เนื้อหาสาระข่าว: กลับเข้าสู่ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของปีอีกครั้งหนึ่ง ช่วงเวลาเทศกาลที่ใครหลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยเพื่อที่จะเฉลิมฉลองวันสำคัญกับครอบครัว มิตรสหาย หรือการพักผ่อนและการได้ใช้เวลาส่วนตัวในแบบที่ใจปรารถนา โดยสำหรับชาวอเมริกันจะถือว่าเทศกาลวันหยุดช่วงสิ้นปีนั้นจะเริ่มตั้งแต่วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) ในวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน (ปีนี้ตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน) ยาวไปจนถึงวันคริสต์มาสและวันปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่อัตราการจับจ่ายใช้สอยของชาวอเมริกันจะคึกคักมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันมักนิยมมอบของขวัญให้แก่กัน ตลอดจนซื้อหาอาหาร ของตกแต่ง ตลอดจนสินค้าอื่น ๆ เพื่อประกอบการฉลองในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ ร้านค้า ต่างจะต้องตื่นตัวอย่างมาก เพื่อที่จะเตรียมการรับมือกับมหกรรมการจับจ่ายใช้สอยครั้งใหญ่แห่งปีของชาวอเมริกัน

รายงานข่าวประจำสัปดาห์นี้จะอภิปรายถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อของขวัญ ตลอดจนสินค้าอื่น ๆ ของชาวอเมริกันในช่วงหน้าเทศกาลสิ้นปีที่กำลังจะมาถึงนี้ ประกอบด้วย

ความนิยมการซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดียเพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลจากการสำรวจของ Salesforce เว็บไซต์แพลตฟอร์มทางธรุกิจออนไลน์ชื่อดัง ได้ชี้ให้เห็นว่า ลักษณะการซื้อขายที่เรียกว่า “Social Commerce” หรือการซื้อขายที่เบ็ดเสร็จในสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่าสถิติการค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 63 โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปติ๊กต๊อก (Tik Tok) นั้นได้รับความนิยมพุ่งทะยานสูงมาก ซึ่งนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้เป็นต้นมานั้น พบสถิติผู้บริโภคซื้อของผ่านติ๊กต๊อกมากขึ้นถึงร้อยละ 24

เหตุผลที่ทำให้การซื้อขายสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าของขวัญ นั้นเป็นที่นิยมอย่างสูงผ่านสื่อโซเชียลมีเดียนั้น เป็นเพราะว่าคุณประโยชน์ด้านความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และความดึงดูดที่ผู้ใช้แอปติ๊กต๊อกได้รับ กล่าวคือ ความสามารถในการค้นหาและเลือกสินค้าที่ถูกใจผู้บริโภคนั้น สามารถเริ่มต้นค้นหาได้ด้วยคำสั้น ๆ  ที่ผู้บริโภคอาจคิดไว้ในใจอยู่แล้ว หรือในหลายครั้งมาจากการแนะนำโดยอัตโนมัติจากระบบประมวลผลของแอพที่สามารถแนะนำสินค้าที่อาจตรงกับความชอบของผู้บริโภคอยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างมากแก่ผู้บริโภค

ข้อมูลสถิติเชิงประชากรชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันกลุ่มอายุระหว่าง 18 – 34 ปี จำนวนกว่า 1 ใน 3 นั้นซื้อสินค้าผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นประจำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลว่าชาวอเมริกันจำนวนกว่าร้อยละ 55 ที่เป็นผู้ใช้งานแอปติ๊กต๊อก คือกลุ่มคนช่วงอายุเดียวกัน ก็สามารถชี้ให้เห็นได้ว่าชาวอเมริกันกลุ่มนี้ที่ใช้แอปติ๊กต๊อกจะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน

