Albert Heijn ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ ได้ริเริ่มโครงการใหม่ชื่อว่า “Positive Produce for People and Planet Program” โดยจะทำงานร่วมกับ Supplier ผู้จัดหาผลิตผลทางการเกษตรระดับนานาชาติ โดยเฉพาะผักและผลไม้ โครงการนี้มุ่งเน้นการสร้างห่วงโซ่ผลิตผลทางการเกษตรที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม โดยมีผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม มาตรฐานใหม่จะมีพื้นฐานจากมาตรฐานการเกษตรที่ยั่งยืน มาตรฐานทางสังคม และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่าข้อกำหนดและเงื่อนไขการรับรองมาตรฐานทั่วไป
โครงการนี้จะช่วยให้ Albert Heijn ก้าวไปสู่การสร้างห่วงโซ่การผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้ ที่ยั่งยืนและมีจริยธรรมมากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวมีแนวทางและวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับ “สิ่งแวดล้อม” และ “ผู้คน” ซึ่งรวมถึงการจ่ายค่าตอบแทน สภาพและเงื่อนไขการจ้างงาน การส่งเสริมความเท่าเทียม และสภาพความเป็นอยู่ของผู้ที่ทำงานในบริษัทและเกษตรกรที่ Albert Heijn ซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากพวกเขา ปัญหาการเสื่อมสภาพของดิน การใช้น้ำ การใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง และการตัดไม้ทำลายป่า โดยประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดขึ้นร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกแห่งเนเธอร์แลนด์ (WWF-NL)
นอกจากนี้ Albert Heijn ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ โดยแนวคิดนี้จะมุ่งเน้นการลดขยะ โดยเฉพาะขยะอาหาร และของเสียให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่และให้นานที่สุด หลักการสำคัญคือการเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงที่ใช้แล้วทิ้งให้เป็นระบบปิดที่ทรัพยากรหมุนเวียนอยู่ในระบบ ตัวอย่างเช่น การนำขยะอาหารไปใช้เป็นปุ๋ย หรือการนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตอย่างหนึ่งไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกอย่างหนึ่ง ในกรณีของ Albert Heijn จะเป็นการดำเนินการในด้านการลดขยะอาหาร โดยปัจจุบันสินค้าในกลุ่ม AH มากกว่า 50 รายการเป็นสินค้าแบบหมุนเวียนบางส่วน ด้วยความร่วมมือกับ Supplier อย่างใกล้ชิด ทำให้ขยะหรือของเสียจากกระบวนการผลิตอาหารบางส่วนสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่นๆ ซึ่งเป็นการมอบชีวิตใหม่ให้กับของเหลือทิ้ง การช่วยลดปริมาณขยะอาหาร และการส่งเสริมความยั่งยืน
บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.
โครงการ Positive Produce for People and Planet ของ Albert Heijn สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและจริยธรรมในห่วงโซ่อุปทานอาหารมากขึ้น สิ่งนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายสำหรับเกษตรกรไทยและผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนการผลิต การปรับปรุงกระบวนการผลิต การจัดการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเรื่องการจ้างแรงงาน ซึ่งหากผู้ส่งออกผักและผลไม้ของไทยต้องการส่งออกสินค้าและวางจำหน่ายใน Albert Heijn ก็จะต้องปรับตัวและปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น
สำหรับการปรับตัวและการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ที่ Albert Heijn กำหนด ผู้ส่งออกอาจจะต้องลงทุนในเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่มีความยั่งยืนมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการน้ำ การไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง การใช้ปุ๋ยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจ่ายค่าตอบแทนและการดูแลสวัสดิภาพของแรงงาน หากปฏิบัติได้ก็จะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น รวมถึงจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรของไทย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก
海牙国际贸易促进办公室