เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอาหารที่น่าจับตาในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอาหารที่น่าจับตาในแคนาดา

ในปี 2565 ธุรกิจบริการอาหาร (Food Service) ในแคนาดามีมูลค่า 94.19 พันล้านเหรียญสหรัฐ (3.2 ล้านล้านบาท) โดยร้านอาหารในเกือบทุกแบบตั้งแต่ ร้านอาหารจานด่วน (Quick Service) ร้านนั่งรับประทาน Full-Service Restaurant) ธุรกิจรับจัดเลี้ยง (Catering Service) รวมถึงธุรกิจบาร์ มียอดจำหน่ายเทียบเท่ากับก่อนวิกฤตโควิดแล้ว โดยคาดว่าตลาดอุตสาหกรรม Food Service ในแคนาดาจะมีอัตราขยายตัวที่ระดับร้อยละ 4.55 ในปี 2566 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้สรุปเทรนด์สินค้าอาหารหรือเมนูอาหารที่น่าจับตา ดังนี้

  1. อาหาร Nostalgia เป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคนึกถึงเมนูที่คุ้นเคยหรือโหยหาถึงอดีต โดยทุกวันนี้ ผู้ผลิตอาหารหรือร้านอาหารได้นำเมนูดั้งเดิมมาดัดแปลงหรือเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า อาทิ เมนู Mac-N-Cheese ที่ใส่กุ้งล็อบสเตอร์ ซึ่ง Mac-N-Cheese เป็นเส้นมักกะโรนีใส่ซอสชีสที่เด็กส่วนใหญ่ในแคนาดานิยมรับประทาน โดยเป็นอาหารง่ายๆ ที่สะดวกในการปรุง นักการตลาดได้นำไอเดียของ Nostalgia Marketing ที่นำอาหารเมนูเก่ามาย้อนยุค โดยนำกุ้งล็อบสเตอร์ที่มีราคาแพงมาใส่ในเมนู Mac-N-Cheese เพิ่มคุณค่า เป็นการเพิ่มมูลค่าของ Mac-N-Cheese ขยายโอกาสตลาด ไม่เพียงสำหรับเจาะตลาดเด็กแต่ยังเข้าถึงตลาดกลุ่มผู้ใหญ่รายได้สูงอีกด้วย เป็นการสร้างความรู้สึก ประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคระลึกถึงความหลังเก่าๆ จากการบริโภคสินค้าในอดีต โดยนักวิเคราะห์มองว่าสินค้าอาหาร Nostalgia กำลังกลับมานิยมอีกครั้งในปี 2566 ได้แก่ Mac-N-Cheese ไก่ทอด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมายอดจำหน่ายสินค้าไก่ทอดลดลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารทอด แต่ปัจจุบันได้เริ่มกลับมานิยมอีกครั้ง) Meatloaf Hot Honey (การใช้น้ำผึ้งมาเป็นซอสปรุงอาหาร) Onion Jam (แยมผลไม้ที่ผลิตจากหัวหอม) Hand Pies (พายขนาดเล็ก) รวมถึงโดนัท ที่ได้มีการนำสินค้ามาย้อนยุค ปรับใหม่ อาทิ Gluten Free Donut ที่ผลิตจากแป้งมันฝรั่ง แป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง
  2. อาหารรสเผ็ดร้อน ทุกวันนี้ผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่ม Millennials และกลุ่ม Gen Z นิยมอาหารที่มีรสเผ็ดจัดจ้านมากขึ้น อยากทดลองและเปิดรับรสชาติอาหารใหม่ โดยอาหารรสเผ็ดได้กลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยม ผู้บริโภคต้องการทดลองหรือเรียนรู้กับสายพันธุ์พริกใหม่ๆ ที่มีรสชาติและความซับซ้อนของรสชาติ (Complexity) ที่แตกต่างกันของพริกแต่ละชนิดจากทั่วโลก ถ้าสังเกตผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว (Snack) ใหม่ๆ ที่ออกมาในท้องตลาดทุกวันนี้จะพบว่า สินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีการเพิ่มรสเผ็ด (Spicy Flavour) เป็นทางเลือกของสินค้ามากขึ้น ที่อาจรวมถึงการระบุถึงระดับความเผ็ดของสินค้า อาทิ Mild Hot Level หรือ Extra Hot Level ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน
  3. เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ถึงแม้ว่าช่วงโควิดยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแคนาดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 แต่นักวิเคราะห์ได้สังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่คนส่วนใหญ่หันมาห่วงใยสุขภาพมากขึ้น โดยหันมานิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำหรือไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ ทำให้ยอดจำหน่ายของประเภทเครื่องดื่ม Mocktail Kombucha เครื่องดื่มที่ส่วนผสมน้ำส้มสายชู (Vinegar) ที่เกิดจากหมักดอง เริ่มเป็นที่นิยมและกลายเป็นสินค้าหลัก (Mainstream Product) มากขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มประเภท Probiotic Prebiotics หรือ Botanical Beverage ที่เทรนด์ของการห่วงใยสุขภาพได้ขยายไปยังตลาดเครื่องดื่มที่ผู้บริโภค ต้องการทางเลือกของสินค้าสุขภาพมากขึ้น

เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอาหารที่น่าจับตาในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)      เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอาหารที่น่าจับตาในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอาหารที่น่าจับตาในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

เครื่องดื่ม Mocktail Kombucha

เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอาหารที่น่าจับตาในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

เครื่องดื่ม Botanical Beverage

เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอาหารที่น่าจับตาในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

เครื่องดื่ม Prebiotics Drink

ความเห็น

ผู้บริโภคแคนาดาในทุกวันนี้มีรสนิยมที่เปิดรับสินค้าอาหารใหม่ๆ เมนูที่มีการผสมผสานกับวัตถุดิบเก่าใหม่เป็นเมนูดัดแปลงที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการเปิดรับรสชาติอาหารใหม่ๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนมากขึ้น ชอบความท้าทายของรสชาติอาหารใหม่ๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคในแคนาดาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ และมีความซับซ้อนของความต้องการสินค้ามากขึ้น ทำให้เกิดโอกาสสำหรับการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ทางเลือกใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งสินค้าเครื่องดื่มน้ำสมุนไพรไทยน่าจะมีโอกาส หากมีการทำการตลาดควบคู่ไปกับการเผยแพร่ความรู้คุณสมบัติของสมุนไพรไทย ให้เป็นรู้จักและยอมรับมากขึ้น จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กลุ่มสินค้าสมุนไพรไทยได้มากในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องการทำขนมขบเคี้ยวรสเผ็ด ซึ่งมีศักยภาพสูงในตลาดแคนาดาด้วย

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร.1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

zh_CNChinese