บังกะลอร์ เมืองแห่งศูนย์กลางไอทีของอินเดีย ได้กลายเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ด้วยการทำสถิติยอดขายสูงแตะระดับ 18,550 ยูนิตในไตรมาสที่ผ่านมา ตามข้อมูลรายงาน Real Estate Intelligence Service (REIS) ของ บริษัท JLL India และจากรายงานยังได้ระบุอีกว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ในเมืองได้ขยายตัวประมาณ 45% คิดเป็น 16,537 ยูนิต อุปสงค์ที่แข็งแกร่งของอสังหาริมทรัพย์เมืองบังกะลอร์ที่เกิดขึ้นได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของธุรกิจไอที การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย ทำให้นักพัฒนาโครงการทั้งจากระดับชาติและระดับภูมิภาคหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนในเมืองดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้มีการเปิดตัวโครงการใหม่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
บริษัทให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมืองบังกะลอร์ยังมีพื้นที่ในเขต Whitefield ซึ่งครอบคลุม 47% ของโครงการที่เปิดใหม่ ตามมาด้วยพื้นที่ Hosur Road และ Bellary Road สำหรับอพาร์ตเมนต์ระดับกลาง-บน (ราคาตั้งแต่ 10-30 ล้านรูปี) ครองส่วนแบ่งสำคัญถึง 62% ในไตรมาสที่ผ่านมา อนึ่ง บริษัท JLL India ให้ข้อสังเกตว่า ประมาณ 25% ของยอดขายในเมืองบังกะลอร์เกิดจากโครงการที่ได้มีการเปิดตัวเพียง 6 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ เกิดเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจที่ข้อง อาทิ ความต้องการวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตลาดก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากปัจจุบันภาคอุปทานได้ประสบปัญหาในการตอบโจทย์ความต้องการของภาคส่วนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
นอกเหนือจากนั้น สมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดียและ CBRE ยังคาดการณ์ว่าเมืองบังกะลอร์จะกลายผู้นำในตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของประเทศ ด้วยพื้นที่สำนักงาน 330-340 ล้านตารางฟุตภายในปี 2573 (2030) รายงาน ‘Karnataka Horizon: Navigating Real Estate Excellence in the South’ ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า พื้นที่สำนักงานในเมืองนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว หรือมากกว่า 223 ล้านตารางฟุต ณ เดือนมิถุนายน 2567 จากเดิม 100 ล้านตารางฟุตในปี 2556 ซึ่งทำให้เมืองบังกะลอร์สามารถครองส่วนแบ่งสูงสุดในกลุ่มเดียวกันเมื่อเทียบกับหัวเมืองสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาข้อมูลเชิงสถิติจำนวนพื้นที่สำนักงานของอินเดียรวมประมาณ 880.7 ล้านตารางฟุต เมืองบังกะลอร์ครองสัดส่วนสูงถึง 25% คิดเป็นพื้นที่เฉลี่ยต่อปีที่ประมาณ 15-16 ล้านตารางฟุตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าในไม่กี่ปีข้างหน้า เมืองบังกะลอร์นี้จะขยายตัวมากขึ้นในพื้นที่รอบนอกที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เหมาะต่อการลงทุนทั้งจากอินเดียเหนือ ตะวันออก และทางใต้ ซึ่งสามารถรองรับโครงการและธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อมูลเพิ่มเติม
1.ในช่วงก่อนถึงปี 2573 (2030) ภาคเทคโนโลยี วิศวกรรม การผลิต และธุรกิจ BFSI (ธนาคาร การเงิน และประกันภัย) ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นหน่วยขับเคลื่อนสำคัญให้กับตลาดอาคารสำนักงาน โดยมีภาคชีววิทยาศาสตร์ การบิน และอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นกำลังเสริมที่มีบทบาทเติมเต็มอุปสงค์ของตลาด ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคเทคโนโลยีมีการบริหารจัดการใช้พื้นที่ต่อปีคิดเป็น 30-35% ในเมืองนี้ โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในศูนย์กลางธุรกิจเชิงพาณิชย์อาทิ Outer Ring Road และ Whitefield
2.ด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก ความต้องของตลาดในเมืองบังกะลอร์ได้ถูกขับเคลื่อนจากธุรกิจบันเทิง แฟชั่น และธุรกิจเครื่องใช้ภายในบ้าน ซึ่งจากรายงานอสังหาริมทรัพย์ REIS ระบุเพิ่มเติมว่า การขยายตัวของหุ้นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกได้เติบโตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 7.2 ล้านตารางฟุตในปี 2553 เป็นการขยายตัวสูงกว่า 16 ล้านตารางฟุต ณ เดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 24% ในกลุ่มเมืองใหญ่ของอินเดีย และคาดว่าอัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเป็น 20-30 ล้านตารางฟุตภายในปี 2573 (2030) หรือขยายตัวประมาณ 1.4 เท่า
