ในปีที่ผ่านมา พบว่า กว่า 59.4% ของความถี่ในการชำระเงินของผู้บริโภคชาวเยอรมันยังคงใช้เงินสดอยู่ และจากรายงานของสถาบันวิจัยค้าปลีก (EHI – EHI Retail Institute e. V.) ปรากฏว่า ในปี 2021 สัดส่วนของความถี่การใช้เงินสดของผู้บริโภคเยอรมันอยู่ที่ 60.9% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้เพื่อการชำระหนี้ราคาถูก ต่อมาเมื่อสินค้ามีราคาเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็หันมาเริ่มใช้บัตร EC (คล้ายกับบัตรเดบิตโดยจะหักเงินจากบัญชีเงินฝากโดยตรง) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากยอดขายเป็นหลักแล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ใช้บัตรเป็นหลัก โดยใช้เงินสดอยู่ที่ประมาณ 37.5% ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับในปี 2022 สัดส่วนของการชำระหนี้ด้วยบัตรเทียบกับยอดขายอยู่ที่ 60% หรือเพิ่มขึ้น 1% โดยประมาณ ซึ่งตัวเลขสถิติของ EHI ดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า เทรนด์การชำระเงินด้วยบัตรของผู้บริโภคชาวเยอรมันยังคงขยายตัว แม้จะเป็นไปค่อนข้างช้ามาก สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการชำระเงินต่าง ๆ ด้วยการใช้บัตรเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งร้านค้าจำนวนมากต้องการที่จะลดความเสี่ยงจากการสัมผัส จึงขอความร่วมมือให้ลูกค้าชำระเงินด้วยวิธีที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสนั่นเอง และจากแบบสอบถามของธนาคารกลางยุโรป ทำให้ทราบว่า พฤติกรรมการชำระหนี้ด้วยเงินสดของผู้บริโภคชาวเยอรมันนั้นสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (Euro Zone) ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 59% เช่นกัน เมื่อสามปีที่แล้วอยู่ที่ 72% และ 6 ปีที่แล้วอยู่ที่ 79% มีเพียง 6 ประเทศของ Euro Zone ที่ผู้บริโภคใช้เงินสดบ่อยกว่าเยอรมนี
จากข้อมูลแบบสอบถามรายปีของ EHI ที่รวบรวมข้อมูลจากการสอบถามร้านค้าปลีกกว่า 400 ร้าน ซึ่งมียอดจำหน่ายรวมกันกว่า 294 พันล้านยูโร พบว่า การชำระหนี้ของผู้บริโภคชาวเยอรมันส่วนใหญ่เป็นการใช้งานบัตร Girocard หรือที่รู้จักในภาษาชาวบ้านว่าบัตร EC ซึ่งในปี 2022 กว่า 42% ของยอดจำหน่ายในร้านค้าปลีกเป็นการชำระผ่านบัตร Girocard แม้ว่าสัดส่วนการใช้บัตร Girocard เทียบกับยอดจำหน่ายแล้วจะเพิ่มขึ้น แต่ความถี่ในการใช้งานบัตร Girocard กลับลดลง โดย Girocard เป็นระบบการชำระเงินที่สำคัญของของอุตสาหกรรมการธนาคารของเยอรมัน อาทิ ธนาคาร Sparkassen, Volksbanken, Deutsche Bank และ Commerzbank ต่างก็ทำบัตร Girocard ให้กับลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากธรรมดา (Girokonto) กับธนาคาร อย่างไรก็ตาม สำหรับคู่แข่งของธนาคารจากต่างประเทศและบริษัท Fin-Start-ups อาทิ ธนาคาร ING, Targobank, Santander และ N26 ต่างก็มอบบัตรเดบิตที่ใช้ระบบชำระเงินจากอเมริกาอย่าง Mastercard และ Visa มากขึ้น โดยจากข้อมูลของ EHI พบว่า สัดส่วนการใช้งานบัตรเดบิตขยายตัวจาก 0.8% เป็น 2.9% เฉพาะ Visa เพียงอย่างเดียวก็ได้มอบบัตรเดบิตให้กับผู้บริโภคชาวเยอรมันมากถึง 14 ล้านใบ สำหรับบัตร Girocard นั้นมีมากกว่า 100 ล้านใบในประเทศ นอกจากนี้ การชำระหนี้ผ่าน Smart Phone อย่าง Apple Pay และ Google Pay ยังเป็นข้อยกเว้น ตัวเลขของ EHI แสดงให้เห็นว่า มีการผูกการชำระหนี้ผ่าน Smart Phone ไว้กับบัตรต่าง ๆ เพียง 5.4% เมื่อการชำระเงินด้วยบัตรมีสัดส่วนน้อยกว่า 40% ของธุรกรรมทั้งหมด การชำระเงินผ่าน Smart Phone จึงคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2 % ของธุรกรรมการชำระเงินทั้งหมด จากการสำรวจที่จัดทำโดยบริษัทตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษา PwC ทำให้เห็นว่า สิ้นปี 2022 มีชาวเยอรมันเพียง 8% เท่านั้นที่ชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าผ่าน Smart Phone ซึ่งเป็นการลดตัวลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2020
จาก Handelsblatt 2 มิถุนายน 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)