เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน และ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ร่วมกับ บริษัท Xiamen Mifeng C&O Trading จำกัด ผู้นำเข้าข้าวไทยในเมืองเซี่ยเหมิน ยี่ห้อ กระต่ายทอง (Golden Rabbit) ได้จัดกิจกรรมตอบแทนสังคม และเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีการสถาปนา ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ตลอดจนประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทย

โดยผู้นำเข้าบริษัท Xiamen Mifeng C&O Trading จำกัด บริจาคข้าวหอมมะลิบรรจุถุงจากไทยคุณภาพพรีเมียม ขนาด 5 กิโลกรัม จำนวน 2,000 ถุง รวมเป็น จำนวน 10 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 หยวน ให้กับมูลนิธิการกุศลวัดหนานผู่โถว เมืองเซี่ยเหมิน เพื่อนำไปส่งต่อให้กับผู้ขาดโอกาส ตลอดจนอวยพรเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง แก่กลุ่มผู้ยากไร้ในเมืองเซี่ยเหมินและเมืองใกล้เคียง อันเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จัก ทดลองรับประทาน รวมถึงประชาสัมพันธ์ข้อมูลวิธีการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงบรรจุถุงจากประเทศไทย ทั้งนี้ ในงานดังกล่าวได้มีกลุ่มผู้รับบริจาคจากชุมชนใกล้เคียงประมาณ 150 คน นอกจากนี้ จำนวนที่เหลือบริษัทฯ ได้จัดส่งกระจายไปยังเครือข่ายที่ต้องการในเมืองใกล้เคียงของทางมูลนิธิวัดหนานผู่โถว

ข้าวหอมมะลิไทยใจดี สร้างรอยยิ้มให้ชาวเซี่ยเหมิน

 

 

บริษัท Xiamen Mifeng C&O Trading จำกัด ได้นำเข้าข้าวหอมมะลิบรรจุถุงสำเร็จจากประเทศไทย โดยไม่มีการนำมาบรรจุใหม่ในประเทศจีนมากว่า 30 ปี โดย Mr. Guo ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ กล่าวว่า ในปี2024 มีปริมาณการนำเข้าข้าวหอมมะลิคงที่ อยู่ที่ 6000 ตัน โดยได้นำเข้าข้าวหอมมะลิเก็บเกี่ยวฤดูกาลใหม่มากกว่า 1000  ตัน และมีการกล่าวถึงสถานการณ์ของข้าวหอมมะลิไทยนำเข้าในช่วงที่ผ่านมาว่า ถึงแม้การเพาะปลูกจะทำได้ดีในปี 2024 แต่ราคานำเข้าข้าวหอมมะลิเก็บเกี่ยวฤดูกาลใหม่เพิ่มสูงขึ้นถึง 20% รวมไปถึงราคาซื้อข้าวหอมมะลิ ค่าขนส่งทางทะเล มีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

นอกจากนี้ ความท้าทายสำหรับข้าวไทยในตลาดจีนที่ยังคงมีอยู่คือข้าวไทยบาร์โค้ด 69 กล่าวคือเป็นข้าวที่มีการนำมาบรรจุถุงใหม่ในประเทศจีน  เข้ามากินสัดส่วนข้าวหอมมะลิไทยบาร์โค้ด 855 ซึ่งเป็นข้าวที่แหล่งนำเข้าจากประเทศไทย มีการบรรจุถุงสำเร็จจากไทยโดยไม่มีการนำมาผสมกับข้าวอื่นใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นปัญหาภายในตลาดประเทศจีนมากว่า10ปี มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการลดต้นทุนและทำกำไรมากขึ้น ทำให้ผู้ค้าชาวจีนจำนวนมากทำการสอดไส้บรรจุข้าวไทยธรรมดาและข้าวหอมมะลิผสมเข้าด้วยกัน

 

ด้านนางสาวนันท์นภัส งามแม้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมินได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยทางสคต. และ สกญ. ณ เมืองเซี่ยเหมิน ร่วมกับทางบริษัท Xiamen Mifeng C&O Trading จำกัด มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นสะพานเชื่อมโยงมิตรภาพระหว่างไทยจีน ด้วยความปรารถนาดีที่จริงใจ มอบสินค้าดีมีคุณภาพให้แก่พี่น้องชาวเมืองเซี่ยเหมิน สร้างความเชื่อมั่นและสร้างการรับรู้ข้าวหอมมะลิไทยต่อสาธารณะ รวมไปถึงแบ่งปัน แนะนำวิธีการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยแท้คุณภาพสูงบรรจุถุงจากไทย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคที่เลือกซื้อข้าวหอมมะลิ จะได้รับประทานข้าวหอมมะลิไทยแท้ คุณภาพสูงจากประเทศไทย โดยได้แนะนำตราสัญลักษณ์รวงข้าวสีเขียว จากกรมการค้าต่างประเทศ และวิธีการดูบาร์โค้ดของสินค้า เป็นต้น ทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้รู้จักวิธีเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สคต. ยังได้ประชาสัมพันธ์วิธีการเลือกข้าวมะลิไทยแท้ ที่มีการบรรจุถุงจากประเทศไทย ผ่านช่องทางวีเชทบัญชีทางการสำนักงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมมือกับซูเปอร์มาร์เก็ตแนะนำข้าวหอมมะลิไทยในช่วงกิจกรรมส่งเสริมการขาย และในทุกเวทีที่มีโอกาส เพื่อให้มั่นใจในการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิคุณภาพของไทย

 

ข้าวหอมมะลิไทยใจดี สร้างรอยยิ้มให้ชาวเซี่ยเหมิน

 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติประมวลโดย Global Trade Atlas ระบุว่า ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. ปี 2567 จีนนำเข้าข้าว (HS Code 1006 : Rice) รวมทั้งสิ้น 1.25 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 47.31 YoY)  มีมูลค่า 701,055.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 44.27 YoY) โดยจีนนำเข้าข้าวสูงสุดจากประเทศเมียนมาร์ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.60 ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน) รองลงมาคือประเทศไทย (29.82%) และเวียดนาม (21.92%) ตามลำดับ ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 2 มีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 317,275.61 ตัน (ลดลงร้อยละ 10.19 YoY) คิดเป็นมูลค่า 209.07 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 3.28 YoY ) คิดเป็นร้อยละ 29.82 ของมูลค่าการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน ทั้งนี้ มณฑลกว่างตงมีการนำเข้าข้าวจากไทยปริมาณมากที่สุด (คิดเป็น 68.68% ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมด) รองลงมาคือกรุงปักกิ่ง (8.06%) มณฑลฝูเจี้ยน (5.22%) มณฑลกว่างซี (3.32%)และ มณฑลหูเป่ย (2.25%) ตามลำดับ

 

 

 

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน: การจัดกิจกรรมบริจาคข้าว นอกจากเป็นกิจกรรมตอบแทนสังคม ยังเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของข้าวไทยไปยังพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยรู้จักข้าวไทย ตามยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เจาะตลาดเมืองรอง ส่งเสริมการรับรู้ด้านข้าวไทยในวงกว้าง นับเป็นโอกาสในการขยายช่องทางการกระจายสินค้าข้าวของไทย รวมถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญ และยังเป็นการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงจากไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

Global Trade Atlas

      เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

10 มกราคม 2568

zh_CNChinese