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความท้าทาย
1. การขยายตัวอย่างรวดเร็วของพื้นที่เชิงพาณิชย์: คาดว่าอสังหาริมทรัพย์ในตลาดสำนักงานของเมืองบังกะลอร์จะเติบโตถึง 330-340 ล้านตารางฟุตภายในปี 2573 ซึ่งจะต้องใช้วัสดุก่อสร้างจำนวนมาก รวมถึงเหล็ก ปูนซีเมนต์ กระจก และพื้นกระเบื้อง
2. การเติบโตของตลาดค้าปลีก: ตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อค้าปลีกคาดว่าจะเติบโตเป็น 20-30 ล้านตารางฟุตภายในปี 2573 โดยได้รับแรงหนุนจากห้างสรรพสินค้าและสถานบันเทิงที่ครบวงจร ซึ่งธุรกิจนี้มีความต้องการวัสดุก่อสร้างเฉพาะทาง รวมถึงของตกแต่ง อุปกรณ์ ติดตั้ง กระเบื้อง และระบบโซลูชั่นการตกแต่งภายใน สร้างความต้องการมากขึ้นให้กับภาคการผลิตวัสดุระดับ hi-end และวัสดุสั่งทำพิเศษ
3. วัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืน: ลูกค้าให้เความสำคัญด้านความยั่งยืนตามกระแสโลก หากบริษัทไทยสามารถนำเสนอวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น คอนกรีตรักษ์โลก เหล็กรีไซเคิล หรือหน้าต่างประหยัดพลังงาน บริษัทไทยสามารถใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อแสวงหาคู่ค้าที่มีความต้องการ โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ที่กำลังมองหาพื้นที่สำนักงานแบบยั่งยืน
ข้อคิดเห็น
การเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์เมืองบังกะลอร์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มที่แข็งแกร่งและความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของลูกค้าอินเดียและลูกค้าต่างประเทศ ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตเร็วที่สุดในอินเดียได้แก่ 1.การเติบโตของราคาที่อยู่อาศัย ระหว่างปี 2563-2567 ราคาที่อยู่อาศัยในบังกะลอร์เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-8% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่มั่นคงที่สุดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอินเดีย โดยปี 2566 ราคาที่พักอาศัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,000 -10,000 รูปี ต่อตารางฟุต ขึ้นกับทำเลและประเภทของที่พักอาศัย 2. ความต้องการของพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตลาดพื้นที่สำนักงานในเมืองบังกะลอร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยพื้นที่มีอัตราการครอบครองพื้นที่สำนักงานที่สูงถึง 90% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการของธุรกิจที่ต้องการขยายหรือจัดตั้งในเมืองนี้ โซนธุรกิจสำคัญ เช่น Whitefield, Electronic City, และ Outer Ring Road โดยบริษัทเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่มีการเช่าพื้นที่มากที่สุด และ 3.อุปสงค์ที่อยู่อาศัยและการเปิดตัวโครงการใหม่ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่กว่า 20,000 หน่วย โดยเน้นที่โครงการระดับกลางและโครงการหรูหรา บังกะลอร์มีอัตราการขายที่อยู่อาศัยสูงถึง 60-65% เขตที่มีความต้องการสูง ได้แก่ Sarjapur Road, Hennur, และ Bellandur ซึ่งเป็นทำเลที่สะดวกในการเดินทางไปยังย่านธุรกิจและศูนย์เทคโนโลยี นอกจากนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเมือง
บังกะลอร์ ยังเปิดโอกาสมากมายให้กับผู้ส่งออกไทยในภาควัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะผู้ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์พรีเมียมและวัสดุสั่งทำพิเศษตามความต้องการของลูกค้า จากสถิติในปี 2566 อินเดียนำเข้าวัสดุก่อสร้าง (HS 151020 ) จากไทยมูลค่า 32,269,419 เหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 18.83 จากปี 2565 โดยไทยเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 22 อย่างไรก็ดี ตลาดอินเดียยังมีความท้าทาย เช่น การแข่งขันในธุรกิจท้องถิ่น อุปสรรคด้านการนำเข้า และความอ่อนไหวด้านราคา การมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเพาะ เช่น วัสดุระดับ hi-end วัสดุสั่งทำพิเศษ และวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าในพื้นที่ จะช่วยให้บริษัทไทยสามารถใช้โอกาสสร้างแต้มต่อทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา:1. https://www.ndtv.com/bangalore-news/bengaluru-indias-biggest-real-estate-market-in-last-quarter-says-report-6186772
2 – https://www.livemint.com/industry/infrastructure/bengaluru-to-dominate-indias-commercial-real-estate-market-with-330-340-mn-sq-feet-office-stock-by-2030-report-11721110982045.html