นอกจากนี้ ตัวของแอปติ๊กต๊อกเองก็ยังมีความพยายามที่จะส่งเสริมช่องทางการซื้อขายในแอปของตัวเองให้ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดในช่วง Black Friday หรือวันศุกร์ถัดจากวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งเป็นวันที่ชาวอเมริกันทราบกันดีว่าเป็นวันที่จะมีสุดยอดมหกรรมลด-แลก-แจก-แถม หรือ Sales ครั้งใหญ่ที่สุดของปีของสินค้าแทบทุกชนิด ต่อเนื่องถึงวัน Cyber Monday หรือวันจันทร์ที่ต่อเนื่องจากสุดสัปดาห์วันขอบคุณพระเจ้า เช่นกัน ทางแอปติ๊กต๊อกได้ประกาศว่าจะมีเชิญดาราศิลปินชื่อดังอย่าง Nicki Minaj มาเป็น Host ในกิจกรรมไลฟ์สดขายของผ่านแอปอีกด้วย เพื่อเป็นการช่วยเรียกกระแสความสนใจให้ยิ่งสูงขึ้นไป ทั้งยังได้ออกนโยบายยืดระยะเวลาจำกัดในการคืนสินค้าที่ได้ทำการสั่งซื้อระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน – 2 กุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายและยอดสั่งซื้อในช่วงเทศกาลสิ้นปี / ข้ามปี อีกทางหนึ่งด้วย

“Buy Now, Pay Later”

นอกจากแพลทฟอร์มของสื่อโซเชียลมีเดียแล้วนั้น วิธีการชำระเงินก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อของผู้บริโภคไม่น้อยเช่นกัน โดยวิธีการชำระเงินแบบ “Buy Now, Pay Later” (BNPL) หรือซื้อของก่อนค่อยชำระทีหลัง ได้กลายมาเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นในการซื้อของผ่านออนไลน์ โดยข้อมูลสถิติพบว่าในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามีสถิติค้นหาแพลทฟอร์มซื้อของออนไลนที่สามารถใช้ระบบการชำระเงินแบบดังกล่าวได้นั้น เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 469 และยังพบว่ากลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เป็นผู้ปกครองกว่าร้อยละ 67 ตั้งใจวางแผนที่จะเลือกใช้ระบบการชำระเงินในภายหลังเพื่อลดภาระทางการเงินในช่วงเทศกาลสิ้นปีปีนี้

แพลทฟอร์มผู้ให้บริการระบบซื้อของก่อนค่อยชำระทีหลังที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘Klarna’ กำลังก้าวขึ้นสู่อัตราผู้ใช้บริการสูงสุด โดยมีจำนวนการค้นหาแพลทฟอร์มดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 ในระยะเวลา 5 ปีทีผ่านมา สะท้อนให้เห็นได้ว่าผู้ขายหรือผู้ประกอบการรายใดที่สามารถเสนอทางเลือกการชำระเงินแบบดังกล่าวให้กับลูกค้าของตนได้ ย่อมได้เปรียบกว่าผู้ขายหรือผู้ประกอบการที่ไม่ได้เสนอระบบนี้ให้กับลูกค้าเพื่อดึงดูดใจลูกค้าให้เลือกซื้อสินค้าจากร้านของตนได้มากกว่าของร้านคู่แข่ง ซึ่งถือว่าเป็นการได้เปรียบด้านกลยุทธ์ด้านการขายและการตลาดที่ดีกว่า

“สินค้าปลอม” ได้รับความสนใจมากขึ้น

สินค้าปลอม หรือ ในภาษาอังกฤษเรียกคำย่อว่า ‘Dupe’ ซึ่งหมายถึงกลุ่มสินค้าราคาย่อมเยาที่มีลักษณะคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับสินค้าที่มี “แบรด์” ยี่ห้อและมีราคาแพงกว่าค่อนข้างมาก กำลังดูเหมือนว่าจะเป็นที่นิยมในหมู่ชาวอเมริกันเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากข้อมูลสถิติว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่กว่าร้อยละ 31 และกว่าร้อยละ 50 ในกลุ่มช่วงวัย Gen Z ยอมรับว่าตัวเองซื้อสินค้าปลอมมาใช้ อีกทั้งสถิติการค้นหาสินค้าปลอมยังเพิ่มสูงกว่าร้อยละ 317 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถึงขั้นที่เครือร้านสินค้าแฟชั่นชื่อดังในสหรัฐฯ อย่าง LuluLemon ครั้งหนึ่งยังเคยออกกลยุทธ์ทางการตลาดที่เชื้อเชิญให้ลูกค้าที่มีสินค้าปลอมมาแลกกับสินค้าจริงจากทางร้าน เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงความแตกต่างของคุณภาพสินค้า ทั้งหมดทำให้เห็นได้ว่าความนิยมในการใช้สินค้าปลอมนั้นเป็นอะไรที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การค้าขายผ่านแอปพลิเคชันจากประเทศจีนนั้นกำลังเป็นที่แพร่หลาย

