียนมากที่สุดของโลก สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นมณฑลที่นำเข้าทุเรียนมากอันดับต้นๆ ในจีน สามารถพูดได้ว่าทุเรียน 10 ลูกในตลาดจีนมี 6 ลูกนำเข้าผ่านเขตฯ กว่างซีจ้วง ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีด่านที่สามารถนำเข้าผลไม้ต่างประเทศ จำนวน 9 ด่าน ด่านที่สามารถนำเข้าผลไม้ไทยจำนวน 7 ด่าน ได้แก่ ด่านโหย่วอี้กวน ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านตงซิง ด่านท่าเรือชินโจว ด่านสนามบินนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง ด่านหลงปัง ด่านสุยโข่ว สำหรับด่านหลงปังและด่านสุยโข่วเป็นด่านทางบกที่ติดกับเวียดนาม ยังอยู่ช่วงก่อสร้างพื้นที่ตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับผลไม้นำเข้าจากรัฐบาลกลาง ดังนั้น ยังไม่สามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้ ทั้งนี้ หากด่านผ่านการตรวจรับอย่างเป็นทางการจะเป็นอีกช่องทางในการส่งเสริมการนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทยมายังจีนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ทุเรียนไทยยังคงได้รับความนิยม และมีชื่อเสียงในตลาดจีน โดยที่มีจุดแข็งที่รสชาติอร่อย เนื้อละเอียด หวานมัน มีคุณภาพมาตรฐาน มั่นใจได้ว่าทุเรียนไทยมีคุณภาพและผ่านข้อบังคับ กฎระเบียบต่างๆ ของจีน และที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้มีแผนการบริหารจัดการเรื่องทุเรียนตั้งแต่ต้นฤดูก่อนการเก็บเกี่ยว โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมคุณภาพ ป้องกันสารตกค้าง และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวทุเรียนอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนเป็นตลาดที่มีความต้องการบริโภคทุเรียนปริมาณมหาศาล ผู้ประกอบการไทยต้องรักษาคุณภาพ และมาตรฐานของทุเรียนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทยในตลาดจีน เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีนและครองส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศคู่แข่งต่อไป
———————————————————————
แหล่งที่มา
https://mp.weixin.qq.com/s/cUzH0zHmgwOCuDiqfJD8Gw
https://www.163.com/dy/article/JB0F4EOD0514UDA0.html
https://mp.weixin.qq.com/s/St6_1o1-zhyjBVTiPupzfQ
http://stats.customs.go v.cn/
驻南宁国际贸易促进办公室