เมื่อเร็วๆนี้ ประธานาธิบดี ไซริล รามาโฟซา กล่าวว่า แอฟริกาใต้อยู่ระหว่างพิจารณาการออกมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและรถไฮบริด ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าประเทศ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมรถยนต์ของแอฟริกาใต้ในตลาดโลกด้วย เนื่องจากคู่ค้าส่วนใหญ่ของแอฟริกาใต้ได้มุ่งสู่รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว
ปี 2566 แอฟริกาใต้ส่งออกรถยนต์ มูลค่า 271 พันล้านแรนด์ (หรือประมาณ 1,355 พันล้านบาท) ตลาดส่งออกที่สำคัญคือสหภาพยุโรปซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดความต้องการรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารจากอุตสาหกรรมยานยนต์ได้วิจารณ์รัฐบาลแอฟริกาใต้ว่า ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศน้อย ประกอบกับแอฟริกาใต้มีการพัฒนาเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างช้าและเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 25 ในขณะที่ รถยนต์แบบดั้งเดิมบางรายการไม่เก็บภาษี
ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ: ขณะนี้ หลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างก้าวข้ามรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปซึ่งใช้พลังงานน้ำมัน ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EVs) เพื่อลดการใช้น้ำมันและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศแอฟริกาใต้ ยังคงมีความท้าทายในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เนื่องจากสาเหตุสำคัญ อาทิ การผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีน้อย หากรัฐบาลสามารถออกมาตรการที่สร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ผลิตและผู้ใช้รถยนต์ จะช่วยให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
อนึ่ง ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ปี 2566 แอฟริกาใต้ส่งออกรถยนต์ มูลค่า 5,407 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 2 ของทวีปแอฟริกา (รายใหญ่ที่สุด คือ โมร็อกโก มูลค่า 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ) หากแอฟริกาใต้ต้องการรักษา/เพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกรถยนต์จะต้องเตรียมพร้อมในหลายมิติ เพื่อรับมือการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ของแอฟริกาใต้ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน
เครดิตภาพและที่มาข่าว : www.moneyweb.co.za
比勒陀利亚国际贸易促进办公室
ตุลาคม 2567