การซื้อสินค้าแบบ Hybrid

แนวโน้มของผู้บริโภคที่แม้จะเข้าไปเลือกชมสินค้าด้วยตัวเองในห้างร้าน ณ ที่ตั้ง แต่สุดท้ายก็กลับมาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทาง (พร้อมการจัดส่ง) ออนไลน์ มาจากการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี ‘Visual Search’ ซึ่งก็คือกลไกการค้นหารายละเอียดของสิ่งของ/สินค้า ผ่านการถ่ายรูป แล้วนำเข้าระบบให้ประมวลผลหารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ในภาพนั้น โดยหากเป็นสินค้าก็จะมีรายละเอียดของสินค้า ตลอดจนการเปรียบเทียบราคาในหลายกรณีขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้อย่างครบถ้วน

แพลทฟอร์มของระบบดังกล่าวที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม ได้แก่ Google Lens ซึ่งในปัจจุบันมีสถิติการใช้งานระบบดังกล่าวประมาณ 2 หมื่นล้านครั้ง / เดือน โดยกลุ่มช่วงวัยที่ใช้มากที่สุดคือช่วงอายุ 18 – 24 ปี หรือวัยรุ่น โดยอาจกล่าวได้ว่าสิ่งนี้คือการที่ผู้บริโภคนั้นเข้าไปในห้างร้านสินค้าต่าง ๆ เพื่อดูสินค้าของจริง แต่แล้วก็จะกลับมาซื้อผ่านออนไลน์มากกว่าที่จะซื้อจากที่ร้านนั้นเอง หรือในอีกนัยหนึ่ง Google Lens อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านการค้นหาสินค้าในร้านจริง ไปสู่การซื้อขายทางออนไลน์มากขึ้นได้เช่นกัน

                  ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: โดยสรุป ผู้บริโภคชาวอเมริกันนั้นกำลังแสวงหาตัวเลือกที่ตอบโจทย์กับตัวเองมากที่สุด ทั้งเรื่องราคา วิธีการชำระเงิน ช่องทางการซื้อขาย และอื่น ๆ ซึ่งทำให้ผู้ขายต่างหากจะเป็นฝ่ายที่ต้องเข้าหาลูกค้า และสร้างข้อเสนอในองค์ประกอบต่าง ๆ ที่น่าดึงดูดให้ตรงกับความต้องการลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยจุดสำคัญที่สุดที่อาจจะเป็นจุดที่วัดกันเลยก็ว่าได้ อาจอยู่ที่ความสามารถในการทำให้สินค้าตัวเองเข้าตาผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการขายกับผู้บริโภคมากขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกข้อเสนอหนึ่งที่คิดว่าควรที่จะนำมาใช้ในการนำเสนอสินค้าในตลาดที่มีการไหลของข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว คือการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นจริงกับผู้บริโภคให้มากที่สุด เพื่อสร้างความไว้วางใจกับผู้บริโภคที่จะกลับมาหาซื้อสินค้าในร้านเดิมในรอบต่อๆ ไป

เชื่อว่าเนื้อหาในรายงานข่าวประจำสัปดาห์นี้จะทำให้ผู้ประกอบการได้ทำความเข้าใจกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกัน และอาจคาดการณ์แนวโน้มของการจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลสิ้นปีที่กำลังจะมาถึงนี้ได้ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธ์ในการทำมาค้าขาย ทั้งช่วงเวลา และช่องทางในการขายสินค้ามายังสหรัฐฯ

ที่มา: Exploding Topics
主题: “5 Holidays Shopping Trends to Define Thanksgiving and Christmas 2024”
โดย: James Martin
สคต. ไมอามี /วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567

zh_CNChinese